เนื้อหาวันที่ : 2011-07-29 15:42:47 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 891 views

แนวโน้มปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯและกลยุทธ์การลงทุน

          แนวโน้มปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯและกลยุทธ์การลงทุน

          คาดสหรัฐฯไม่ยอมผิดนัดชำระหนี้แต่มีความเสี่ยงเรื่องการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ เราประเมินแนวทางของผลการเจรจาเพื่อขยายเพดานหนี้ของรัฐสภาสหรัฐฯไว้ 3 แนวทาง คือ
          1. ขยายเพดานหนี้ทันเวลาวันที่ 2 ส.ค. – มีโอกาสเกิดมากที่สุดและเป็นกรณีที่ดีที่สุด

          2. ขยายเพดานหนี้ไม่ทันวันที่ 2 ส.ค. แต่จะขยายได้ภายหลังจากนั้นไม่นานและไม่ผิดนัดชำระหนี้ – มีโอกาสเกิดขึ้นปานกลาง ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านลบต่อตลาดการเงินในระยะสั้นแต่ไม่มากนัก

          3. ผิดนัดชำระหนี้ – มีโอกาสเกิดน้อยที่สุด แต่หากเกิดขึ้นจะกระทบต่อตลาดการเงินมากที่สุด

          ความเสี่ยงสำคัญของสหรัฐฯ คือ การถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งเกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ 1) ถูกลดอันดับความน่าเชื่อ เนื่องจากไม่สามารถขยายเพดานหนี้ได้ทันวันที่ 2 ส.ค.ซึ่งคาดว่าจะเป็นการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือเพียงระยะสั้น 2) ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ เนื่องจาก แผนการลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลสหรัฐฯต่ำกว่าระดับที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต้องการ ซึ่งกรณีหลังนี้จะมีผลกระทบมากกว่ากรณีแรก และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อราคาพันธบัตรสหรัฐฯ และ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ผลกระทบในเชิงลบดังกล่าวจะต่ำกว่ากรณีที่สหรัฐฯผิดนัดชำระหนี้

เนื่องจาก เราประเมินว่า นักลงทุนที่เป็นผู้ถือครองพันธบัตรสหรัฐฯส่วนใหญ่ ได้แก่ จีน และ ญี่ปุ่น จะไม่เทขายพันธบัตรสหรัฐฯที่ถือครองอยู่ออกมา เนื่องจากเป็นการสร้างความเสียหายให้กับตัวเอง ซึ่งประเทศญี่ปุ่นก็เคยถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลงจาก AAA เหลือ AA- เหมือนกันในอดีต แต่แรงขายพันธบัตรมีไม่มากเนื่องจากผู้ถือพันธบัตรส่วนใหญ่เป็นญี่ปุ่นเอง แต่อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรสหรัฐฯจะปรับตัวขึ้นสะท้อนอันดับความเสี่ยงที่ลดลง ซึ่งพิจารณาได้จากระดับค่าประกันความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี (CDS) ของสหรัฐฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงนี้

          ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯได้สะท้อนปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯไปบ้างแล้ว เราประเมินว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ได้สะท้อนความกังวลเกี่ยวกับเรื่องปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯไปพอสมควรแล้ว หลังจาก Dollar index อ่อนค่าแล้ว 3% นับตั้งแต่ระดับ 76 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินในเอเชียแข็งค่าขึ้นมากที่สุดในรอบ 14 ปี โดยล่าสุด ค่าเงินเยน และ ค่าเงินบาท อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 78 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และ 29.74 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ หรือแข็งค่าขึ้นในช่วงเดียวกัน 4% และ 2% ตามลำดับ

แนวโน้มเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะผันผวนมากในช่วงวันนี้จนถึงวันที่ 2 ส.ค. เราคาดว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯมีโอกาสผันผวนสูงมากในช่วงหลังจากทราบผลการขยายเพดานหนี้ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นได้ภายในสัปดาห์นี้ถึงวันที่ 2 ส.ค. ซึ่งทิศทางของเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะขึ้นกับสถานการณ์ ดังนี้

          - ผลออกมาในเชิงบวก ได้แก่ แนวทางที่ 1 คาดว่า จะส่งผลดีต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯในระยะสั้น ซึ่งอาจส่งผลให้นักเก็งกำไรที่ Short ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯไว้มีโอกาสทำ Short covering ซึ่งจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นเทียบกับค่าเงินในเอเชีย ทั้งนี้ประเมินระดับค่าเงินบาทว่ามีโอกาสอ่อนค่าได้มากที่สุดที่ 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

          - ผลออกมาในเชิงลบ คือ แนวทางที่ 2 รวมถึง กรณีที่สหรัฐฯถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือจะส่งผลลบต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯให้อ่อนค่าต่อเนื่องไปอีกสักระยะหนึ่งจนกว่าตลาดฯจะเริ่มลดความกังวล ทั้งนี้ ประเมินค่าเงินบาทว่ามีโอกาสแข็งค่าได้ถึง 29.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

          - ผลออกมาในเชิงลบมาก คือ แนวทางที่ 3 จะส่งผลกระทบต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯและตลาดการเงินอย่างรุนแรง

          ผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย – เราประเมินว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นมีโอกาสผันผวนซึ่งจะขึ้นกับทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯเป็นหลัก เนื่องจากมีผลกระทบต่อทิศทางเงินทุนจากต่างประเทศ แต่เรายังคงมีมุมมองในเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปีว่าดัชนีฯมีโอกาสปรับตัวขึ้นถึง 1200 จุดได้ เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานที่ดีกว่าในฝั่งสหรัฐฯและยุโรปซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนเงินทุนไหลเข้าต่อเนื่อง ทั้งนี้ แนวโน้มตลาดหุ้นในระยะสั้นแบ่งออกได้เป็น 3 กรณี ได้แก่

          กรณีที่ 1 – ผลการเจรจาขยายเพดานหนี้สำเร็จ คาดว่าจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้น ซึ่งในระยะสั้นตลาดหุ้นไทยมีโอกาสปรับตัวลดลง เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติมีโอกาสขายทำกำไรระยะสั้นจากส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยน ดัชนีฯมีโอกาสลดลงไปที่ระดับ 1080 จุด ซึ่งเป็นต้นทุนเฉลี่ยของนักลงทุนต่างชาติในรอบนี้

          กรณีที่ 2 - สหรัฐฯถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าต่อเนื่องอีกสักระยะหนึ่ง ส่งผลให้ค่าเงินในเอเชียแข็งค่าต่อเนื่องจากเงินทุนไหลเข้า ดัชนีฯมีโอกาสปรับตัวขึ้นไปถึงระดับ 1150 จุด

          กรณีที่ 3 – สหรัฐฯผิดนัดชำระหนี้ คาดว่า ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสปรับตัวลดลงแรง ประเมินว่าอาจลดลงไปได้ถึง 1060-1030 จุด

          กลยุทธ์การลงทุน – หากนำสถานการณ์ที่กล่าวมาทั้งหมดมาประเมินหา Risk / Reward ของตลาดหุ้นไทยในขณะนี้ พบว่า ตลาดฯมี Upside gain น้อยกว่า Downside risk ในขณะที่การซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในช่วงหลังทราบผลการเลือกตั้งมีมูลค่าสะสมเท่ากับ 35,706 ล้านบาท ต่ำกว่าที่เคยขายสุทธิออกไปที่ประมาณ 40,000 ล้านบาท ทำให้คาดว่าแรงซื้อคืนในระยะสั้นน่าจะลดลง ดังนั้น จึงแนะนำ ให้นักลงทุนทยอยขายทำกำไรหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมามากกว่าตลาดฯ

ที่มา : ธนาคารไทยพาณิชย์