เนื้อหาวันที่ : 2011-08-29 11:14:26 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1227 views

นายกขอแรงภาคอุตฯ ร่วมขับเคลื่อนโยบายรัฐ

ยิ่งลักษณ์ มอบนโยบายสภาอุตฯ วอนขอแรงหนุนนโยบายรัฐ ร่วมสร้างรากฐานอุตฯ ไทย ย้ำพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะและทำงานร่วมกัน

ยิ่งลักษณ์ มอบนโยบายสภาอุตฯ วอนขอแรงหนุนนโยบายรัฐ ร่วมสร้างรากฐานอุตฯ ไทย ย้ำพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะและทำงานร่วมกัน

นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายคณะกรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมฯ ขอความร่วมมือสนับสนุนขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพื่อสร้างรากฐานอุตสาหกรรมไทยให้แข็งแรง ระบุพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะเพื่อหาแนวทางให้การสนับสนุน-หาทางออกของปัญหาร่วมกัน 

เมื่อวันที่ 26 ส.ค.54 ที่ผ่านมา นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นำคณะกรรมการบริหาร ส.อ.ท. เข้าเยี่ยมคารวะนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอรับทราบนโยบายการทำงานและแสดงความยินดีที่นายกรัฐมนตรีได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีนางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมด้วย

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าวรายงานโดยสรุปว่า ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการบริหาร ส.อ.ท. จึงขอแสดงความยินดีกับนายกรัฐมนตรีพร้อมกับขอรับทราบนโยบายแนวทางการทำงานร่วมกับภาคเอกชน

และเรียนเชิญนายกรัฐมนตรีทำงานร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชนในเวทีของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือ ก.ร.อ. เพื่อประโยชน์ในการทำงานร่วมกัน โดยหาก ก.ร.อ. ได้มีการประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องก็จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาที่หน่วยงานปกติไม่สามารถแก้ไขได้ ทั้งจะช่วยให้การแก้ไขปัญหานั้นเป็นไปอย่างรวดเร็วและเกิดพลังที่ดีต่อการแก้ไขปัญหา

ทั้งนี้ ส.อ.ท. ขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ซึ่งเป็นผู้ประกอบการคนไทยเป็นส่วนใหญ่ที่เป็นรากฐานเศรษฐกิจสำคัญของประเทศด้วย พร้อมกันนี้ คณะกรรมการบริหาร ส.อ.ท. จะขอถือโอกาสเรียนเชิญนายกรัฐมนตรีและทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ได้ให้เกียรติเยี่ยมเยียนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจะขอนำเสนอยุทธศาสตร์ของทางภาคเอกชน รวมทั้งข้อคิดเห็น ปัญหาเร่งด่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณคณะกรรมการบริหาร ส.อ.ท. ที่ได้มาในวันนี้ พร้อมกล่าวว่า ภาคประกอบการธุรกิจเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีก็เป็นผู้ที่มาจากภาคธุรกิจ มีความเข้าใจหัวอกและความรู้สึกของภาคธุรกิจดี โดยนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาจะเป็นกรอบโครงของการทำงาน

ซึ่งในการทำงานจริง ๆ จะต้องขอหารือกับทาง ส.อ.ท. เพราะอยากเห็นการทำงานแบบใกล้ชิด รัฐบาลยินดีรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนวทาง เพราะเชื่อว่าทางออกต่าง ๆ จะมาจาก ส.อ.ท. ด้วย และขอฝากให้ ส.อ.ท. ช่วยขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาล ซึ่งเป้าหมายภาพใหญ่ของนโยบายในภาคอุตสาหกรรม-ภาคธุรกิจที่รัฐบาลอยากเห็นคือการสร้างรากฐานอุตสาหกรรมของไทยให้แข็งแรง มีการวางแผนระยะยาว โดยเฉพาะการส่งเสริมในส่วนที่ก่อให้เกิดผลผลิตต่าง ๆ ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติวันนี้ ก็ได้บอกกับที่ประชุมว่ายังอยากเห็นในเรื่องการที่อุตสาหกรรมต่าง ๆ จะไปเสริมต่อกับเรื่องพลังงานด้วย ซึ่งจะต้องมีการบูรณาการร่วมกันในภาพใหญ่อีกครั้ง จึงขอความร่วมมือและแรงสนับสนุนจาก ส.อ.ท. ในการขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลด้วย

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในฐานะที่นายกรัฐมนตรีเคยทำงานภาคเอกชนมาก่อนก็ทราบว่า เมื่อรัฐบาลประกาศนโยบายไป ถ้าไม่มีการหารือกัน ผู้รับปลายทางก็อาจเกิดความเข้าใจไม่ตรงกันและไม่รู้ผลกระทบข้างเคียงที่เกิดขึ้น จึงอยากเห็นการทำงานแบบสองทางที่จะมีการสะท้อนกลับต่าง ๆ ถ้าทาง ส.อ.ท. มีข้อเสนอแนะหรือทางออกใด ๆ รัฐบาลยินดีรับฟัง

โดยหากมีช่วงเวลาที่เหมาะสมสามารถบรรจุวาระการเยี่ยม ส.อ.ท. ได้ก็จะขอรับไปดูอีกครั้ง อย่างไรก็ดี ขอฝาก ส.อ.ท. ช่วยสื่อสารกับองค์กรภาคเอกชนในเรื่องเจตนารมณ์ของรัฐบาลด้วย เพราะนโยบายบางอย่างอาจจะไม่ถูกใจทั้งหมด อาจจะต้องมีการประคับประคองกัน แต่เชื่อมั่นว่าถ้ามีการประคับประคองให้ดีและผลักดัน สุดท้ายเป้าหมายที่เราอยากเห็นคือเศรษฐกิจประเทศไทยจะเติบโต ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของรัฐบาล

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเรื่องการดูแลผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ว่า ขอให้ทาง ส.อ.ท. ได้ช่วยนำเสนอข้อมูลปัญหาของแต่ละภาคอุตสาหกรรมในส่วนของ SMEs ที่ประสบอยู่มายังรัฐบาล ให้ภาครัฐได้ทำความเข้าใจกับปัญหาจริง ๆ ของ SMEs เพื่อหาแนวทางให้การสนับสนุนและหาทางออกของปัญหาร่วมกัน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเรื่องที่จะขอหารือและขอการสนับสนุนจากทาง ส.อ.ท. คือเรื่องค่าแรงงาน 300 บาทต่อวัน กับผู้จบปริญญาตรี 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีจะได้ไปหารือกับทาง ส.อ.ท.

ทั้งนี้ รัฐบาลมีความเข้าใจในเรื่องของผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ไม่อยากเห็นการขึ้นเฉย ๆ แต่อยากเห็นการพัฒนาฝีมือแรงงานคุณภาพควบคู่กันไปเพื่อให้มีความสมดุล โดยเฉพาะในแรงงานภาคการบริการที่มีอยู่มากและเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ