เนื้อหาวันที่ : 2011-08-11 13:58:17 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3274 views

ตอบปัญหาคาใจ... โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (2)

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใครได้ ใครเสียประโยชน์ ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ และมาตรการระบบความปลอดภัยในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ไว้ใจได้จริงหรือ

โดย:นายชวลิต พิชาลัย
รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
และรองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์

 

          ในส่วนระบบความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์นั้น โดยทั่วไปจะเริ่มจากวัฒนธรรมความปลอดภัย หรือที่เรียกว่า Safety Culture  คือสร้างพฤติกรรมขององค์กรและบุคคลในองค์กรที่สะท้อนการได้รับการปลูกจิตสำนึกด้านความปลอดภัย ทั้งจากการอบรม การเรียนรู้ และการถ่ายทอด จนเกิดเป็นนิสัยและเจตคติที่ให้ความสำคัญต่อการระวังป้องกันเพื่อให้เกิดความปลอดภัย

มีการจัดทำคู่มือในการปฏิบัติงานระบุถึงวิธีการ ขั้นตอน ลำดับเวลา และผู้รับผิดชอบ โดยจะต้องพัฒนาทีมงานที่มีวินัยอย่างเคร่งครัด มีการสอบใบอนุญาตการเดินเครื่องของผู้ปฏิบัติงาน และทุก 2 ปีต้องมีการสอบใบอนุญาตอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้เกิดความมั่นใจด้านความปลอดภัย มีการฝึกอบรมที่ต่างประเทศในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จำลอง (Simulator) ที่มีการเดินเครื่องจริงจนเกิดประสบการณ์และมีความชำนาญเพียงพอ

          ขั้นตอนมาตรฐานระบบความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ตามที่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศกำหนดเรียกว่า 3S ประกอบด้วย Safety คือ ระบบความปลอดภัย ตั้งแต่การก่อสร้าง การเดินเครื่อง การบริหารจัดการเชื้อเพลิงใช้แล้วและกากกัมมันตภาพรังสี

ประการที่สองคือ Security ความมั่นคงปลอดภัย ก็จะมีกระบวนการและมาตรการป้องกันการโจรกรรม การก่อการร้าย การบุกรุก การทำความเสียหาย การลักขโมยวัสดุนิวเคลียร์ รวมถึงการขนย้าย และการเข้าถึงวัสดุนิวเคลียร์โดยไม่ได้รับอนุญาต สามคือ Safeguard การพิทักษ์ความปลอดภัย พิทักษ์คือดูแล จะมีการส่งเจ้าหน้าที่จากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศมาตรวจทุก 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1ปี ตามรอบของการตรวจสอบ เพื่อให้การบริหารจัดการความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ และการจัดการวัสดุนิวเคลียร์เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอ

• ทำลายสิ่งแวดล้อม-อาชีพ
          ประเด็นเรื่องการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ทำลายสิ่งแวดล้อมและกระทบถึงอาชีพ สังคม ชีวิตความเป็นอยู่ ระบบนิเวศ และรายได้ของคนในพื้นที่ที่ตั้งโรงไฟฟ้านั้น หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันดำเนินการก่อสร้าง การเดินเครื่อง และการจัดการกากกัมมันตรังสีที่ได้มาตรฐาน ป้องกันการรั่วไหลของรังสี โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ก็จะเกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่น และประเทศชาติอย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยลดโลกร้อนแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้จากการขายไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าฯ 1 โรงขนาด 1,000 เมกะวัตต์จะสามารถสร้างรายได้จากการผลิตไฟฟ้าถึง 24,000 ล้านบาทต่อปี และท้องถิ่นยังมีรายได้ในรูปของภาษีจากการจดทะเบียนของโรงไฟฟ้าฯ ในท้องถิ่นอีกด้วย

          นอกจากนี้ หากมองผลตอบแทนที่ได้จากโรงพลังงานนิวเคลียร์ด้านอื่นๆ อีก จะพบว่า ชาวบ้านได้ผลตอบแทนจากการจ้างงานภายในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น จะมีโครงการที่เป็นการตอบแทนคืนสิ่งแวดล้อมคืนสู่สังคมที่เป็น CSR (Corporate Social Responsibility) เช่น การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพิ่ม การปลูกป่าเพื่อช่วยลดโลกร้อน และยังมีการมีกองทุนพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า สำหรับโรงไฟฟ้าขนาด 1,000 เมกะวัตต์ซึ่งหากเรียกเก็บในอัตราอย่างน้อย 2 สตางค์ต่อหน่วยเช่นเดียวกันโรงไฟฟ้าถ่านหินก็จะได้เงินในการพัฒนาชุมชนทั้งการศึกษา การสาธารณสุข และการพัฒนาหมู่บ้าน ได้ถึงปีละอย่างน้อย 150 ล้านบาท และระหว่างก่อสร้างโรงไฟฟ้ายังได้เงินสนับสนุนปีละ 50 ล้านบาทอีกด้วย

          ทั้งนี้ข้อกังวลในเรื่องอุณหภูมิน้ำที่แตกต่างระหว่างเข้าและออกในการระบายความร้อนนั้น ทางโรงไฟฟ้าก็ต้องดำเนินการไม่ให้ความแตกต่างเกิน  2 องศาอยู่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ไม่เช่นนั้นก็จะไม่ผ่านการพิจารณาด้านการประเมินวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จาก สผ. หรือสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้ไม่ได้รับใบอนุญาตในการประกอบการ

• ชาวบ้านเกษตรกรไม่ได้ประโยชน์
          สำหรับประเด็นที่มักตั้งคำถามว่า โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์สร้างเพื่อใคร เพราะส่วนใหญ่ชาวบ้านหรือเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าฯ ได้ใช้ประโยชน์จากไฟฟ้าที่ผลิตได้นี้น้อยมากเมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ซึ่งมีการใช้ไฟฟ้ามากถึง 70% ของปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ทั้งหมด เรื่องนี้ต้องมองภาพแบบเป็นองค์รวมในลักษณะของการพึ่งพาอาศัยกัน เป็นประเทศชาติทั้งระบบได้ประโยชน์ แม้ภาคเกษตรเองก็ได้รับประโยชน์จากภาคอุตสาหกรรมที่นำสินค้าเกษตรไปแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปของเกษตรอุตสาหกรรม ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจก็สามารถสร้างรายได้ทำให้รัฐสามารถเก็บภาษีนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ

          นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่มักพูดถึงกัน เช่น ทำไมการประหยัดพลังงานโดยให้รัฐเน้นส่งเสริมการจัดการด้านการใช้พลังงาน (Demand Side Management : DSM)  รวมทั้งการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนไม่เพียงพอหรือ ซึ่งเรื่องนี้ตามแผนอนุรักษ์ และประหยัดพลังงานของกระทรวงพลังงานก็ได้มีการสนับสนุน ส่งเสริม รณรงค์มาตรการประหยัดพลังงานต่างๆ ทั้งภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และครัวเรือนอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ซึ่งกระทรวงพลังงานให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นลำดับแรกๆ เนื่องจากเป็นการลงทุนน้อยแต่ให้ผลตอบแทนสูงสุด

ส่วนเรื่องพลังงานทดแทน หรือพลังงานหมุนเวียนนั้นก็มีระบุในแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี (พ.ศ.2551 – 2565) และแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยในระยะยาว (พ.ศ.2553 – 2573) หรือเรียกว่าแผน PDP 2010 อยู่แล้วไม่ว่าจะเป็น พลังงานระบบโคเจนเนอเรชั่นผลิตไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกัน หรือโรงไฟฟ้าผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) หรือขนาดเล็กมาก (VSPP) โดยส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น แกลบ ชานอ้อย เศษไม้ กะลาปาล์ม พลังงานจากลม แสงอาทิตย์ และก๊าซชีวภาพ เป็นต้น แต่ประเด็นคือแม้จะมีการประหยัดพลังงานและใช้พลังงานหมุนเวียนแล้วอย่างเต็มที่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

          อย่างไรก็ดี การตอบคำถามโจทย์ของภาคประชาชนที่ตั้งขึ้นมานี้อาจไม่เพียงพอต่อการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ จำเป็นที่จะต้องพิจารณาบริบทโดยรอบ เช่นสถานการณ์ของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์โลก ที่ปัจจุบันทั่วโลกมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เดินเครื่องอยู่ 436 โรงใน 30 ประเทศ อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 52 โรง ประเทศที่มีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มากที่สุด 3 อันดับแรกคือ สหรัฐฯ มีถึง 104 โรง รองลงมาคือ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น มี 58 และ 53 โรงตามลำดับ

โดยในกลุ่มประเทศอาเซียนไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งหากประเทศไทยสามารถเดินตามแผนการก่อสร้างได้ก็คาดว่าจะมีพลังงานนิวเคลียร์โรงแรกใช้ได้ประมาณปี 2563 ไล่เลี่ยกับสมาชิกอาเซียนอื่นๆ

          สำหรับประเทศเวียดนามมีความคืบหน้ามากพอควร ขณะนี้ได้กำหนดที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ทั้งหมด 4 โรงจำนวน 4,000 เมกะวัตต์ โดยมีที่ตั้งที่เมืองเหนอถ่วนตอนใต้ของประเทศเวียดนาม และห่างจากจังหวัดอุบลราชธานีของไทยเพียงประมาณ 500 กิโลเมตรเท่านั้น

          จากสถานการณ์ของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ทั่วโลก  จะเห็นว่าในหลายๆ ประเทศต่างก็เดินหน้าแผนการตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แล้ว  ดังนั้นในบทสุดท้าย (ตอนที่ 3) จะอธิบายถึงบริบทของสถานการณ์พลังงานไทยซึ่งภาครัฐโดยกระทรวงพลังงานได้วิเคราะห์เหตุผลและความจำเป็นของการคิดใช้พลังงานนิวเคลียร์

 ที่มา : สำนักนโยบายแลแผนพลังงาน