เนื้อหาวันที่ : 2007-04-04 13:21:13 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1289 views

รัฐบาล "พอเพียง" ไฟเขียว ขสมก.กู้หมื่นล้าน

ปัญหาหนี้ของ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ยืดเยื้อ ครม. ขมิ้นอ่อน รัฐบาล "พอเพียง" อนุมัติ กู้เงินเพื่อชำระหนี้ค่าน้ำมัน และชำระหนี้ค่าเหมาซ่อมพร้อมดอกเบี้ย แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นการชั่วคราว

ปัญหาหนี้ของ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ยืดเยื้อ ครม. ขมิ้นอ่อน รัฐบาล "พอเพียง" อนุมัติ กู้เงินเพื่อชำระหนี้ค่าน้ำมัน และชำระหนี้ค่าเหมาซ่อมพร้อมดอกเบี้ย แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นการชั่วคราว หลังหมกหนี้ไว้นานหลายรัฐบาล

.

นางเนตรปรียา ชุมไชโย ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2550 ว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กู้เงินเพื่อชำระหนี้ค่าน้ำมัน และชำระหนี้ค่าเหมาซ่อมพร้อมดอกเบี้ย ณ วันที่ 30 กันยายน 2549 จำนวน 10,084.059 ล้านบาท และ 1,472.336 ล้านบาท ตามลำดับ

.

ทั้งนี้ แบ่งเป็นค่าน้ำมัน 9,800.487 ล้านบาท และดอกเบี้ย 283.572 ล้านบาท ค่าเหมาซ่อม 1,425.334 ล้านบาท และดอกเบี้ย 47.002 ล้านบาท โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ และให้ ขสมก. เป็นผู้รับภาระชำระเงินต้น ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายในการกู้เงิน อย่างไรก็ตาม การกู้เงินดังกล่าวถือเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องของ ขสมก.เป็นการชั่วคราว ไม่สามารถแก้ปัญหาในระยะยาวได้

.

นางเนตรปรียากล่าวว่า เนื่องจากกระทรวงคมนาคมได้รับรายงานจาก ขสมก. ว่าจากการประมาณการเงินสดรับ-จ่าย ประจำปีงบประมาณ 2550 คาดว่าในปีงบประมาณ 2550 ขสมก.จะมีเงินสดขาดมือ 5,228 ล้านบาท ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ค้างชำระค่าน้ำมันพร้อมดอกเบี้ยและหนี้ค้างชำระค่าเหมาซ่อมพร้อมดอกเบี้ยได้ ขณะที่กระทรวงพลังงานแจ้งว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณปรับปรุงรถโดยสาร ขสมก. ให้เป็นรถใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) ดังนั้น ปตท.จึงขอให้ ขสมก.ชำระหนี้ค้างค่าน้ำมันพร้อมดอกเบี้ยโดยไม่ต้องรอแผนปรับโครงการการบริหารจัดการเพื่อฟื้นฟูฐานะทางการเงินของ ขสมก. ซึ่งกระทรวงการคลังไม่ขัดข้อง แต่ต้องมีแผนบริหารให้ชัดเจนเพื่อรัฐบาลจะได้จ่ายเงินชดเชยได้

.

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เห็นว่า ปัจจุบัน ขสมก.มีภาระหนี้การค้าที่สำคัญ 2 ส่วนได้แก่ ค่าน้ำมันและค่าเหมาซ่อมรถโดยสาร ซึ่งเกิดจากการรับภาระราคาน้ำมัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น สภาพการจราจรติดขัด และการจัดเส้นทางเดินรถที่ซ้ำซ้อน ขณะเดียวกันรถโดยสารมีสภาพเก่าและมีแนวโน้มการขาดทุนในช่วงปี 2550-2554 เฉลี่ยปีละประมาณ 7,330 ล้านบาท หรือขาดทุนเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 600 ล้านบาท และมีภาระหนี้รวมดอกเบี้ยในปี 2550-2554 เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 37,605 ล้านบาท จึงจำเป็นที่ ขสมก.ต้องดำเนินการปรับโครงสร้างกิจการและปรับโครงสร้างหนี้อย่างจริงจัง เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวด้วย

.

ที่มา : มติชน