เนื้อหาวันที่ : 2011-08-26 10:50:45 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3295 views

ล็อกซเล่ย์เตรียมเปิดโซลาร์ฟาร์ม 8 เมกกะวัตต์

ล็อกซเล่ย์รุกขยายธุรกิจพลังงานทดแทนเต็มกำลัง เตรียมเปิดโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่มากกว่า 8 เมกกะวัตต์ ก่อนสานต่อพัฒนาพลังงานจากสาหร่าย ขยะ และลม

นายธง ชัย ล่ำซำ
กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน)

          ล็อกซเล่ย์ขยายธุรกิจมุ่งด้านพลังงานทดแทน ล่าสุดเตรียมเปิดโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่มากกว่า 8 เมกกะวัตต์ ก่อนสานต่อพัฒนาพลังงานจากสาหร่าย ขยะ และลม พร้อมวางตัวเป็นผู้ให้บริการแบบครบวงจร (Solution Provider) ในการออกแบบและติดตั้งระบบพลังงานทดแทนให้ลูกค้า

          นายธง ชัย ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีนโยบายการดำเนินธุรกิจมุ่งไปในด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งสอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 เรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปีของกระทรวงพลังงาน ที่มุ่งให้ประเทศไทยใช้พลังงานทดแทนเป็นพลังงานสำคัญแทนการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ

ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่บริษัทฯ จะบุกเบิกธุรกิจด้านพลังงานทดแทน ซึ่งนอกจากจะวางตัวเองเป็นผู้ผลิตพลังงานทดแทนเองแล้ว บริษัทฯ จะเป็นผู้ให้บริการแบบครบวงจร (Solution Provider) ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาเทคโนโลยีที่เหมาะสม แหล่งเงินทุน รวมถึงการเป็นผู้รับเหมาในการออกแบบและติดตั้งระบบด้านพลังงานทดแทน (EPC Contractor: Engineering Procuring and Construction Contractor) ให้กับลูกค้าอีกด้วย

          “จุดแข็งของล็อกซเล่ย์ คือ มีพันธมิตรทางธุรกิจที่เข้มแข็ง และเป็นเจ้าของเทคโนโลยีทันสมัยทั้งในและต่างประเทศ ขณะเดียวกันล็อกซเล่ย์ก็มีผู้เชี่ยวชาญและองค์ความรู้เป็นของตนเองที่จะช่วยสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยด้านพลังงานทดแทนมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้เป็นอย่างดี โดยเราจะนำโครงการที่สร้างเสร็จแล้วเป็นต้นแบบในการต่อยอดไปสู่การเป็นผู้ให้บริการออกแบบและติดตั้งระบบให้กับลูกค้าที่ต้องการดำเนินงานด้านพลังงานทดแทน” นายธงชัย กล่าว

          กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ล็อกซเล่ย์ กล่าวอีกว่า บริษัทฯ ได้ติดตามและศึกษาเรื่องพลังงานทดแทนอย่างจริงจังมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ บริษัทฯ ได้ร่วมกับกระทรวงพลังงาน บมจ.บางจากฯ และบมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ ในการบุกเบิกพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเชื้อเพลิงจากสาหร่าย โดยอาศัยเทคโนโลยีจากประเทศออสเตรเลีย และความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยเจมส์ คุก ขณะนี้กำลังจะเริ่มดำเนินการในเฟสแรกบนพื้นที่ของโรงไฟฟ้าราชบุรีฯ ในการเพาะเลี้ยงสาหร่าย โดยนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากปล่องโรงไฟฟ้ามาใช้เลี้ยงสาหร่าย

จากนั้นจึงเก็บเกี่ยวผลผลิตมาเข้ากระบวนการสกัดเป็นน้ำมันไบโอดีเซล ส่วนเฟสต่อไปภายในปี 2555 มีแผนจะขยายการเพาะเลี้ยงสาหร่ายเพิ่มขึ้น คาดว่าจะสามารถผลิตน้ำมันไบโอดีเซลได้ 30,000 ลิตร/วัน ภายในปี 2556 นอกจากนี้ กากของสาหร่ายที่เหลือจากการสกัดน้ำมัน ยังสามารถนำมาผลิตเป็นอาหารสัตว์ที่มีโปรตีนสูงเพื่อจำหน่ายได้อีกด้วย

          ในส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์นั้น บริษัทฯ จับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ 3 ราย ได้แก่ หลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟ ซี จำกัด (มหาชน) บริษัท ลีโอนิคส์ จำกัด บริษัท และกลุ่มของ พันเอก ดร.ประเสริฐ ชูแสง ทุ่มทุนเกือบพันล้านบาทในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ในประเทศไทยแห่งแรก (โรงไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ประเภท VSPP: Very Small Power Producer) เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศที่พุ่งสูงขึ้น คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายปีนี้ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 8.67 เมกะวัตต์ ใช้พื้นที่กว่า 200 ไร่ และติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จำนวน 86,688 แผง ที่อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ดำเนินงานภายใต้บริษัท แอล โซลาร์ 1 จำกัด

นอกจากนี้ยังมีแผนสร้างศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงานทดแทนภายในบริเวณโซลาร์ฟาร์ม เพื่อเป็นแหล่งให้ความรู้ด้านพลังงานทดแทนแก่นักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่วไปได้เข้ามาทัศนศึกษา โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันชั้นนำต่างๆ เช่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นต้น

          “พลังงานทดแทนอีกรูปแบบที่ล็อกซเล่ย์ ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก คือ การผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะ โดยใช้เทคโนโลยีการหมักขยะแบบใหม่ล่าสุดจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งให้ปริมาณของก๊าซชีวภาพได้มากกว่าเทคโนโลยีดั้งเดิม และนำก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้มาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งกำลังเริ่มดำเนินการทดลองแล้วในระดับโครงการนำร่อง นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมอีกด้วย” นายธงชัย กล่าว