เนื้อหาวันที่ : 2011-08-05 14:59:48 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1515 views

อุตฯ เตือนรบ.รอบคอบขึ้นค่าแรง 300 หวั่น SMEs เจ๊งนับพัน

อุตสาหกรรม เตือนนโยบายขึ้นค่าแรง อาจทำไทยสูญเงินนับแสนล้าน ฉุดความสามารถการแข่งขัน ชี้รัฐต้องจ่ายส่วนต่างเอง

           อุตสาหกรรม เตือนนโยบายขึ้นค่าแรง อาจทำไทยสูญเงินนับแสนล้าน ฉุดความสามารถการแข่งขัน ชี้รัฐต้องจ่ายส่วนต่างเอง

           อุตสาหกรรม เตือน รบ. ขึ้นค่าแรง 300 อย่างเป็นระบบ หวั่นกระทบธุรกิจส่งออกรุนแรงอาจเจ๊งนับ 1,000 ราย ชี้ ทำศก.ไทยสูญเงินนับแสนล้าน แนะ 3 ทางออก ตั้งกก.ไตรภาคีดูแล พร้อมชี้ช่องรัฐเข้าชดเชยส่วนต่างโดยตรงแก่แรงงานแทน
 
           งานแถลงข่าว “ผลกระทบ 300 บาท เรื่องจริงที่ต้องฟัง” จัดโดย 12 สมาคมอุตสาหกรรม รวม 2,273 สมาชิก ประกอบด้วย สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย 330 ราย, กลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 130 ราย, สมาคมเครื่องเขียนและเครื่องใช้สำนักงานไทย 400 ราย, สมาคมสินค้าของตกแต่งบ้าน 445 ราย, สมาพันธ์ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ไทย , สมาคมไทยพัฒนาการปลูกป่าเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไม้ 200 ราย, สมาคมโรงเลื่อยจักร 60 ราย, สมาคมการค้าเครื่องใช้ในครัวเรือนไทย 116 ราย, สมาคมอุตสาหกรรมของเล่นไทย 120 ราย, สมาคมของขวัญของชำร่วยไทยและของตกแต่งบ้าน 300 ราย, สมาคมธุรกิจไม้ 120 ราย, และสมาคมอุตสาหกรรมไม้ยางพาราภาคตะวันออก 52 ราย
         
          นายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย เปิดเผยว่า จากกรณีที่รัฐบาลใหม่มีนโยบายกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทนั้น 12 สมาคมอุตสาหกรรมได้ประชุมเพื่อหารือผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว โดยพบว่าผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิก 12 สมาคม ซึ่ง 95% เป็นผู้ประกอบการ SME และ 5% เป็นอุตสาหกรรมใหญ่ โดย 50% ของสมาชิกเป็นผู้ประกอบการส่งออก ที่จะได้รับผลกระทบทันทีและรุนแรง เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมในกลุ่มที่มีมูลค่าการส่งออก 107,680 ล้านบาท/ปี และมีอัตราการจ้างแรงงาน 972,000 คน ดังนั้นถ้าปรับค่าแรงเป็น 300 บาทต่อวัน จะทำให้ต้นทุนค่าแรงสูงขึ้น 35-40% ซึ่งยังไม่รวมต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับสูงขึ้นตามกลไกของวัตถุดิบ ดังนั้นคาดว่าจะทำให้ต้นทุนรวมสูงขึ้นจากฐานเดิม 12-16% ส่งผลให้ต้องขึ้นราคาขายสินค้า

ในขณะที่คู่แข่งของไทยในตลาดโลก ทั้งจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย ไม่มีการปรับราคา ผลที่ตามมาคือ ไทยถูกยกเลิกคำสั่งซื้อ และอาจทำให้ประเทศเสียหายนับแสนล้าน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และเครื่องนุ่งห่ม ที่มีอัตราการจ้างแรงงานมาก และเป็นรายได้หลักของประเทศ อาจได้รับผลกระทบมากแน่นอน

          “ในส่วนผลกระทบต่อเนื่องสู่เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เมื่อการส่งออก ซึ่งรายได้หลักของประเทศลดลง นำไปสู่เงินไหลเข้าประเทศน้อยลง ส่งผลต่อกำลังซื้อโดยรวมของประเทศ เช่นเดียวกับประเทศกรีซ ที่มีปัญหามาจากการแข่งขันนโยบายประชานิยมของพรรคการเมือง โดยไม่คำนึงถึงความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก สุดท้ายนำไปสู่จุดจบของเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบอัตราค่าแรงขั้นต่ำของไทยกับประเทศคู่แข่งในอุตสาหกรรม พบว่าไทยมีอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่สูงอยู่แล้ว ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับเวียดนาม อินโดนีเซีย ยังถือว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำของไทยสูงกว่าเป็นเท่าตัว” นายอารักษ์ กล่าว

12 สมาคมอุตสาหกรรมมีข้อนำเสนอต่อการดำเนินนโยบายการขึ้นค่าแรง 300 บาท 3 แนวทาง ได้แก่
          1.สมาคมเข้าใจปัญหาผู้ใช้แรงงาน แต่ผลกระทบที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ จึงไม่เห็นด้วยกับการนำนโยบายนี้มาใช้อย่างทันทีทันใด แต่เห็นด้วยที่จะใช้รูปแบบของคณะกรรมการไตรภาคีตามกฎหมาย (นายจ้าง ตัวแทนลูกจ้าง และตัวแทนจากกระทรวงแรงงาน) ขึ้นมาพิจารณาค่าแรงดังเดิม โดยจะต้องปราศจากการแทรกแทรงทางการเมือง

          2.ขอเสนอให้มีการประชุมร่วมกัน เพื่อกำหนดการปรับค่าแรงอย่างมีระบบและเป็นขั้นบันไดตามที่คณะกรรมการไตรภาคีเห็นชอบ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวและอยู่รอดได้ในตลาดโลก

          3. 12 สมาคมเห็นด้วยในการเพิ่มคุณภาพชีวิตแรงงาน โดยรัฐบาลจะต้องให้การช่วยเหลือด้านการเงินแก่แรงงานโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านผู้ประกอบการ ซึ่งอาจจะจ่ายผ่านรูปแบบของประกันสังคม (คล้ายกับการจ่ายสงเคราะห์บุตร) ที่ไม่ส่งผลต่อราคาสินค้าต่างๆ ที่จะต้องก้าวกระโดดจากการปรับค่าแรง รวมถึงเป็นการลดปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง อีกทั้งไม่กระทบต่อค่าแรงของแรงงานต่างด้าว ที่ต้องปรับตามตามสนธิสัญญาสากลด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลสามารถลดการชดเชยลงตามการปรับตัวของค่าแรงตามมติคณะกรรมการไตรภาคี”

          หากรัฐบาลยังคงดำเนินนโยบายการขึ้นค่าแรง 300 บาท โดยไม่มีมาตรการตามที่ 12 สมาคมนำเสนอ เชื่อว่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรง และคาดว่าจะมีผู้ประกอบในสมาชิกจำนวนกว่า 1,000 ราย ที่ต้องปิดดำเนินการ นั่นหมายถึงจำนวนของผู้ตกงานก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน