เนื้อหาวันที่ : 2011-08-29 17:52:56 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 955 views

ภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 22-26 ส.ค. 2554

เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปี 54 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวในอัตราชะลอลงจากไตรมาสที่ 1 ปี 54 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 และเมื่อพิจารณาผลของฤดูกาลออก (QoQ_SA) พบว่าหดตัวร้อยละ -0.2 โดยเป็นการชะลอลงในด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการผลิตลดลงจากผลกระทบจากของภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น

อย่างไรก็ดีในด้านอุปสงค์ พบว่ายังขยายตัวได้ดี ทั้งการส่งออกและบริการ การบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวรอ้ยละ 19.0 2.8 และ 8.6 ตามลำดับ ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในช่วง 6 เดือนแรกปี 54 ขยายตัวร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือน ก.ค. 54 สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้นจำนวน 143.0 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือน ก.ค. 54 มีการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณจำนวน 138.4 พันล้านบาท แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำจำนวน 120.3 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -3.6

(2) รายจ่ายลงทุนจำนวน 18.1 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 76.2 ทั้งนี้ การเบิกจ่ายสะสมในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 54 สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้นจำนวน 1,840.9 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 24.3 ประกอบด้วยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีจำนวน 1,730.4 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 28.9 หรือคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 79.7 ของกรอบวงเงิน 2.16 ล้านล้านบาท

ขณะที่รายจ่ายประจำเบิกจ่ายได้จำนวน 1,521.9 พันล้านบาท และรายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายได้จำนวน 208.5 พันล้านบาท นอกจากนี้  ผลการเบิกจ่ายแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ณ วันที่ 19 ส.ค. 54 สามารถเบิกจ่ายสะสมได้ทั้งสิ้นจำนวน 288.2 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายสะสมร้อยละ 82.4 ของกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติจำนวน 350.0 พันล้านบาท

จากการวิเคราะห์ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ก.ค. 54  พบว่า ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -41.4 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุลจำนวน 10.9 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (ก่อนกู้) ขาดดุลจำนวน -30.5 พันล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 8.0 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดหลังการกู้เงินขาดดุลจำนวน -22.5 พันล้านบาท

สำหรับฐานะการคลังในช่วง 9 เดือน ของปีงบประมาณ 54 ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -348.5 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุลจำนวน 55.2 พันล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสด (หลังกู้) จำนวน -146.5 พันล้านบาท ส่งผลให้ปริมาณเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ก.ค. 54 มีจำนวน 278.5 พันล้านบาท

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน มิ.ย.54 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,263.4พันล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 15.9 พันล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ 40.69 ของ GDP  ทั้งนี้ การลดลงของหนี้สาธารณะที่สำคัญเกิดจากหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงลดลงสุทธิ 16.3 พันล้านบาท สะท้อนว่าสถานะหนี้สาธารณะของไทยมีความมั่นคง เนื่องจากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง