เนื้อหาวันที่ : 2011-08-15 15:10:39 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1859 views

ยุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรมกับนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ

บทความนี้เป็นการนำยุทธศาสตร์การพัฒนาของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันมาวิเคราะห์เชื่อมโยงกับมิติความมั่นคงแห่งชาติภายใต้แนวคิดการพัฒนาที่ยึดคนเป็นศูนย์กลาง

นางสาวนพมาศ ช่วยนุกูล
สำนักนโยบายอุตสาหกรรมมหภาค

          กรอบและวัตถุประสงค์ของการวิเคราะห์
          การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดระยะเวลา 50 ปี ที่ผ่านมา มีความเจริญเติบโตมาเป็นลำดับภาคอุตสาหกรรมถือเป็นเครื่องมือในการพัฒนาที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง และนับจากปี 2520 เป็นต้นมา ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศจากร้อยละ 20 ไปสู่ร้อยละ 39 ในปี 2552 สัดส่วนดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรมต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดังกล่าวส่งผลให้ประเทศต้องพึ่งพาเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ทั้งด้านปัจจัยการผลิตและด้านการตลาดแม้ว่าการเจริญเติบโตจะเป็นไปอย่างรวดเร็วแต่ก็มีความเสี่ยงและไม่มั่นคง บทความนี้เป็นการนำยุทธศาสตร์การพัฒนาของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันมาวิเคราะห์เชื่อมโยงกับมิติความมั่นคงแห่งชาติภายใต้แนวคิดการพัฒนาที่ยึดคนเป็นศูนย์กลาง เพื่อนำเสนอประเด็นที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการเพิ่มเติมนอกเหนือจากแนวทางที่ดำเนินการอยู่เดิม

          ยุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรม
          เมื่อเกิดภาวะวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในประเทศ เหตุผลหนึ่งที่หลายฝ่ายมักหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างคือ “รัฐบาลไม่มีนโยบายที่ชัดเจน” กระทรวงอุตสาหกรรมโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้มีการกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยในระยะ 20 ปี (พ.ศ.2555-2574) เพื่อมุ่งอุตสาหกรรมที่สร้างสรรค์ สมดุลและยั่งยืนและเชื่อมโยงไปสู่การจัดทำยุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมมิติต่าง ๆ

ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ว่า “กระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อผู้ประกอบการและประชาชน มุ่งสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมยั่งยืนและสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก” ซึ่งการบรรลุวิสัยทัศน์จะต้องทำอย่างไร หรือด้วยวิธีไหน ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ โดยผู้เขียนบทความขอหยิบยกขึ้นมานำเสนอเป็นประเด็น ๆ ดังนี้

          1. การปรับโครงสร้างการผลิตและการวางฐานรากอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน แนวทางนี้เป็นการมุ่งวางแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ ทั้งอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมพื้นฐานและอุตสาหกรรมสนับสนุน ให้มีความเจริญและมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น โดยอาศัยกลยุทธ์ต่าง ๆ อาทิ

          1) ยกระดับพื้นฐานทางปัญญาในภาคอุตสาหกรรม ที่ดำเนินการโดยนำผลการวิจัยที่มีอยู่เดิมมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดการผลิตในเชิงพาณิชย์ เป็นการร่วมดำเนินการแบบ 3 เส้า ระหว่างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในฐานะผู้ผลิต สถาบันการศึกษาในฐานะหน่วยวิชาการและแหล่งความรู้ และกระทรวงอุตสาหกรรมโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในฐานะผู้สนับสนุนและกำกับการดำเนินงาน

          2) ผลักดันการใช้เทคโนโลยีเพื่ออนาคตและการสร้างคุณค่า (Value Creation) แก่ผลิตภัณฑ์โดยเน้นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เพื่อสร้างคุณค่าให้ผลิตภัณฑ์และบริการ ได้แก่ การสร้าง/ พัฒนานักออกแบบอุตสาหกรรม การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการผลิต การผสมผสานอัตตลักษณ์และวัฒนธรรม การสร้างบรรยากาศ/ โอกาสในการลงทุนและการบริโภคผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการเตรียมฐานข้อมูลเพื่อให้บริการและการวางแผนพัฒนาเชิงรุก โดยดำเนินการร่วมกันระหว่างหน่วยงานของกระทรวงอุตสาหกรรมกับสถาบันเครือข่าย

          3) สนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้วัตถุดิบ ทรัพยากรธรรมชาติ และเชื่อมโยงกับภาคเกษตรทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการเกื้อกูลระหว่างภาคการเกษตรในฐานะผู้ผลิตวัตถุดิบที่มีความเข้มแข็งและมีคุณภาพ ที่ลดความเสี่ยงให้กับภาคอุตสาหกรรมในด้านการพึ่งพาปัจจัยจากภายนอกประเทศ ประกอบกับสถานการณ์ด้านโลกร้อนและวิกฤตด้านอาหารที่เกิดขึ้นจึงเป็นโอกาสดีต่อทุกภาคส่วนที่จะใช้แนวทางนี้พัฒนาและสร้างความมั่นคง

          4) กำหนดท่าทีด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนให้การทำข้อตกลง หรือการเจรจาทำความตกลงทางการค้าในเวทีต่าง ๆ ของไทยเป็นไปอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมไทย ตลอดจนการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการไทยเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์/ ลดผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้า

          2. การพัฒนาปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและพัฒนาอุตสาหกรรม แนวทางนี้มุ่งส่งเสริม อำนวยความสะดวก ลด กฎ ข้อบังคับและระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นอุสรรคต่อการลงทุนและการประกอบกิจการอุตสาหกรรม เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการลงทุนตลอดจนสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคอุตสาหกรรมให้เพิ่มขึ้นจากเดิม โดยอาศัยกลยุทธ์ต่าง ๆ อาทิ

          1) ผลักดันการแก้ไขกฎ ข้อบังคับและระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนรวมทั้งให้สิทธิประโยชน์เพื่อให้เกิดการลงทุนใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนและเอื้อต่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย รวมทั้งส่งเสริมให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น

          2) ดำเนินการผลักดันเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนและการจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อสร้างความเจริญในภูมิภาคและพื้นที่ชายแดน บรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องแรงงานภาคอุตสาหกรรม และสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านและในภูมิภาค

          3) พัฒนาระบบเตือนภัยภาคอุตสาหกรรมและฐานข้อมูลเชิงลึก เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและเตือนภัยล่วงหน้าให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถนำไปใช้ในการปรับตัวได้อย่างทันท่วงที กระทรวงอุตสาหกรรมโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมร่วมดำเนินการกับหลายฝ่ายเพื่อให้ระบบเตือนภัยมีความเหมาะสมก่อนนำออกเผยแพร่ เช่น คณะอนุกรรมการดัชนีอุตสาหกรรมที่มีทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันเครือข่าย เป็นต้น

          4) ผลักดันการจัดตั้งกองทุนเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้พัฒนาความสามารถตนเอง ในด้านที่เกี่ยวกับการเพิ่มผลิตภาพ การจัดทำต้นแบบ/ พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้า หรือเพื่อฟื้นฟูในกรณีฉุกเฉินใด ๆ หรือเกิดภัยพิบัติให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างรวดเร็ว โดยให้ความสำคัญกับเป้าหมายหลักที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยที่ยังขาดโอกาสอย่างมาก

          3. การเสริมสร้างขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมให้แข่งขันได้ทุกระดับ แนวทางนี้มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อให้มีผลิตภาพเพิ่มขึ้นจากเดิม รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ ๆ โดยใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ อาทิ
          1) เสริมสร้างความสามารถของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสร้างความเข้มแข็งในลักษณะเครือข่ายเพื่อสร้างมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ และลดความเสี่ยงด้านปัจจัยการผลิต และการตลาด
          2) สนับสนุนผลักดันให้การผลิตได้คุณภาพมาตรฐาน เพื่อสร้างการยอมรับในการแข่งขัน และเป็นการคุ้มครองความปลอดภัย/ สุขอนามัยให้กับผู้บริโภค
          3) เพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม ทั้งในด้านความรู้ ความสามารถ ทักษะกระบวนการผลิต โลจิสติกส์ภายในอุตสาหกรรม และการบริหารจัดการ
          4) เตรียมการด้านกำ ลังคนภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความพร้อมด้านแรงงานให้ภาคอุตสาหกรรมให้สอดรับกับความต้องการและการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งวางแผนการผลิต/ พัฒนาบุคลากรให้สอดรับ

          4. การส่งเสริมอุตสาหกรรมที่รับผิดชอบต่อสังคม บริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล แนวทางนี้มุ่งหวังให้การประกอบการอุตสาหกรรมเกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ผู้ประกอบการและชุมชนในการเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาเรื่องมลพิษและสิ่งแวดล้อม การบริหารการจัดการ/ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสม โดยใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ อาทิ
          1) ส่งเสริมการประกอบการให้ดำเนินการตามกฎหมาย ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
          2) ส่งเสริมธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนการมีส่วนร่วม
          3) สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่ถูกต้องให้แก่ชุมชนและสังคม
          4) ส่งเสริมการผลิต/ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นปัจจัยการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสม รวมทั้งผลักดันให้นำปัจจัยการผลิตที่หายากหรือมีราคาสูงหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่

          5. การพัฒนาสมรรถนะและประสิทธิภาพองค์กรเพื่อสนองตอบความต้องการของผู้ประกอบการและประชาชน โดยใช้กลยุทธ์การพัฒนาความรู้ ความสามารถ ทักษะ รวมทั้งการเชื่อมโยงเครือข่ายระบบสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง เพื่อสามารถให้บริการและผลักดันการดำเนินการตามยุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรมข้างต้นให้บรรลุผล

          การขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติและบทบาทต่อสังคม
          กระทรวงได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติและการสนองตอบต่อความต้องการสังคมหลายประการดังนี้

          1. การยกระดับผลิตภัณฑ์และสร้างมูลค่าเพิ่ม กระทรวงอุตสาหกรรมโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้ดำเนินการตามแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา พ.ศ. 2551-2555 ในการสร้างนวัตกรรมเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ และสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการพัฒนาองค์ความรู้ การสนับสนุนการนำงานวิจัยมาต่อยอดและใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ จากผลการดำเนินงานได้พัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมไปแล้วไม่ต่ำกว่า 100 ผลิตภัณฑ์ สร้างองค์ความรู้และทักษะแรงงานไม่ต่ำกว่า 900 คน ครอบคลุม 6 สาขาอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ไฟฟ้า สิ่งทอ เหล็ก เครื่องจักรกล พลาสติก เซรามิก และเชื่อมโยงอีกหลายสาขาอุตสาหกรรม (Across Sector)

          2. การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กระทรวงอุตสาหกรรมโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้จัดทำโครงการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม SMEs เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการและบุคลากรภาคการผลิตด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ เกี่ยวกับผลประโยชน์ ผลกระทบ และการเตรียมการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ในปี พ.ศ. 2558 โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมจังหวัด และหน่วยงานภาคเอกชน

ทั้งนี้ ในปี 2553 มีการดำเนินการจัดอบรมให้ความรู้ 3 ครั้ง ณ จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา และระยอง และในปี 2554 กำหนดจัดสัมมนาเผยแพร่ในภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) และในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน อยู่ระหว่างการพิจารณาเวลาและสถานที่ที่เหมาะสม ณ จังหวัดในภาคใต้ การเผยแพร่ความรู้ในส่วนกลาง เช่น การจัดประชุมเสวนาเชิงวิชาการ OIE Forum

          3. การจัดทำระบบเตือนภัยและศูนย์ข้อมูลเชิงลึก ได้แก่ ภาวะอุตสาหกรรมรายเดือน เพื่อเป็นข้อมูลแสดงความเคลื่อนไหวของภาคอุตสาหกรรมที่เป็นภาคการผลิตหลักในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงภาวการณ์ผลิตการตลาดและแนวโน้มในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้แก่ อุตสาหกรรม Hard Disk Drive ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ เครื่องปรับอากาศ สิ่งทอต้นน้ำ และปูนซีเมนต์

ภาวะอุตสาหกรรมรายไตรมาส และรายปี 16 สาขา ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ พลาสติก ปิโตรเคมี เซรามิก เยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์ ปูนซีเมนต์ ยา ไม้และเครื่องเรือนไม้ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ยางและผลิตภัณฑ์ยาง รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง อัญมณีและเครื่องประดับ และอาหาร ระบบศูนย์ข้อมูลเชิงลึกซึ่งเป็นระบบการจัดเตรียมข้อมูลข่าวสารเชิงลึก และการวิเคราะห์ในแง่มุมต่างๆ สำหรับอุตสาหกรรมไทย

โดยเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกับเครือข่ายระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และสถาบันเครือข่ายของกระทรวง ที่ประกอบด้วยข้อมูล ระบบเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม บทวิเคราะห์ประเด็นร้อนแรงและงานวิจัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ข้อมูลเชิงลึกในอุตสาหกรรมสาขาต่าง ๆ ข้อมูลนำเข้าส่งออกจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกข้อมูลภาพรวมด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ

          4. การผลักดันเรื่องการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ซึ่งเป็นเครื่องมือในการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อรองรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกและเป็นแนวทางการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม โดย ครม. เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2553 เห็นชอบในหลักการให้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดและเห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ตามที่ กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยที่กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมเป็นกรรมการ ซึ่งการดำเนินการเป็นไปเพื่อรองรับการขยายตัวธุรกิจการค้าชายแดนไทยพม่า

ทั้งนี้การดำเนินการครอบคลุมการวางแผนออกแบบการจัดตั้งฯ แผนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน แนวทางการให้สิทธิประโยชน์ การเชื่อมโยงโลจิสติกส์การคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศ ซึ่งหากดำเนินการบังเกิดผลเป็นธูปธรรมจะก่อให้เกิดการขยายตัวการผลิต การค้า การลงทุน ท่องเที่ยว และสามารถสร้างความแข็งแกร่งในพื้นที่ตามแนวชายแดนรวมทั้งสร้างโอกาสให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ในอนาคต

นอกจากการสนับสนุนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้มีการศึกษาวิจัยเพื่อนำไปสู่การกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีศักยภาพ ได้แก่ ที่กาญจนบุรี นราธิวาส หนองคาย และมุกดาหาร เพื่อวางแนวทางในการผลักดันในโอกาสต่อไปด้วย

          5. การส่งเสริมการลงทุน กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งเน้นการส่งเสริมการลงทุนเพื่อก่อให้เกิดความสมดุลทั้ง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยวางเป้าหมายการลงทุนในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 400,000 ล้านบาท ซึ่งการเพิ่มมูลค่าการลงทุนนี้ ดำเนินการโดยดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในไทยโดยใช้วิธีการทำโรดโชว์ เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังส่งเสริมนักลงทุนไทยให้ไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเข้าไปสนับสนุนทั้งในด้านแหล่งเงินทุน การสร้างความรู้ความเข้าใจตลอดจนข้อมูลการตลาดของประเทศเป้าหมาย เพื่อให้สามารถปรับแผนการแข่งขันและเพื่อรองรับการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกำลังศึกษาเพื่อจัดทำร่างกฎหมายและกฏเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศด้วย

          6. การเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม (Productivity) ด้วยการยกระดับความสามารถทักษะแรงงาน มาตรฐานผลิตภัณฑ์ การบริหารจัดการของผู้ประกอบการ เพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักร และพัฒนาระบบโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานภาคอุตสาหกรรม ผ่านทางโครงการภายใต้แผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม พ.ศ. 2551-2555 โดยได้พัฒนาฝีมือแรงงานในภาคอุตสาหกรรมแล้วไม่ต่ำกว่า 54,000 คน สถานประกอบการไม่ต่ำกว่า 1,700 สถานประกอบการ ครอบคลุม 19 สาขาอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังได้พัฒนาระบบโลจิสติกส์ และสร้างเครือข่ายพันธมิตรธุรกิจ/ Supply Chain โดยการพัฒนาระบบสารสนเทศเชื่อมโยงอุตสาหกรรม การจับคู่ธรกิจ และสร้างฐานข้อมูลธุรกิจ

          7. การพัฒนากำลังคนในภาคอุตสาหกรรม สืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจได้เริ่มฟื้นตัว และขยายตัวสูงขึ้นตั้งแต่กลางปี 2553 ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนกำลังคนภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะแรงงานฝีมือในระดับอาชีวะศึกษา ปวช. ปวส. ประกอบกับค่านิยมในการศึกษาต่อเพื่อให้มีรายได้มากขึ้น ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานสายอาชีพเหล่านี้เป็นจำนวนมากและต่อเนื่อง

กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้สนับสนุนให้มีการนำ “หลักการหลักการจ่ายค่าตอบแทนตามสมรรถนะ (Competency based pay)“ มาใช้แทนการจ่ายค่าตอบแทนคุณวุฒิการศึกษา (Qualification based pay) หรือตำแหน่งหน้าที่ (Job based pay) เพื่อพัฒนาหรือเพิ่มผลิตภาพแรงงานในด้านต่างๆ เช่น การคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน การวางแผนพัฒนาบุคลากรให้มีความสมรรถนะตามความต้องการของแต่ละสถานประกอบการ

การจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะและความรู้ของบุคลากรการประเมินผลงานของบุคลากรเพื่อกำหนดตำแหน่งและการเลือกขั้นเงินเดือนอย่างเหมาะสมมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลกำลังคน (ระบบ LED-X) ร่วมกับกระทรวงแรงงาน และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และข้อมูลอุปสงค์ อุปทาน เพื่อใช้ในการวางแผนพัฒนากำลังคนในภาคอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการ

          8. มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรมโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้กำหนดมาตรฐาน มอก. 26000-2553 : Guidance on Social Responsibility ซึ่งเป็นมาตรฐานความรับผิดชอบขององค์กรที่มีต่อสังคม โดยมีการจัดทำร่างคู่มือ สำหรับอุตสาหกรรมใน 4 สาขา คือ สาขาไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์สาขาปูน เหล็ก คอนกรีต วัสดุก่อสร้าง สาขาปิโตรเคมี โพลิเมอร์ และสาขาอาหาร โดยจัดการสัมมนาเพื่อรับฟังความความเห็น และเพื่อสร้างความเข้าใจให้ผู้ประกอบการ สำหรับการกำหนดมาตรฐานสำหรับอุตสาหกรรมแร่นั้น กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้ร่วมกับผู้เกี่ยวข้องจัดทำมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการเหมืองแร่ ที่สอดคล้องกับ มอก. 26000

นอกจากนั้นยังวางเป้าหมายเพื่อให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ยกระดับมาตรฐานการประกอบการโดยมอบรางวัลและสิทธิประโยชน์เพื่อสร้างแรงจูงใจสู่การประกอบการเหมืองแร่สีเขียว นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และกลไกการพัฒนาที่สะอาด เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก การส่งเสริมแนวคิดการนำของเสียมาใช้ประโยชน์เพื่อให้โรงงานตระหนักในความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้บริโภค พบว่าโรงงงานมีการเปลี่ยนพฤติกรรมและมีสถิติการนำกากอุตสาหกรรมมาใช้ประโยชน์ที่หลากหลายเพิ่มขึ้น และมีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจกำจัดกากอุตสาหกรรมและนำวัสดุที่ไม่ต้องการมาใช้ประโยชน์ใหม่ รวม 14 โครงการ เงินลงทุนรวมประมาณ 8 พันล้านบาท

การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทุกขนาดดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยนำหลักเกณฑ์มาตรฐานของกรมโรงงานอุตสาหกรรมว่าด้วยการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility Department of Industrial works : CRS-DIP) ไปปฏิบัติ นอกจากนั้นให้การส่งเสริม กำกับดูแลไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชุมชนด้วยการนำหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมมาใช้ในสถานประกอบการ โดยเป็นการบูรณาการใน 3 ภาคส่วนคือสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชน

ซึ่งปัจจุบันมีสถานประกอบการผ่านเกณฑ์ธรรมาภิบาลแล้วประมาณ 500 ราย ในด้านการมีส่วนร่วมกระทรวงได้ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน สถาบันการศึกษา ด้วยการสร้างเครือข่ายโดยเฉพาะผู้ที่อาศัยรอบบริเวณโรงงานได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังมลพิษจากโรงงาน และการจัดกิจกรรมนำชมโรงงานตัวอย่าง รวมทั้งการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมในนิคมอุตสาหกรรม ทั้งนี้เพื่อให้ชุมชนมีความเชื่อถือ ไว้ใจและมีทัศนคติที่ดีต่อโรงงาน อันนำไปส่การอยู่ร่วมกันระหว่างโรงงาน สังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม อย่างเป็นสุขยั่งยืน

          9. ด้านการบังคับใช้กฎหมาย กระทรวงได้มีการกำหนดมาตรการเร่งด่วนเพื่อการปราบปรามลักลอบทำเหมืองแร่และเพื่อป้องกันปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ โดย 1) มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยแร่ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้อำนวยการศูนย์ อุตสาหกรรมจังหวัดเป็นเลขานุการ เพื่อบูรณาการและถ่ายโอนอำนาจหน้าที่การกำกับดูแลให้แก่หน่วยงานในท้องถิ่น รวมทั้งสิ้น 17 จังหวัดที่ปรากฏการลักลอบทำเหมืองแร่

2) กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการอนุญาตให้ขนแร่ แต่งแร่ ซื้อแร่ และให้ปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัด 3) จัดชุดปฏิบัติการออกตรวจสอบเหมืองแร่สถานที่แต่งแร่ ซื้อแร่ และเก็บแร่ การชำระค่าภาคหลวง การออกใบอนุญาตต่าง ๆ ทั้งนี้ ให้ประสานกับศูนย์ฯ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และแนวทางการปฏิบัติ

นอกจากนั้น กระทรวงได้ดำเนินการตรวจสอบควบคุมผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน มอก. เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้ใช้สินค้าที่มีมาตรฐานรับรอง และให้ระบบมาตรฐานของประเทศมีความเข้มแข็งและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาสามารถตรวจติดตามและยึดสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานเป็นจำนวนมากและมีมูลค่าสูง อาทิ ผลิตภัณฑ์ของเล่นเด็ก และผลิตภัณฑ์เหล็ก เป็นต้น

ทั้งนี้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้มีการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งมีพระราชกฤษฎีกาให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานคือ มาตรฐานบังคับ จำนวน 99 รายการเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่เศรษฐกิจของประเทศ

โดยมีมาตรการในการควบคุมสินค้าให้ได้มาตรฐานคือ 1) มาตรการด้านการอนุญาตและการตรวจติดตามภายหลังการอนุญาต 2) มาตรการการตรวจควบคุมร้านจำหน่าย 3) มาตรการสร้างเครือข่ายความร่วมมือตรวจสอบการนำเข้าสินค้า 4) มาตรกรตรวจสอบโรงงานและสถานที่จำหน่ายร่วมกับตำรวจ 5) มาตรการถ่ายโอนงานภารกิจการตรวจโรงงานเพื่อการอนุญาตตามพรบ. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 ให้กับภาคเอกชน ตามติ ครม. (อยู่ระหว่างการถ่ายโอน)

          10. การเตรียมความพร้อมเพื่อความมั่นคง บทบาทของกระทรวงอุตสาหกรรมตามนโยบายเตรียมพร้อมแห่งชาติ เกี่ยวข้องกับด้านข้อมูลอุตสาหกรรมปัจจัยการผลิต อาทิ ข้อมูลการเตือนภัยภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการส่งเสริมการลงทุน ข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรม ข้อมูลวัตถุอันตราย สารเคมี กากของเสียอุตสาหกรรม ข้อมูลมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

นอกจากนั้น มีการจัดทำร่างแผนเตรียมความพร้อมกรณีที่เกิดภาวะฉุกเฉิน (ยามเกิดสงคราม) เพื่อพิจารณาปัจจัยการผลิต สายการผลิต การปันส่วนผลิตภัณฑ์เพื่อการสนับสนุนฝ่ายทหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ซึ่งในบทความฉบับนี้ไม่ได้รวมรายละเอียดการเตรียมความพร้อมเพื่อความมั่นคงไว้)

          นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ
          จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและนำไปสู่ระเบียบโลกใหม่ที่ครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่เน้นระบบเศรษฐกิจรวมพลังและกลไกตลาด ความมั่งคงทางการเมืองที่เน้นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม และความมั่นคงทางสังคมที่เน้นเรื่องสิทธิมนุษยชน ล้วนส่งผลต่อกรอบแนวคิดด้านความมั่นคงแห่งชาติจากเดิมที่มีจุดเน้นความมั่นคงทางด้านทหาร ไปสู่ความมั่นคงที่ยึดคนเป็นศูนย์กลางโดยมุ่งพัฒนาความสามารถของคนให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงรวมทั้งพัฒนาสภาวะแวดล้อมให้เอื้อต่อการพัฒนาคน ซึ่งตามนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ มีประเด็นหลัก ๆ ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับกระทรวงอุตสาหกรรม ดังนี้

          1. การเสริมสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการประเทศ โดยมุ่งส่งเสริมกลไกการทำงานร่วมกันกับท้องถิ่นเพื่อให้มีการจัดการ/ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นอย่างสมดุลยั่งยืน

          2. การสร้างสมดุล มั่นคง ยั่งยืนในระดับฐานราก โดยมุ่งส่งเสริม/ สร้างระบบเตือนภัยด้านเศรษฐกิจเพื่อให้ข้อมูลต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง ให้รู้เท่าทันสถานการณ์และการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ และการดำรงชีวิตภายใต้ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจของประเทศและเศรษฐกิจโลก

          3. การสร้างสมดุลของการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และคุ้มครองสิทธิเหนือทรัพยากรชีวภาพ โดยสร้างความรู้ จิตสำนึก ปรับปรุงมาตรการ/ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดสมดุลยั่งยืน เพิ่มมาตรการตรวจสอบการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การสนับสนุนการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างทางเลือก พลังงานสะอาด และการจัดให้มีกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมตามแนวชายแดน

          4. การพัฒนาศักยภาพการเตรียมความพร้อมแห่งชาติ โดยเน้นการพัฒนาประสิทธิภาพ การบริหารจัดการข้อมูลเพื่อให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในระบบการแจ้งเตือนภัย ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพมาตรการความช่วยเหลือเพื่อลดข้อเสียหายหลังเกิดภัย

          5. การสร้างสภาวะแวดล้อมที่สงบสันติในการอยู่ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาค โดยส่งเสริมศักยภาพคนในชุมชนในพื้นที่ชายแดน ตลอดจนรักษาสมดุลระหว่างผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจชายแดนกับผลประโยชน์ด้านความมั่นคง

          ข้อเสนอเพื่อการปรับตัว/ จุดเน้นที่ควรดำเนินการ
          หากความมั่นคงของชาติคือความมั่นคงของประชาชนดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น การพัฒนาความมั่นคงของชาติคือการพัฒนาคน และการพัฒนาระบบให้เอื้อต่อการพัฒนาคน ซึ่งแนวคิดในการพัฒนาคนนี้ผู้เขียนได้นำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นกรอบในการวิเคราะห์เพื่อที่จะเสนอความเห็น/ จุดเน้นที่กระทรวงอุตสาหกรรมควรให้ความสำคัญ ให้น้ำหนักในการดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อให้การพัฒนาของกระทรวงมีส่วนเสริมความมั่นคงแห่งชาติให้สมบูรณ์และสมดุลขึ้น ดังนี้

          1. การพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาตนเองได้ โดยเชื่อมโยงกับต้นน้ำซึ่งเป็นระบบเกษตรขนาดเล็กระบบเกษตรท้องถิ่น ที่เน้นการผลิตที่ใกล้เคียงธรรมชาติ ปลอดภัยจากสารพิษ สารเคมีอันตราย มีการส่งเสริมด้านคุณภาพดิน น้ำ ปุ๋ย พันธุ์ และวิธีการผลิตและบริหารจัดการผลผลิต โดยกระทรวงอุตสาหกรรมควรส่งเสริมระบบวิสาหกิจชุมชนอย่างจริงจัง คือส่งเสริมให้คนมีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง เน้นการผลิตเพื่อบริโภคและเหลือก็ขายในชุมชนและท้องถิ่น ซึ่งตลาดชุมชน ตลาดท้องถิ่น คือการเชื่อมต่อปลายน้ำของระบบพึ่งพาตนเอง เป็นการเชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้บริโภคในลักษณะเครือข่ายที่ทำให้มีเงินหมุนเวียนในชุมชนและท้องถิ่น

ดังนั้น ระบบการผลิตที่พึ่งพาตนเองที่เป็นกลางน้ำจะเป็นการผลิตเพื่อสนองตอบลูกค้าเฉพาะกลุ่มในปริมาณการผลิตที่สอดคล้องกับความสามารถและศักยภาพของผู้ผลิตเอง โดยยึดกรอบของคุณภาพ และทำกำไรแต่พองามเนื่องจากไม่จำเป็นต้องตักตวงในระยะสั้นเพราะเป้าหมายเป็นตลาดชุมชนที่มีเครือข่ายผู้บริโภคที่รู้จักกันดีและผูกพันการซื้อในระยะยาว

ประกอบกับผู้ประกอบการไม่ควรสับสนเอาความเติบโตอย่างสูงไปปะปนกับผลงานในระดับสูง ซึ่งเท่ากับเอาธุรกิจของตนไปมุ่งสร้างกำไรระยะสั้น-ระยะกลางให้มากที่สุด โดยเป็นอันตรายต่อความสามารถในการอยู่รอดของผู้ประกอบการเองในระยะยาว สำหรับผู้ผลิตแล้วสามารถรวมกลุ่มแบบสหกรณ์ได้เพื่อให้เกิดพลัง เกิดเครือข่าย เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในธุรกิจของตนอย่างถ่องแท้ที่จะมุ่งไปสู่การสร้างความแตกต่างในสินค้าของตนกับคู่แข่ง

ขณะเดียวกันก็ต้องคอยทบทวน ตรวจสอบ เทียบเคียงธุรกิจกับคู่แข่งอย่างสม่ำเสมอเพื่อที่จะปรับปรุงธุรกิจของตนเองทั้งในด้านสินค้า คุณภาพ เทคโนโลยี ความรู้ ความต้องการของลูกค้าและตลาด และประเมินความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นการพัฒนาตามแนวทางนี้ ถือเป็นการพัฒนาบนจุดแข็งแกร่งของไทยตั้งแต่การมีที่ดิน แหล่งน้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพ พันธุ์พืชที่มีคุณค่าทั้งทางอาหารและทางยา การผลิตแบบวิถีดั้งเดิมที่ปลอดภัย ซึ่งเป็นคุณประโยชน์ต่อมนุษยชาติ (การันตีได้เพราะผลิตแล้วคนไทยกินเอง ใช้เอง เป็นหลัก ไม่ใช่ผลิตแล้วคนไทยไม่กล้ากิน ไม่กล้าใช้) ซึ่งจุดแข็งเหล่านี้ต้องทำให้ทับซ้อนกับกระแสโลกที่ต้องการผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เพื่อที่ทุกคนจะต้องการสินค้าไทย

          2. การผลักดันระบบเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ที่ผ่านมาภาคการผลิตหลาย ๆ ประเภทมีการขาดแคลนแรงงาน และผู้เกี่ยวข้องบางส่วนมักเลือกวิธีแก้ไขปัญหาโดยการจ้างแรงงานต่างชาติ (ประเทศเพื่อนบ้าน) และก่อให้เกิดปัญหาในด้านอื่น ๆ ตามมา เช่น ด้านความมั่นคงปลอดภัย การย้ายถิ่น การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายตามที่ประกฏให้เห็นในสังคม

ขณะเดียวกันประเทศไทยก็มีความตกลงในพันธะสัญญาความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้กรอบการเจรจาต่าง ๆ ซึ่งแนวคิดระบบเศรษฐกิจพิเศษชายแดนนี้ควรจะได้มีการผลักดันบูรณาการร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านตามลักษณะ ศักยภาพแต่ละพื้นที่ชายแดน ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดตาก กาญจนบุรี หนองคาย มุกดาหาร หรือนราธิวาส เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างกันตั้งแต่ เรื่องวัตถุดิบ แรงงาน การผลิต การตลาด ที่จะสร้างความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจแทนการพัฒนาแบบควบคุม ระวังภัยตามกฎหมายเพียงลักษณะเดียว อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนในแต่ละพื้นที่ต้องพิจารณากำหนดวัตถุประสงค์/เป้าหมายให้ชัดเจนว่าจัดตั้งขึ้นเพื่ออะไร

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะการคัดเลือกอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งเกี่ยวข้องกับวัตถุดิบ แรงงาน กระบวนการผลิต เทคโนโลยี ตลาด และที่สำคัญการผลักดันในระบบเศรษฐกิจชายแดนจำเป็นต้องลดอุปสรรคที่เกิดจากอำนาจหน้าที่และกฎหมายของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เจตคติและความมุ่งมั่นในการจะถือเอาระบบเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเป็นนโยบายร่วมของชาติ

          3. การจัดตั้งและเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบกองทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม จากข้อมูลโครงสร้างและศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยในการกระจายรายได้และศักยภาพในการผลิต พบว่าร้อยละ 99 เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก มีการจ้างงานคิดเป็นร้อยละ 78 ของการจ้างงานทั้งหมด สามารถสร้างมูลค่าได้ร้อยละ 33 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นภาคประกอบการของไทยที่ใช้แรงงานเหล่านี้จำเป็นต้องมีการสร้างความรู้ ความสามารถ ทักษะ ทั้งที่เป็นความรู้ทักษะของลูกจ้าง และการพัฒนาร่วมกับเครือข่าย เพื่อให้มีความสามารถในการปรับตัวได้ทัน รวมทั้งเพื่อให้พร้อมรับการพัฒนาใหม่ ๆ อาทิ มีความรู้ความสามารถในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม

นอกจากนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการขยายทุน หรือลงทุนใหม่ ๆ การดำเนินการเพื่อพัฒนาและเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) การต่อยอดความรู้จากการวิจัยเพื่อสร้างมูลค่าในสินค้า แม้ว่าการพัฒนาดังกล่าวต้องใช้ทุนแต่กระทรวงอุตสาหกรรมควรเร่งสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการได้เข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง และควรต้องมีกติกาที่แตกต่างจากกติกาเดิมที่ป็นอุปสรรคในการได้รับบริการ นอกจากการขยายการลงทุนหรือเพิ่มความรู้ความสามารถทักษะ ข้างต้นแล้ว กองทุนนี้ควรเข้ามาดูแลให้ครอบคลุมการฟื้นฟูสถานภาพของผู้ประกอบการให้กลับคืนภาวะปกติโดยเร็วหลังภาวะวิกฤตหรือได้รับภัยพิบัติต่าง ๆ ด้วย

          4. การเสริมสร้างระบบการพัฒนาความรู้ ความสามารถ ทักษะในการประกอบอาชีพ ผู้ประกอบการทุกระดับควรต้องมุ่งเน้นการเพิ่มความรู้ ความสามารถ ทักษะ เพื่อให้สามารถปรับตัวและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ ปัจจุบันแม้ว่าอัตราการว่างงานของประเทศจะอยู่ในระดับต่ำ แต่ยังมีแรงงานนอกระบบอีกมากที่ยังไม่มีอาชีพที่มั่นคง จึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาเพื่อให้เป็นคนที่มีคุณค่า ถูกจ้างงาน เพื่อสร้างความมั่นคงในระดับบุคคล และต้องยอมรับว่าการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จคือการพัฒนาบนพื้นฐานความรู้สังคมก็เป็นสังคมฐานความรู้ (ไม่มีความรู้อยู่ในสังคมไม่ได้) นอกจากการพัฒนาความรู้ ความสามารถ ทักษะ ในการประกอบอาชีพแล้ว ภาครัฐควรหาแนวทางส่งเสริมให้ลูกจ้างหรือนายจ้างเข้ารับการปรับระดับการศึกษารวมทั้งด้านภาษาและความรู้ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี

ซึ่งกรณีนี้ประเทศในภูมิภาคอาเซียนบางประเทศดำเนินการมานานและหลายประเทศตื่นตัวให้ความสำคัญในการปรับและยกระดับการศึกษาของคนทำงาน ดังนั้นในระยะเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่เศรษฐกิจขยายตัวแต่ยังมีความเปราะบาง และขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง จึงควรที่ไทยต้องนำเวลาการทำงานของแรงงานที่ลดลงไปใช้ในการยกระดับศึกษาเพื่อเป็นรากฐานการลงทุนในระยะยาว

          5. การพัฒนาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติของไทย ดิน น้ำ ป่า แร่ธาตุ สินธุ์ในน้ำจากอดีตที่มีความสมบูรณ์อย่างมาก ถูกใช้ไปอย่างรวดเร็วเพื่อสนองกิจกรรมการพัฒนาประเทศในระยะที่ผ่านมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะที่ประเทศมีเครื่องมือพัฒนาเศรษฐกิจที่เรียกว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหากแปลความตรงไปตรงมาคือเราสร้างเศรษฐกิจของประเทศโดยใช้/ ขายทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้ง บุกรุกที่ดิน ป่า แหล่งน้ำ และทิ้งกากของเสียจากกระบวนการผลิตทั้งที่ตั้งใจและรู้เท่าไม่ถึงการ

โดยขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมกำลังตกเป็นลำเลยสังคมในด้านมลพิษและทำลายสิ่งแวดล้อม จึงควรที่กระทรวงอุตสาหกรรมต้องเน้นการประกอบการที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความเดือดร้อนให้ชุมชนในพื้นที่เพิ่มขึ้นจากเดิม (เพราะเรื่องมลพิษมีมานานและสะสมปริมาณไว้จำนวนมาก จึงไม่ควรเพิ่มของใหม่ให้มากขึ้นอีก)

กระทรวงต้องเร่งสร้างระบบความมั่นคงร่วม คือความมั่นคงทางเศรษฐกิจคู่กับความมั่นคงทางสังคม โดยการสร้างและเร่งผลักดันระบบเฝ้าระวัง-ตรวจสอบ-ชดเชยให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และเป็นระบบที่เห็นพ้องต้องกันระหว่างผู้ประกอบการหน่วยงานในพื้นที่ ท้องถิ่น และชุมชน โดยแต่ละพื้นที่ไม่จำเป็นต้องยึดโยงด้วยระบบที่เป็นรูปแบบมาตรฐานเดียวกัน และระบบดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงภาคประกอบการและภาคสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างไว้เนื้อเชื่อใจและมีความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม

          6. การปรับเปลี่ยนทัศนคติ/ กระบวนการทำงานของบุคลากรภาครัฐ การเผชิญกับการขยายตัวและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ในลักษณะของกระแสแห่งความเท่าเทียมความร่วมมือ และการสร้างเครือข่าย ตลอดจนการมุ่งสู่ระบบระหว่างประเทศมากขึ้น ไทยจึงควรปรับกระบวนการทำงานและระเบียบภายในให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ระบบราชการไทยถือเป็นกลไกที่สำคัญยิ่งในการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาให้บรรลุผล

แต่เนื่องจากการทำงานของราชการยังคงต้องรับผิดชอบและยึดหลักตามกฏหมายของหน่วยงาน จึงทำให้ไม่สามารถสนองตอบต่อความคาดหวัง ต่อความต้องการของสังคมที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ ทั้งในเรื่องความล่าช้า ประสิทธิภาพ การสูญเสียทรัพยากรทั้งคน เวลา และงบประมาณ (เนื่องจากยึดกฏระเบียบที่ไม่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และไม่ประหยัด)และส่งผลให้เกิดความขัดแย้ง เผชิญหน้า ระหว่างประชาชนและหน่วยงานราชการมากขึ้น

ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมควรมีการปรับวิธีการปฏิบัติงานให้รองรับความต้องการและปรับบทบาทให้เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ในระระเร่งด่วน (ที่ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง กระบวนการทำงาน กฏระเบียบ และทัศนคติได้) กระทรวงอุตสาหกรรมควรเร่งดำเนินการเรื่องนโยบายร่วมผ่านทางคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ ซึ่งเป็นแกนกลางที่จะประสานนโยบายหลาย ๆ สาขา หลาย ๆ ด้านที่มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน

รวมทั้งเพื่อให้ทำหน้าที่ผลักดันนโยบายร่วมกำกับ และประสานนโยบายเศรษฐกิจ โดยที่คณะกรรมการดังกล่าวจะต้องส่งเสริมในการวางแผนและบริหารนโยบายเศรษฐกิจของชาติ แต่การผลักดันนโยบายร่วมจะเกิดผลมากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับความจริงจังต่อเนื่องของการทำงานร่วมกัน

บทสรุป
          อาจกล่าวได้ว่าการพัฒนากับความมั่นคงเป็นสิ่งที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน การพัฒนาของกระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้รูปแบบยุทธศาสตร์กระทรวง 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การปรับโครงสร้างการผลิตและการวางฐานรากอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและพัฒนาอุตสาหกรรม การเสริมสร้างขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมให้แข่งขันได้ทุกระดับ การส่งเสริมอุตสาหกรรมที่รับผิดชอบต่อสังคม

บริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล และ การพัฒนาสมรรถนะและประสิทธิภาพองค์กรเพื่อสนองตอบความต้องการของผู้ประกอบการและประชาชน นั้น เชื่อมโยงสัมพันธ์กันกับนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ 5 นโยบายหลัก ได้แก่ การเสริมสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการประเทศการสร้างสมดุล มั่นคง ยั่งยืนในระดับฐานราก การสร้างสมดุลของการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และคุ้มครองสิทธิเหนือทรัพยากรชีวภาพ การพัฒนาศักยภาพการเตรียมความพร้อมแห่งชาติ และการสร้างสภาวะแวดล้อมที่สงบสันติในการอยู่ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาค

แต่ภายใต้บริบทแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศ จึงควรที่ภาครัฐต้องทบทวนบทบาท ภารกิจของตนเองควบคู่กับการวิเคราะห์ผลการพัฒนาที่ผ่านมา เพื่อนำไปสู่การกำหนด ปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาประเทศที่เหมาะสมสำหรับบทความนี้ได้ให้ข้อเสนอหรือจุดเน้นที่กระทรวงอุตสาหกรรมควรดำเนินการ รวม 6 แนวทาง ได้แก่ การพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาตนเองได้ การผลักดันระบบเศรษฐกิจพิเศษชายแดน การจัดตั้งและเสริมสร้าง

          ความเข้มแข็งของระบบกองทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม การเสริมสร้างระบบการพัฒนาความรู้ ความสามารถ ทักษะในการประกอบอาชีพ การพัฒนาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม และ การปรับเปลี่ยนทัศนคติ/ กระบวนการทำงานของบุคลากรภาครัฐ ทั้งนี้ เพื่อให้กระทรวงอุตสาหกรรมสามารถส่งเสริมอำนวยความสะดวก และลดอุปสรรคในการพัฒนา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่พึ่งพาตนเองของประชาชน และความมั่นคงของประชาชนที่เกิดขึ้นก็คือความมั่นคงของชาติในท้ายที่สุด

บรรณานุกรม
          ชัยอนันต์ สมุทวณิช. 100 ปี แห่งการปฏิรูประบบราชการ วิวัฒนาการของอำนาจรัฐและอำนาจการเมือง. (2554). พิมพ์ครั้งที่ 4. บริษัท. พี. เพรส จำกัด. กรุงเทพฯ.
          เสรี พงศ์พิศ. ปฏิรูปสังคมไทย. (2553). เจริญวิทย์การพิมพ์. กรุงเทพฯ.
          สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. จากปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ. (2551). บริษัท เพชรรุ่งการพิมพ์ จำกัด. นนทบุรี.

เอกสาร
การพัฒนานโยบายความมั่นคงแห่งชาติของกระทรวงอุตสาหกรรม (เอกสารประกอบการบรรยายหัวข้อวิชา
(3-16) การพัฒนานโยบายความมั่นคงแห่งชาติของกระทรวงอุตสาหกรรม ) วันที่ 20 กรกฎาคม 2554
ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร. กรุงเทพฯ.