เนื้อหาวันที่ : 2011-08-08 08:58:08 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1235 views

คนไทยกว่าครึ่งเชื่อมือรัฐบาลใหม่ มั่นใจศก.ดีขึ้น

คนไทยกว่าครึ่งคาด เศรษฐกิจจะดีขึ้น ระบุเชื่อมั่นนโยบายและฝีมือรัฐบาลใหม่

          นิด้าโพลสำรวจประชาชนทั่วประเทศ พบ 56.73% คาดว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นภายใต้การบริหารของรัฐบาลชุดใหม่ในจำนวนนี้ ระบุเหตุผล เป็นเพราะพรรคเพื่อไทยมีนโยบายที่เป็นประโยชน์และน่าจะปฏิบัติได้จริง อีกทั้งมีคณะทำงานที่มีประสบการณ์และความสามารถทางด้านเศรษฐกิจ โดย 43.74 % คาดว่าชีวิตความเป็นอยู่ของตนจะดีขึ้น แต่มีถึง 29.58% คาดว่าเหมือนเดิม สำหรับการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าแพง ประชาชน 38.34 % เชื่อมั่นแก้ไขได้ ส่วนอีก 34.43% คาดแก้ไขได้ยากเพราะเมื่อสินค้าราคาขึ้นแล้วลงยาก อีกทั้งการขึ้นราคาเป็นไปตามกลไกตลาด ในขณะที่ 27.23 % ระบุไม่แน่ใจ

          ศูนย์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “รัฐบาลชุดใหม่กับความคาดหวังของประชาชนด้านเศรษฐกิจ” ระหว่างวันที่ 2 – 4 สิงหาคม 2554 จากประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวน 1,278 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกภูมิภาค ทุกระดับการศึกษาและกลุ่มอาชีพ มีความคลาดเคลื่อนมาตรฐานไม่เกินร้อยละ 3.74

บทวิเคราะห์เรื่องความคาดหวังด้านเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลชุดใหม่
           สิ่งที่คนไทยกำลังจับตามองและรอคอยความหวังจากรัฐบาลชุดใหม่มากที่สุดขณะนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจากผลการสำรวจของนิด้าโพล แสดงให้เห็นว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยมีความคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น และส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันหลายมิติ และมีปัจจัยเกี่ยวข้องมากมาย แน่นอนการแก้ไขย่อมเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา ซึ่งภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ ทิศทางเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข รองคณบดี ฝ่ายวิชาการ และ อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้วิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

          “เศรษฐกิจไทยขณะนี้อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ต้องเผชิญกับความเสี่ยงทั้งจากปัจจัยภายในและต่างประเทศหลายประการ แต่หัวใจสำคัญของการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อรองรับความท้าทายเหล่านั้น อยู่ที่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จึงคาดเดาได้ว่า ไม่ว่าพรรคใดจะเป็นรัฐบาล บทบาทของภาครัฐต่อระบบเศรษฐกิจและการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะมีมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยมีการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ รวมถึงประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เป็นเงื่อนไขบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะมีทิศทางอย่างไร

          นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ไม่สามารถพึ่งพาภาคการส่งออกในการขับเคลื่อนให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้มากและต่อเนื่องอย่างในอดีต ก็ทำให้การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องอาศัยการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะภาคการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน

          ดังนั้นทิศทางเศรษฐกิจในช่วงต่อไปน่าจะสามารถรักษาระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อเนื่องต่อไปโดยการปรับเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ ในขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงสูงที่ต้องเผชิญแรงกดดัน จากภาวะเงินเฟ้อที่จะปรับเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ภายในประเทศจากนโยบายที่กระตุ้นอุปสงค์ภายใน รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อด้วย”

          ผศ.ดร. สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข ยังวิเคราะห์ต่อไปอีกว่า เนื่องจากบทบาทของภาครัฐจะมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยเฉพาะด้านการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเพื่อสนับสนุน และดึงดูดการลงทุนในภาคเอกชน การที่รัฐบาลมีเอกภาพและมีเสถียรภาพจึงเป็นความได้เปรียบในการผลักดันให้โครงการลงทุนที่จำเป็น และเป็นประโยชน์เกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ โครงการที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหลายหน่วยงานก็จะสามารถประสาน และสนับสนุนเกื้อหนุนกันได้โดยสะดวก

          การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลให้เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียรวมทั้งประเทศไทย มีบทบาทสำคัญมากขึ้นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโลก ทำให้เศรษฐกิจไทยเป็นที่น่าสนใจเขามาลงทุนในภาคส่วนต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยอาจต้องเผชิญแรงกดดัน อย่างน้อยในระยะสั้นจากการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

ประกอบกับการที่เศรษฐกิจไทยยังคงต้องแบกรับภาระต้นทุนที่ไม่จำเป็นจากปัญหาการขาดประสิทธิภาพในระบบโลจิสติกส์โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการขนส่ง ปัญหาการกระจุกตัวของความเจริญและการพัฒนา ปัญหาคอรัปชั่น ความไม่โปร่งใส และปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและรายได้ เหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่รัฐต้องมีบทบาทมากขึ้นในทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ โครงสร้างประชากรที่ไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้ชรา ก็อาจมีผลบั่นทอนศักยภาพทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการขาดแคลนแรงงานทั้งแรงงานทักษะสูงและต่ำ รวมทั้งการเพิ่มภาระของภาครัฐในรูปสวัสดิการสังคมที่ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศกำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน  
 
ที่มา : นิด้าโพล