เนื้อหาวันที่ : 2011-07-28 18:53:25 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2079 views

ภาคอุตฯ ปี 54 ซบ คาดทั้งปีโตแค่ 4.5% กดจีดีพีหด

สถานการณ์อุตสาหกรรมคาดครึ่งปีหลังฟื้นตัว ขณะที่ยังต้องเผชิญปัญหาต้นทุนต่อเนื่อง จับตานโยบายรัฐบาลใหม่ แนะธุรกิจเร่งปรับตัวรับความท้าทายปีหน้า

          สถานการณ์อุตสาหกรรมคาดครึ่งปีหลังฟื้นตัว ขณะที่ยังต้องเผชิญปัญหาต้นทุนต่อเนื่อง จับตานโยบายรัฐบาลใหม่ แนะธุรกิจเร่งปรับตัวรับความท้าทายปีหน้า

          อุตสาหกรรมครึ่งหลังฟื้น แต่ทั้งปีอาจขยายตัวเพียง 3.0-4.5% … ธุรกิจต้องเร่งปรับตัวรับปัจจัยท้าทายในปีหน้า (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)

          ภาคอุตสาหกรรมไทยในครึ่งปีแรกประสบภาวะชะลอตัว โดยในไตรมาสแรกมีการชะลอการผลิตในอุตสาหกรรมสำคัญซึ่งมีสต็อกสินค้าอยู่ในระดับสูง ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพีของภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพียงร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น ได้ทำให้ให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยต้องปรับลดกำลังการผลิตลงอย่างรุนแรงในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมเนื่องจากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนนำเข้าจากญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลให้ภาพรวมจีดีพีของภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มหดตัวลงในไตรมาสที่ 2/2554

อย่างไรก็ตาม หลังจากปัญหาในภาคการผลิตของญี่ปุ่นเริ่มคลี่คลาย และอุตสาหกรรมไทยที่ได้รับผลกระทบกลับมาฟื้นตัวเป็นปกติได้เร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์แนวโน้มอุตสาหกรรมไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
 
          - อุตสาหกรรมครึ่งปีหลังยังมีหลายปัจจัยหนุน แม้เศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัว โดยการผลิตในภาคอุตสาหกรรมในครึ่งหลังของปี 2554 มีแรงหนุนจากหลายปัจจัย อาทิ การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมที่ถูกกระทบจากปัญหาภัยพิบัติในญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมา ระดับสินค้าคงคลังที่เริ่มลดลง รวมทั้งสถานการณ์การเมืองในประเทศที่มีความชัดเจน บวกกับการประกาศนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ซึ่งจะมีส่วนเสริมความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและมีผลต่อการใช้จ่ายภายในประเทศตามมา อย่างไรก็ตาม ภาพเศรษฐกิจต่างประเทศมีปัจจัยบวกลดน้อยลงกว่าช่วงที่ผ่านมา โดยตลาดประเทศเกิดใหม่ อย่างเช่น จีนและอินเดีย มีแนวโน้มชะลอตัวจากเงินเฟ้อที่พุ่งสูงเกินเป้าหมายของทางการ และการคุมเข้มด้านนโยบายการเงิน

ขณะที่สหรัฐฯ นั้น แม้ปมปัญหาการขยายเพดานหนี้ที่กำลังเข้าใกล้เส้นตายในวันที่ 2 สิงหาคม น่าจะมีทางออกได้ แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ คงชะลอตัวลงภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพการคลัง ส่วนเศรษฐกิจยุโรปก็ยังคงอ่อนไหวต่อประเด็นปัญหาวิกฤตหนี้ในยูโรโซน ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลต่อทิศทางอุปสงค์ในตลาดส่งออกสำคัญของไทย นอกจากนี้ อุตสาหกรรมส่งออกอาจได้รับผลกระทบจากแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท ตามทิศทางเงินทุนไหลเข้า และความอ่อนแอของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะส่งผลกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ
 
           - โดยภาพรวม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จีดีพีของภาคอุตสาหกรรมในครึ่งหลังของปี 2554 น่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นในอัตราประมาณร้อยละ 6.0-9.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรกที่คาดว่าอาจขยายตัวประมาณร้อยละ 0.5 อย่างไรก็ดี จากปัญหาที่ค่อนข้างหนักหน่วงในครึ่งปีแรก ประกอบกับฐานเปรียบเทียบที่สูงในปีก่อน ทำให้การเติบโตของอุตสาหกรรมในปี 2554 ทั้งปีอาจอยู่ที่ร้อยละ 3.0-4.5 ชะลอลงจากที่เติบโตสูงสุดในรอบ 10 ปีที่ร้อยละ 13.9 ในปี 2553

          - สำหรับแนวโน้มในปี 2555 จีดีพีของภาคอุตสาหกรรมมีโอกาสกลับมาขยายตัวสูงในอัตราประมาณร้อยละ 8.0-10.5 โดยมีปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมทั้งในปี 2555 หลายบริษัทที่มีการขยายการลงทุนในช่วงที่ผ่านมาจะเริ่มเดินเครื่องผลิตได้ โดยเฉพาะรถยนต์ประเภทอีโคคาร์ ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพการส่งออกรถยนต์ของไทย นอกจากนี้ อุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นตลาดภายในประเทศหลายสาขาก็มีแนวโน้มได้รับอานิสงส์จากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเพิ่มรายได้ของประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเป็นผลกระตุ้นไปสู่ตลาดสินค้าผู้บริโภค นอกจากนี้ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคก่อสร้างน่าจะได้รับผลดีจากโครงการลงทุนที่เป็นโครงการต่อเนื่องจากปี 2554 ทั้งในส่วนของโครงการภาครัฐและเอกชน

          - กระนั้น ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยคงต้องเผชิญโจทย์ที่ยากลำบากในปี 2555 ที่สำคัญ นโยบายของรัฐบาลใหม่บางด้านจะมีผลเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน และการปรับฐานเงินเดือนพนักงานจบการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็น 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจะมีผลให้ต้นทุนค่าจ้างพนักงานในกลุ่มที่มีการปรับฐานค่าจ้างดังกล่าวเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 ในกรณีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และเฉลี่ยร้อยละ 30 ในกรณีเงินเดือนบัณฑิตจบใหม่ระดับปริญญาตรี

แต่ทั้งนี้ยังคงต้องรอข้อสรุปที่ชัดเจนของนโยบาย รวมทั้งมาตรการบรรเทาผลกระทบที่รัฐบาลอาจออกมาเป็นแพ็กเกจต่อไป แต่นอกเหนือจากประเด็นค่าจ้างแรงงานแล้ว อุตสาหกรรมยังต้องเผชิญต้นทุนในด้านอื่นๆ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้งต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนพลังงาน และต้นทุนการเงิน เป็นต้น การรับมือและปรับตัวต่อต้นทุนที่จะเพิ่มสูงขึ้นในระยะข้างหน้าจึงเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมต้องเตรียมวางแผนไว้ล่วงหน้า

          โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาคอุตสาหกรรมของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นในครึ่งหลังของปี 2554 แต่จากปัญหาหนักหน่วงที่เผชิญในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ทำให้แนวโน้มจีดีพีของภาคอุตสาหกรรมไทยในปี 2554 ทั้งปีอาจขยายตัวเพียงร้อยละ 3.0-4.5 อย่างไรก็ตาม  ภาคอุตสาหกรรมมีโอกาสที่จะฟื้นตัวกลับมาขยายตัวสูงถึงร้อยละ 8.0-10.5 ในปี 2555 โดยเป็นผลมาจากเริ่มต้นเดินเครื่องผลิตของโครงการที่ได้ลงทุนขยายกำลังการผลิตในช่วงที่ผ่านมา (เช่น โครงการผลิตรถยนต์อีโคคาร์) และแรงกระตุ้นจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่

          อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมไทยจำเป็นต้องเตรียมพร้อมในการปรับตัวรับมือโจทย์ใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้า โดยเฉพาะแนวโน้มต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้นจากหลายปัจจัย ที่สำคัญคือประเด็นเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำและฐานเงินเดือนพนักงานระดับปริญญาตรี ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับมาตรการรองรับผลกระทบสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ที่อาจมีความสามารถน้อยกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน โดยมาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลอาจเป็นประโยชน์กับธุรกิจเอสเอ็มอีไม่มากนัก

ขณะที่การตั้งกองทุนเข้ามาช่วยเหลือผลกระทบระยะสั้นอาจไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาอย่างถาวร มาตรการบรรเทาผลกระทบสำหรับเอสเอ็มอีควรเพิ่มแนวทางที่จะช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจมีการปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตและยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างจริงจัง โดยอาจพิจารณาให้สิทธิประโยชน์สำหรับกิจการเอสเอ็มอีที่มีการปรับปรุงประสิทธิภาพและเพิ่มผลิตภาพ อาทิ การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับการซื้อหรือปรับปรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการให้นำค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้านอุปกรณ์เครื่องจักร และการพัฒนาคุณภาพแรงงาน มาหักลดหย่อนภาษีหรือหักค่าเสื่อมราคาในอัตราพิเศษ

รวมไปถึงมาตรการอื่นๆ ที่ภาครัฐอาจเข้ามาดำเนินการ เช่น โครงการเพิ่มพูนองค์ความรู้ที่จะช่วยในการลดต้นทุนสำหรับเอสเอ็มอี หรือโครงการอบรมพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อเพิ่มผลิตภาพของแรงงานไทยให้สอดคล้องกับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น ซึ่งแม้ว่ามาตรการดังกล่าวบางส่วนอาจเป็นภาระด้านงบประมาณที่เพิ่มขึ้น แต่ถ้ามีการวางกรอบสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขอย่างเหมาะสม ก็น่าจะถือว่ามีความคุ้มค่า เนื่องจากจะเป็นการเพิ่มศักยภาพของธุรกิจที่เป็นรากฐานของเศรษฐกิจไทยได้ในระยะยาว

ที่มา : กสิกรไทย