เนื้อหาวันที่ : 2007-04-03 11:00:35 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1297 views

คลังตั้ง "7คณะ "เกาะติดเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ มี.ค.ดีดเพิ่ม0.7%

พาณิชย์ไม่หวั่นลดดอกเบี้ยทำพุ่งอีก ชี้ทั้งปียังมีโอกาสต่ำกว่า 2% แต่เกาะติดดูราคาน้ำมันโลก "ฉลองภพ"เล็งตั้ง 7 คณะทำงานตามแผนฟื้น ศก. อปท.โวยงบฯเพิ่งมา คาดอีก 1 เดือนหว่านได้

เงินเฟ้อ มี.ค.ดีดกลับมาเพิ่มอีก 0.7% พาณิชย์ไม่หวั่นลด ดบ.ทำพุ่งอีก ชี้ทั้งปียังมีโอกาสต่ำกว่า 2% แต่เกาะติดดูราคาน้ำมันโลก "ฉลองภพ"เล็งตั้ง 7 คณะทำงานตามแผนฟื้น ศก. อปท.โวยงบฯเพิ่งมา คาดอีก 1 เดือนเริ่มใช้จ่ายได้ ตอกคลังอยากให้เร็วควรจ่ายตรง

.

เมื่อวันที่ 2 เมษายน นางนทีทิพย์ ทองเขาอ่อน ผู้อำนวยการ สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนมีนาคม 2550 เท่ากับ 115.3 สูงขึ้น 0.7% จากเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และสูงขึ้น 2.0% เทียบเดือนมีนาคม 2549 และยังเป็นอัตราเพิ่มที่ชะลอตัวลงในรอบ 38 เดือน ทำให้เงินเฟ้อไตรมาสแรก 2550 สูงขึ้นเพียง 2.4% ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเท่ากับ 105.2 สูงขึ้น 0.1% จากเดือนกุมภาพันธ์ 2550 และสูงขึ้น 1.3% เทียบเดือนมีนาคม 2549 สาเหตุที่ทำให้เดือนมีนาคม ดัชนีกลับมาเพิ่ม 0.7% หลังจากที่ดัชนีลดลงต่อเนื่องมาตลอด 4 เดือน เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงสินค้าหมวดไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มเท่ากันในอัตรา 7%

.

นางนทีทิพย์กล่าวว่า แนวโน้มการขยายตัวของเงินเฟ้อในไตรมาส 2 ของปีนี้ยังเป็นขาลงและแต่ละเดือนเงินเฟ้อไม่น่าสูงขึ้นเกิน 2% โดยกระทรวงพาณิชย์ยังคงตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2550 ไว้ที่สูงขึ้น 1.5-2.5% แต่ปัจจัยหลักที่จะกระทบต่อตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น คือการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ทำให้ปรับราคาค่าโดยสารและต้นทุนสินค้า รวมถึงการพิจารณาปรับขึ้นของค่ากระแสไฟฟ้าเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งสัดส่วนน้ำหนักของการคิดคำนวณหลัก 38% จากหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 64% ที่เหลือคือค่าใช้จ่าย ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่มีการขยับราคาจากการแข่งขันที่สูงขึ้น

.

นางนทีทิพย์กล่าวว่า แม้ขณะนี้ราคาน้ำมันโลก (ดูไบ) จะขยับขึ้นถึง 63 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และเกินสมมติฐาน 60 เหรียญสหรัฐ ที่กระทรวงพาณิชย์ใช้คำนวณเงินเฟ้อ แต่เมื่อเทียบกับค่าบาทที่แข็ง 34.9 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งต่ำกว่าสมมติฐานใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่เกิน 35-36 บาท/เหรียญสหรัฐ ทำให้ราคาเฉลี่ยขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่สูงเกินสมมติฐานที่ 26-27 บาท/ลิตร ส่วนปัญหาภัยแล้งน่าจะกระทบช่วงสั้นและไม่เกิน 0.2%

.

"นโยบายการปรับลดอัตราดอกเบี้ยก็เพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภคและลดความกังวลต่อภาวะเงินฝืด จะไม่ส่งผลโดยตรงต่อเงินเฟ้อเท่ากับขยับขึ้นราคาอาหารและน้ำมัน ซึ่งจะปรับคาดการณ์เงินเฟ้อหรือไม่ คงต้องดูสถานการณ์หลังไตรมาส 2" นางนทีทิพย์กล่าว (อ่านรายละเอียด น.20)

.

นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในวันที่ 3 เมษายนนี้ จะประชุมร่วมกับคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีคลังในเวลาประมาณ 17.00 น. โดยจะมีการแบ่งคณะทำงานออกเป็น 7 คณะ เพื่อหารือในด้านต่างๆ คือความโปร่งใสทางการคลัง โครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจ็คต์) รัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะระบบการให้บริการสาธารณะที่ประสบกับปัญหาขาดทุน และการอัดฉีดเม็ดเงินไปสู่ภาคเศรษฐกิจรากหญ้า

.

"ที่ต้องมีการประชุมคณะที่ปรึกษาเพราะเป็นห่วงเรื่องเม็ดเงินที่มันหายไปจากระบบ โดยในส่วนของงบประมาณก็ต้องเร่งรัดเบิกจ่าย" นายฉลองภพกล่าว

.

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมและการกระจายรายได้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีคลัง เปิดเผยว่า การประชุมทีมที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าคลัง ในวันที่ 3 เมษายน ประเด็นสำคัญที่จะพิจารณา คือการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทั้งในระดับกลางและระดับล่าง รวมถึงกรณีการทบทวนร่าง พ.ร.บ.ด้านการเงิน 3 ฉบับ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไปแล้วในสมัย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

.

"เรื่องการอัดฉีดเงินจะต้องชัดเจนว่าอัดฉีดอย่างไร ส่วนกระบวนการขับเคลื่อนจะเป็นตามนโยบายปกติคือมีงบประมาณอยู่แล้ว อีกส่วนที่ต้องพูดกันคือจะสรรหาเม็ดเงินใหม่เพิ่มขึ้นได้อย่างไร" นายสมชัยกล่าว

.

สำหรับประเด็นที่ให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจระดับกลางและระดับล่างให้มากขึ้นนั้น นายสมชัยกล่าวว่า เป็นประเด็นที่ได้เคยหารือในที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยภาพรวมแล้วว่าจำเป็นต้องทำให้เกิดความโปร่งใสในการปล่อยสินเชื่อให้มากที่สุด รวมทั้งต้องมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนหากเกิดความผิดพลาด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาย้อนกลับมาที่ระดับปฏิบัติงาน

.

"คลังต้องมีนโยบายชัดเจนว่าถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้น ใครจะรับผิดชอบ นโยบายกึ่งการคลังแบบนี้การทำให้โปร่งใสสำคัญมากกว่าใครรับผิดชอบ และการชดเชยความเสียหายต้องชัดเจน ต้องมีสัญญาชัดเจนระหว่างกระทรวงการคลังหรือรัฐบาลกับธนาคาร เขาจะได้รู้ว่าต้องรับผิดชอบตรงไหน และไม่ต้องรับผิดชอบตรงไหน ที่ผ่านมาที่ไม่โปร่งใสเพราะมันอึมครึม" นายสมชัยกล่าว และว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวเท่านั้น ซึ่งนายฉลองภพเพียงแต่ให้แนวทางในภาพรวมว่าต้องมีความโปร่งใสเรื่องการปล่อยสินเชื่อ ส่วนที่ปรึกษารัฐมนตรีคลังจะเป็นผู้ดำเนินการ

.

นายนพดล แก้วสุพัฒน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)แห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีกระทรวงการคลังเร่งรัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เบิกจ่ายงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้า ว่ากระทรวงการคลังเพิ่งโอนเงินให้ อปท.ไม่กี่วันที่ผ่านมา เมื่อได้รับแล้วก็ต้องทำข้อบัญญัติตามแผนและโครงการที่วางไว้เพื่อให้สภาท้องถิ่นเห็นชอบ จากนั้นเสนออำเภออนุมัติก่อนประกาศใช้ ซึ่งใช้เวลา 1 เดือน ก่อนที่จะจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบราชการ ไม่ใช่เงินเข้ากระเป๋าแล้วใช้ได้เลย เพราะเงินที่ได้รับจะเป็นงบฯบริหาร 40% งบฯลงทุน 60%

.

"หากจะให้เร่งเบิกจ่ายก็โอนเงินให้ อปท.โดยตรง ไม่ต้องผ่านคลังจังหวัด เพราะการเบิกจ่าย 3-4 ขั้นตอนทำให้ล่าช้า ขณะนี้ อบต.กว่า 6,000 แห่งทั่วประเทศ ใช้เงินสะสมบริหารจัดการและช่วยเหลือชาวบ้าน อาทิ ภัยแล้ง ภัยพิบัติ หากรอเบิกจ่ายงบประมาณคงช่วยไม่ทัน ปัจจุบัน อปท.ก็พยายามใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างงานในหมู่บ้านและตำบลตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว ไม่มี อปท.ไหนอยากเก็บเงินไว้ หากส่งเงินให้โดยตรงก็กระตุ้นเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น" นายนพดลกล่าว

.

นายธนวัตร ยอดใจ เลขาธิการสมาคม อบต.จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเงินอุดหนุนเฉพาะกิจให้ อปท.ช่วยชาวบ้าน อาทิ น้ำท่วม ภัยพิบัติ แต่การเบิกจ่ายล่าช้า เพราะติดระเบียบราชการ บางโครงการใช้เวลา 3-5 เดือน เช่น ประปาหมู่บ้าน ขุดสระ สร้างฝายกักน้ำ ช่วงที่รอเงินอุดหนุน อบต.ต้องนำเงินจากภาษีโรงเรือน ภาษีป้าย และค่าธรรมเนียม ที่จัดเก็บได้มาใช้ก่อน เพื่อไม่ให้การพัฒนาท้องถิ่นสะดุด

.

ที่มา : มติชน