เนื้อหาวันที่ : 2007-04-04 12:26:41 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 955 views

ม็อบค้านเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น เผารายชื่อ ครม.ขมิ้นอ่อน เอกชนเฮลั่น!

กลุ่มคัดค้านเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น เผาบัญชีรายชื่อ ครม.รัฐบาล"ขมิ้นอ่อน" และสำเนาสัญญาข้อตกลงเจเทปา หน้าสถานฑูตญี่ปุ่น ส่วนกลุ่มเอกชนผู้ได้ผลประโยชน์เฮลั่น! หลังลงนามข้อตกลง เตรียมใช้สิทธิด้านภาษีที่ลดลงดันส่งออกเพิ่ม พร้อมดึงร่วมลงทุนในไทย เผยเตรียมเปิดเจรจาซื้อขายสินค้าเพิ่มเติม

เอกชนเฮลั่น! หลัง ผู้นำทัพรัฐบาล "พอเพียง" เยือน ญี่ปุ่น เพื่อลงนามข้อตกลง กลุ่มได้ประโยชน์คึกคัก เตรียมใช้สิทธิด้านภาษีที่ลดลงดันส่งออกเพิ่ม พร้อมดึงร่วมลงทุนในไทย เผยเตรียมเปิดเจรจาซื้อขายสินค้าเพิ่มเติม ร่วมพัฒนาสินค้าส่งขายญี่ปุ่นและส่งออกไปยังประเทศที่สาม กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร ยางพารา อัญมณี ชักแถวลุย เครือซีพีมาตามนัดไม่ตกขบวน

.

จากมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 27 มีนาคม 2550 ได้ยืนยันเห็นชอบให้มีการลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น(JTEPA) หรือในชื่อเดิมเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น โดยพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมีกำหนดเดินทางไปลงนามความตกลงที่ญี่ปุ่นในวันที่ 3 เมษายนศกนี้ และคาดความตกลงจะมีผลบังคับใช้ในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า ต่อมติดังกล่าวได้สร้างความคึกคักให้กับภาคการค้าและการลงทุนของไทยและญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก โดยกลุ่มที่คาดหวังจะได้รับประโยชน์ได้มีความเคลื่อนไหวที่จะใช้สิทธิประโยชน์จาก JTEPA กันแล้ว

.

นายเดช พัฒนเศรษฐพงษ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากความชัดเจนของการลงนามความตกลง และการมีผลบังคับใช้ ทำให้ผู้ส่งออก-นำเข้าของทั้งสองฝ่ายมีความมั่นใจที่จะทำธุรกิจร่วมกันมากขึ้น จากนี้ไปผู้นำเข้าเครื่องนุ่งห่มจากญี่ปุ่นคาดจะมาติดต่อ หรือเข้ามาเจรจาสั่งซื้อสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น รวมถึงการร่วมพัฒนาสินค้า การร่วมทุนและถ่ายทอดเทคโนโนโลยีในการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มในไทยเพื่อส่งไปจำหน่ายในญี่ปุ่น และส่งออกไปยังประเทศที่สาม คาดในปีแรกหลังข้อตกลงมีผลบังคับใช้(ตามข้อตกลงญี่ปุ่นจะลดภาษีนำเข้าเครื่องนุ่งห่มเป็นศูนย์ทันที) การส่งออกเครื่องนุ่งห่มของไทยไปญี่ปุ่นจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 35% จากปีที่ผ่านมาไทยส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปญี่ปุ่นมูลค่า 218 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวลดลงจากปีก่อน 2%

.

ดร.ขัติยา ไกรกาญจน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การลงนามความตกลงครั้งนี้ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าจะได้รับประโยชน์ทางด้านภาษีที่ลดลงและจะส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้น และจะสร้างความมั่นใจให้ญี่ปุ่นมาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น ทางกลุ่มได้เตรียมดึงญี่ปุ่นเข้ามาร่วมลงทุนผลิตสินค้า โดยคาดหวังได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการรีไซเคิลสินค้าที่ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จมาก

.

นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ส.อ.ท. กล่าวว่า ภายหลังความตกลงมีผลบังคับใช้ สินค้าเกษตรและอาหารซึ่งใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นส่วนใหญ่จะได้รับประโยชน์ในการส่งออกไปญี่ปุ่นมากจากอัตราภาษีนำเข้าที่ลดลง อาทิ กุ้ง ไก่แปรรูป ผัก ผลไม้ แป้งมัน กากน้ำตาล อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น จากช่วงปี 2545-2549 ไทยมีการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปญี่ปุ่นเฉลี่ย 90,000-100,000 ล้านบาท

.

นายหลักชัย กิตติพล นายกสมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า ญี่ปุ่นเป็นผู้นำเข้าวัตถุดิบยางพารารายใหญ่จากไทยเพื่อนำไปผลิตสินค้าต่อเนื่อง อาทิ ยางรถยนต์ ถุงมือยาง และอื่น ๆ การลงนามครั้งนี้คาดญี่ปุ่นจะให้ความสนใจมาร่วมลงทุนผลิตสินค้าจากยางพาราที่มีมูลค่าเพิ่มเพื่อส่งออกไปญี่ปุ่นและประเทศที่สาม เนื่องจากไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญ และมีต้นทุนแรงงานที่ถูกกว่าการผลิตในญี่ปุ่น นอกจากนี้ไทยยังจะได้ประโยชน์จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิตสินค้าต่อเนื่องยางพาราจากญี่ปุ่นด้วย

.

นายพรชัย ชื่นชมลดา นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ กล่าวว่า ช่วง 4-5 ปีผ่านมา การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยไปญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ เนื่องจากมีคู่แข่งขันมากขึ้น หากความตกลงมีผลบังคับใช้จะทำให้ไทยส่งออกอัญมณีฯไปญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้นจากภาษีที่ลดลงเป็นศูนย์ทันที ทางสมาคมได้เตรียมจัดให้ความรู้สมาชิกในเรื่องเทรนด์ หรือแนวโน้มความต้องการสินค้าอัญมณีฯของญี่ปุ่น รวมถึงให้ความรู้ในการใช้สิทธิประโยชน์จาก JTEPA

.

ด้านนายสุเมธ เหล่าโมราพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทมีการส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่น อาทิ อาหารกระป๋อง ซังข้าวโพดบด แป้งมันสำปะหลัง และอื่น ๆ จากภาษีที่ลดลงและเอื้อต่อการส่งออกมากขึ้น บริษัทจะเข้าไปศึกษาตลาดเพื่อขยายการส่งออกไปญี่ปุ่นให้มากขึ้น

.

อนึ่ง ในวันที่ 4 เมษายน 2550 ในโอกาสเดียวกับที่คณะนายกรัฐมนตรีของไทยเดินทางไปลงนาม JTEPA จะมีการจัดสัมมนานักธุรกิจไทย-ญี่ปุ่นเพื่อขยายลู่ทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เพื่อเตรียมรองรับกับความตกลงที่จะเกิดขึ้นด้วย

.

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ