เนื้อหาวันที่ : 2011-08-08 16:18:48 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2884 views

อุปกรณ์ฉุกเฉินที่ควรมีติดไว้ในรถ

อุปกรณ์ฉุกเฉินประจำรถ เป็นเครื่องมือสำคัญและจำเป็นที่จะช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากรณีรถเสียระหว่างเดินทาง แต่ผู้ใช้รถส่วนใหญ่มักมองข้าม

          
          นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า อุปกรณ์ฉุกเฉินประจำรถ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากรณีรถเสียในระหว่างการเดินทางได้ แต่ผู้ใช้รถส่วนใหญ่มักมองข้ามและไม่เห็นความสำคัญ

          เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะเจ้าของรถให้จัดเตรียมอุปกรณ์ฉุกเฉินที่จำเป็นไว้ประจำรถสำหรับใช้กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ดังนี้

          • แม่แรง ประแจขันล้อ และยางอะไหล่ ใช้สำหรับเปลี่ยนยางรถยนต์ กรณียางแตก ยางระเบิด ซึ่งเจ้าของรถควรศึกษาวิธีใช้งานในเบื้องต้น และตำแหน่งที่จัดเก็บ พร้อมตรวจสอบยางอะไหล่ให้มีลมยางในระดับที่เหมาะสมและพร้อมใช้งานอยู่เสมอ

          • สายพ่วงแบตเตอรี่รถยนต์ ควรมีติดไว้ในรถตลอดการเดินทางแม้แบตเตอรี่รถจะใช้งานได้ตามปกติก็ตาม เพราะในระหว่างการเดินทาง หากเกิดปัญหาแบตเตอรี่เสื่อมสภาพ ก็สามารถนำมาใช้งานได้ด้วยการต่อพ่วงขั้วแบตเตอรี่กับรถคันอื่น โดยต่อขั้วบวกกับขั้วบวกและขั้วลบกับขั้วลบ

          • ถังดับเพลิงขนาดเล็ก ใช้สำหรับดับเพลิงกรณีเกิดเพลิงไหม้รถจากสาเหตุต่างๆ เช่น สายไฟช็อต น้ำมันรั่วไหล เหมาะสำหรับใช้งานกรณีเกิดเปลวไฟขนาดเล็กที่เพิ่งเริ่มก่อตัว แต่หากไฟลุกลามรุนแรง ให้รีบออกห่างจากรถโดยเร็วที่สุด ในการติดตั้งถังดับเพลิงภายในรถให้วางไว้ในตำแหน่งที่หยิบใช้งานสะดวก ไม่วางไว้ใต้เบาะนั่งคนขับโดยไม่มีที่ยึดติดเพราะอาจกลิ้งไปติดแป้นเบรกและคันเร่ง ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้

          • ไฟเตือนระวังหลัง สามเหลี่ยมสะท้อนแสง ใช้สำหรับกรณีรถยนต์ขัดข้อง และต้องจอดรถริมข้างทางโดยเฉพาะช่วงกลางคืน ในการใช้งานให้วางไว้ในตำแหน่งที่ผู้ใช้เส้นทางรายอื่นมองเห็นได้อย่างชัดเจนในระยะไกล จะได้เพิ่มความระมัดระวังและเปลี่ยนช่องทางเดินรถได้ทัน

          • ชุดอุปกรณ์ลาก พ่วง จูง เช่น เชือก ลวดสลิง เป็นต้น ใช้สำหรับลากจูงกรณีรถเสียหรือประสบอุบัติเหตุ โดยให้ผูกไว้กับส่วนที่แข็งแรงที่สุดของโครงสร้างรถที่สำคัญ

          ก่อนออกเดินทาง นอกจากผู้ขับขี่ต้องจัดเตรียมอุปกรณ์ฉุกเฉินประจำรถให้ครบถ้วนและตรวจสอบให้อยู่ในสภาพ พร้อมใช้งานแล้ว ควรเตรียมไฟฉายและชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน และควรศึกษาวิธีใช้อุปกรณ์ฉุกเฉินแต่ละชนิด เพื่อสามารถใช้งานได้ทันทีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน

ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, กระทรวงมหาดไทย