เนื้อหาวันที่ : 2007-04-04 17:21:25 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 898 views

รัฐบาล"พอเพียง" ทำเศรษฐกิจดิ่งเหว คลัง เบรกโขก แวต 10%

การต่ออายุคงแวตไว้ที่ 7% ออกไปอีกเพียง 1 ปี ของรัฐบาล "พอเพียง" หลังกรมสรรพากรเก็บภาษีต่ำกว่าเป้า 4 พันล้านบาท สาเหตุปัญหาการเมืองรุมเร้า จนเกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เตรียมแผนการอัดฉีดเงินเข้าสู่รากหญ้า หวังประชาชนจับจ่ายมากขึ้น เย้ย "ประชานิยม" ทักษิโณมิกส์

การต่ออายุคงแวตไว้ที่ 7% ออกไปอีกเพียง 1 ปี ของรัฐบาล "พอเพียง" หลังกรมสรรพากรเก็บภาษีหลุดเป้ากว่า 4 พันล้านบาท สาเหตุปัญหาการเมืองรุมเร้า จนเกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เตรียมแผนการอัดฉีดเงินเข้าสู่รากหญ้าหวังประชาชนจับจ่ายมากขึ้น เล็งกู้ กบข.-ประกันสังคม อุ้มรากหญ้า ผุดบ้านพอเพียง เย้ย "ประชานิยม" ระบอบ "ทักษิโณมิกส์"

.

นายศานิต ร่างน้อย อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า จากวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นวันสุดท้ายในการยื่นแบบชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปี"49 พบว่าการจัดเก็บภาษีดังกล่าวของกรมสรรพากรต่ำกว่าเป้า 4 พันล้านบาท ซึ่งสาเหตุเกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอยู่ในขณะนี้

.

นายสมหมาย ภาษี รมช.คลัง เปิดเผยว่า ตนยังไม่ได้รับรายงานตัวเลขการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรและกรมสรรพสามิตที่ต่ำกว่าเป้าหมายในเดือนมี.ค.50 อย่างเป็นทางการ แต่จากตัวเลขดังกล่าวก็ไม่แปลกใจอะไร เนื่องจากคาดการณ์มาก่อนหน้าแล้วจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ชะลอตัวลง เห็นได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าสินค้าทุนและภาษีอสังหาริมทรัพย์ จัดเก็บได้น้อยลง ฉะนั้น เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในทางหนึ่ง จึงได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมาย กรมสรรพากรไปศึกษาเพื่อต่ออายุการคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ที่ 7% ต่อไปอีก 1 ปี จากที่กำหนดจะหมดอายุการคงภาษีในอัตราดังกล่าวในวันที่ 30 ก.ย.50 ซึ่งคาดว่ากรมสรรพากรจะส่งเรื่องกลับมากระทรวงการคลังเพื่อให้รมว.คลังเห็นชอบภายในเดือนเม.ย.นี้ จากนั้นจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

.

"เหตุผลในการต่ออายุแวต 7% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ขณะนี้ชะลอลงมาก หากลดแวตลงคาดว่าจะทำให้ประชาชนได้จับจ่ายมากขึ้น และการต่ออายุเพียง 1 ปี เพราะเราเป็นรัฐบาลชั่วคราว ไม่อยากทำอะไรที่ผูกพันมากเกินไป" นายสมหมายกล่าว

.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากกระทรวงการคลังไม่ต่อมาตรการภาษีแวตที่ระดับ 7% ต่อไป จะทำให้แวตขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 10%

.

นายฉลองภพ กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับคณะทำงานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานราก ว่า จากการประชุมร่วมกับคณะที่ปรึกษารมว.คลังทั้ง 7 คณะ ทำให้มีข้อมูลทางด้านต่าง ๆ ชัดเจนขึ้น โดยในปลายเดือนนี้จะมีการสัมมนาเพื่อพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง ส่วนการพิจารณามาตรการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากนั้น คณะทำงานได้เสนอแนวทางในเบื้องต้น ซึ่งตนมอบหมายให้กลับไปทำมาตรการที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และเสนอกลับมาอีกครั้ง คาดว่าจะเป็นมาตรการแรกที่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม ส่วนการช่วยเหลือภาคธุรกิจที่สำคัญอย่างอสังหาริมทรัพย์นั้นมาตรการจะออกมาภายหลังการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

.

รายงานข่าวจากที่ประชุม เปิดเผยว่า ในที่ประชุมหารือมาตรการช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากโดยแบ่งเป็นระยะสั้น ปานกลาง โดยระยะสั้นจะเร่งอัดฉีดเงินให้ฐานราก เอสเอ็มอี และช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ซึ่งแผนการหลักจะจัดหาแหล่งเงินต้นทุนต่ำให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อนำไปใช้ในการปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอีและชนบท ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยขณะนี้กำลังพิจารณาหาแหล่งเงินที่เหมาะสม ซึ่งอาจมาจากการกู้ยืมกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนประกันสังคม หรือจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

.

นอกจากนี้ จะเร่งการใช้จ่ายในท้องถิ่นทั้งในส่วนของเงินงบประมาณที่รัฐจัดสรรให้ 3 แสนล้านในปี"50 และให้นำเงินนั้นไปสร้างโครงการที่เชื่อมต่อวิสาหกิจชุมชนเพื่อกระตุ้นฐานราก และยังมีส่วนช่วยกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยให้ท้องถิ่นหาพื้นที่ว่างเปล่ามาสร้างหมู่บ้านและให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อ เรียกว่าโครงการบ้านพอเพียง ราคาบ้านจะอยู่ในระดับ 2-3 แสนบาท และให้ธอส.คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษคงที่ 5-10 ปี โดยจะให้สำหรับผู้มีรายได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท/เดือน และให้ท้องถิ่นเข้ามาดูแลด้านสาธารณูปโภคเพื่อให้เกิดการสร้างงานในชนบท รวมทั้งจะมีมาตรการระยะสั้นกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ โดยเน้นมาตรการภาษีทั้งการลดค่าธรรมเนียมในการจดจำนองและลดภาษีธุรกิจเฉพาะ

.
ที่มา : มติชน