เนื้อหาวันที่ : 2011-08-09 17:39:47 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2255 views

สธ.จับมือภาคอุตฯ ระดมทีมแพทย์ลงพื้นที่มาบตาพุด

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสมาคมเพื่อนชุมชน ระดมทีมบุคลากรทางการแพทย์ลงพื้นที่มาบตาพุด ดูแลสุขภาพประชาชนในเขตอุตสาหกรรมและพื้นที่ใกล้เคียง

          กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสมาคมเพื่อนชุมชน ระดมทีมบุคลากรทางการแพทย์ลงพื้นที่มาบตาพุด ดูแลสุขภาพประชาชนในเขตอุตสาหกรรม

          กระทรวงสาธารณสุข และสมาคมเพื่อนชุมชนประกอบด้วย 5 บริษัทอุตสาหกรรม ร่วมลงนามความร่วมมือจัดจ้างบุคลากรทางการแพทย์ ได้แก่ แพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข และนักเทคนิคการแพทย์ 60 คน เข้าทำงานในพื้นที่มาบตาพุด และใกล้เคียงให้บริการดูแลสุขภาพประชาชนในเขตอุตสาหกรรมในจังหวัดระยอง อย่างเพียงพอ โดยจ้างเป็นเวลา 3 ปี เป็นเงิน 11 ล้านบาทเศษ เริ่ม 1 สิงหาคม 2554 เป็นต้นไป

          เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา ที่สำนักงานการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดจ้างบุคลากรทางการแพทย์ กับสมาคมเพื่อนชุมชน (ภาคอุตสาหกรรม) ประกอบด้วย 5 บริษัทได้แก่ กลุ่มบริษัท ปตท.เคมีคอล จำกัด, บริษัท มาบตาพุด โอเลฟินส์ จำกัด (ในเครือ เอสซีจี เคมีคอลส์), บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด, บริษัท ดาว เคมีคอล ประเทศไทย และบริษัท โกล์ว จำกัด เพื่อให้บริการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชนในพื้นที่มาบตาพุดบรรเทาปัญหาขาดแคลนบุคลากร

          ตามโครงการความร่วมมือครั้งนี้ จะจ้างบุคลากรทางการแพทย์ รวมประมาณ 60 คน ปฏิบัติงานปีต่อปี เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่พ.ศ. 2554-2557 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2554 เป็นต้นไป เพื่อให้มีอัตรากำลังแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้การดูแลสุขภาพประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เขตอุตสาหกรรม มาบตาพุด ช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนบุคลากรในระยะสั้น โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยองจะทำหน้าที่สรรหารับสมัครบุคลากรทางการแพทย์ แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับข้อตกลงและสถานที่ปฏิบัติงาน จัดอบรมให้ความรู้ที่จำเป็นให้กับพยาบาลประจำศูนย์อาชีวเวชศาสตร์ และติดตามดูแลการทำงาน

          ส่วนสมาคมเพื่อนชุมชน จะให้การสนับสนุนงบประมาณจ้าง รวมเป็นเงินจำนวน 11,880,000 บาท ประกอบด้วย 1. โรงพยาบาลมาบตาพุด จ้างพยาบาล จำนวน 25 คน ค่าตอบแทนคนละ 15,000 บาทต่อเดือน 2. ศูนย์อาชีวเวชศาสตร์ จ้างพยาบาลจำนวน 8 คน ค่าตอบแทนคนละ 15,000 บาทต่อเดือน นักเทคนิคการแพทย์จำนวน 10 คน ค่าตอบแทนคนละ 12,500 บาทต่อเดือน และนักวิชาการสาธารณสุข จำนวน 10 คน ค่าตอบแทนคนละ 12,500 บาทต่อเดือน

3.จ้างแพทย์ประจำศูนย์บริการสาธารณสุขชุมชนเนินพยอม ศูนย์บริการสาธารณสุขชุมชนห้วยโป่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านพยูน แห่งละ 1 คน คนละ 60,000 บาทต่อเดือน และ จ้างทีมสุขภาพประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่อื่นๆ ให้บริการนอกเวลาราชการในคลินิกรุ่งอรุณ ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเนินพระ เดือนละ 60,000 บาท อีกทั้งสมาคมฯ ยังมีส่วนร่วมในการคัดเลือกแพทย์ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ และนักวิชาการสาธารณสุข เข้าร่วมโครงการฯด้วย

          นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างการขยายบริการของโรงพยาบาลมาบตาพุด จากเดิมซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง จะก่อสร้างเพื่อขยายให้เป็นโรงพยาบาลขนาด 200 เตียง และเป็นโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชศาสตร์ตามมติของคณะรัฐมนตรี เพื่อดูแลรักษาโรคที่เกิดจากมลพิษสิ่งแวดล้อมโดยตรง ขณะนี้การก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วร้อยละ 50 คาดว่าจะแล้วเสร็จใน พ.ศ.2555

และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบใน พ.ศ. 2556 โดยกระทรวงสาธารณสุขจะต้องจัดอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอ โดย
กำหนดให้มีแพทย์ 34 คน พยาบาล 180 คน แต่ปัจจุบันโรงพยาบาลมาบตาพุดมีแพทย์ 8 คน และ พยาบาล 58 คน ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยองได้ประสานกับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมจัดตั้งกองทุนสุขภาพ และให้ทุนเรียนพยาบาลจำนวน 200 ทุน โดยพิจารณาผู้ที่อยู่ในเขตควบคุมนี้เป็นอันดับแรก

          นายแพทย์ปรเมษฐ์ กิ่งโก้ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระยอง กล่าวว่า ในปี 2554 นี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยองได้ดำเนินการตรวจสุขภาพประชาชนและพนักงานที่อยู่ในเขตควบคุมมลพิษ เป้าหมาย 20,000 คน เพื่อเฝ้าระวังผลกระทบจากมลพิษสิ่งแวดล้อม ผลการตรวจล่าสุดตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2554 ได้รับการตรวจสุขภาพแล้วจำนวน 13,454 คน โดยตรวจเลือดดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดและตรวจการทำงานของตับ ไต ผลการตรวจส่วนใหญ่ปกติ โดยพบการทำงานของไตผิดปกติ ร้อยละ 3 ตับทำงาน ผิดปกติ ร้อยละ 5 ส่วนผลตรวจปัสสาวะเพื่อหาโลหะหนัก ผลส่วนใหญ่ปกติ โดยตรวจพบสารตะกั่ว ร้อยละ 2

พบสารปรอท ร้อยละ 5 พบสารหนูอนินทรีย์ ร้อยละ 2 และพบอนุพันธ์ของสารเบนซินร้อยละ 12
          พื้นที่ที่ตรวจพบอนุพันธ์ของสารเบนซินในปัสสาวะมากที่สุด คือ มาบข่า-สำนักอ้ายงอน ร้อยละ 24 รองลงมาคือ ซอยร่วมพัฒนา ร้อยละ 23 และชุมชนตากวน-อ่าวประดู่ ร้อยละ 22 ซึ่งแพทย์ได้ทำการรักษาและติดตามประเมินผล อย่างต่อเนื่อง