เนื้อหาวันที่ : 2011-07-29 14:32:34 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3068 views

ผลิตไฟฟ้า นวนคร เดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่น

สองยักษ์ใหญ่พลังงานผนึกนวนคร คลอดผลิตไฟฟ้า นวนคร เดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่นมูลค่ากว่า 5 พันล้านบาท ขนาด 90 เมกะวัตต์ คาดเดินเครื่องปี 59

          สองยักษ์ใหญ่พลังงานผนึกนวนคร คลอดผลิตไฟฟ้า นวนคร เดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่นมูลค่ากว่า 5 พันล้านบาท ขนาด 90 เมกะวัตต์ คาดเดินเครื่องปี 59

          "ผลิตไฟฟ้า นวนคร" เดินหน้าพัฒนาโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่นมูลค่ากว่า 5 พันล้าน มั่นใจราชบุรีโฮลดิ้ง - นวนคร - ปตท. พันธมิตรเสริมหนุนความสำเร็จ

          บริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด แถลงเปิดตัวอย่างเป็นทางการหลังประสบความสำเร็จการเจรจาร่วมทุนกับพันมิตรชั้นนำของไทยสามราย ได้แก่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (“ราชบุรีโฮลดิ้ง”)บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) (“นวนคร”) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (“ปตท.”) โดยทั้งสามฝ่ายได้ลงนามในสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2554 โดยราชบุรีโฮลดิ้ง ถือหุ้นสัดส่วน 40% ส่วน นวนคร และปตท. ถือหุ้นฝ่ายละ 30% เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทฯ ได้ทำการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยมีพลเอกอัครเดช ศศิประภา ประธานกรรมการบริษัทฯ เป็นประธาน

          พลเอกอัครเดช ศศิประภา ประธานกรรมการ บริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด กล่าวว่า “ความสำเร็จของการร่วมทุนในบริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด แสดงถึงความมั่นคงแข็งแกร่งของบริษัทฯ เพราะเป็นการผนึกความเชี่ยวชาญของทั้งสามฝ่ายมาร่วมกันพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็กประเภทโคเจนเนอเรชั่น โดยราชบุรีโฮลดิ้งจะนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมการผลิตไฟฟ้าเข้ามาพัฒนาโครงการ ขณะที่ ปตท. มีประสบการณ์ด้านสัญญาการขายผลิตภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าของโรงไฟฟ้า และ นวนคร ใช้ความชำนาญด้านการพัฒนาพื้นที่ สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้กับโครงการ รวมทั้งฐานลูกค้าโรงงงานอุตสาหกรรมด้วย

          “การร่วมทุนของบริษัทชั้นนำทั้งสามแห่งครั้งนี้จะทำให้การบริหารงานโครงการมีประสิทธิภาพและสามารถดำเนินงานได้ในปี 2559 ผมเชื่อมั่นว่า โรงไฟฟ้าแห่งนี้จะเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ขณะเดียวกันก็สามารถเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศในช่วงเวลาที่ความต้องการใช้ไฟสูงสุด ทำให้ภาระของภาครัฐในการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ลดลง นอกจากนี้ ระบบโคเจนเนอเรชั่นยังช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าและไอน้ำของโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิต และเป็นการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมของประเทศได้ด้วย" พลเอก อัครเดช กล่าว

          บริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด เป็นผู้พัฒนาและดำเนินงานโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก ประเภทโคเจนเนอเรชั่น มูลค่าประมาณ 5,500 ล้านบาท โดยบริษัทฯ ได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้เป็นผู้พัฒนาโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก ประเภทโคเจนเนอเรชั่น จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ภายใต้กรอบปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจำนวน 2,000 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2553 โครงการนี้ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าประเภท Firm กับ กฟผ. เป็นระยะเวลา 25 ปี โดยกระแสไฟฟ้าปริมาณ 90 เมกะวัตต์จะจำหน่ายให้แก่ กฟผ. ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 32 เมกะวัตต์ จะผลิตจำหน่ายแก่โรงงานอุตสาหกรรมภายในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร เช่นเดียวกับไอน้ำ ซึ่งมีกำลังการผลิตจำนวน 15 ตันต่อชั่วโมง

          ซึ่งกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กนี้ นอกจากจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ อันสอดคล้องกับนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการป้องกันผลกระทบต่อแผนกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง รวมทั้งเพิ่มประโยชน์จากการใช้ก๊าซธรรมชาติในลักษณะโคเจนเนอเรชั่น เพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าและนำความร้อนที่เกิดขึ้นไปผลิตไอน้ำในขณะเดียวกัน ซึ่งเป็นระบบการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพในระบบการผลิตไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว

ที่มา : ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง