เนื้อหาวันที่ : 2011-07-28 18:37:03 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2204 views

เศรษฐกิจเอเชียฉายแววรุ่ง ขณะที่ความเสี่ยงยังรุมเร้า

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์อาวุโส กลุ่มอลิอันซ์ ชี้แนวโน้มเศรษฐกิจเอเชียแข็งแกร่ง หลังสามารถรับมือและรอดพ้นวิกฤติการเงิน ขณะที่การเติบโตส่อเค้าชะลอลง

          หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์อาวุโส กลุ่มอลิอันซ์ ชี้แนวโน้มเศรษฐกิจเอเชียแข็งแกร่ง หลังสามารถรับมือและรอดพ้นวิกฤติการเงิน ขณะที่การเติบโตส่อเค้าชะลอลง

          ศาสตราจารย์ ดร.ไมเคิล ไฮส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์อาวุโส กลุ่มอลิอันซ์ ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บมจ. อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. ประกันชีวิต เปิดเผยผลการศึกษาล่าสุดเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชีย ระบุเศรษฐกิจในภาพรวมแข็งแกร่ง แต่ยอมรับยังมีปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า

          นายไฮส์ กล่าวว่า ส่วนแบ่งของตลาดเกิดใหม่ในเอเชียเปรียบเทียบกับตลาดทั่วโลกมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นจาก 10.4% ในปี 2543 เป็น 18% ในปี 2553 (คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) ประเทศในเอเชียสามารถรับมือและรอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินได้เป็นอย่างดี ซึ่งมีส่วนช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้เร็วขึ้น แต่หากจะมองไปข้างหน้าดูเหมือนว่าอัตราการเติบโตจะชะลอตัวลง เนื่องจากมีการถอดถอนมาตรการกระตุ้นทางการเงินและการคลังที่รัฐบาลประเทศต่างๆ นำมาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเวลานานถึงสองปีแล้ว ซึ่งส่งผลให้การค้าของทั่วโลกดีดตัวจนพ้นจากภาวะวิกฤต ทำให้เศรษฐกิจมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากความต้องการภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นนั่นเอง

          “จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น ทำให้เราคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเอเชียในภาพรวมทั้งทวีปจะเติบโต 7.9% ในปีนี้ ลดลงเพียงแค่ 1.5 percentage points จากตัวเลขการเติบโตในปีที่แล้ว สำหรับในปี 2555 และปีต่อๆ ไป เรายังคงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตที่ประมาณ 7.5%” นายไมเคิล กล่าว

          การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและมีศักยภาพที่พบในประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียนับจากปี 2552 เป็นต้นมา เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลในประเทศเหล่านั้นมีปฏิกิริยาตอบสนองในเชิงรุกและอย่างรวดเร็วต่อภาวะวิกฤตครั้งนี้ ด้วยการใช้นโยบายทางการเงินและการคลังเป็นหลัก โดยประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายการเงินการคลังมาเป็นระยะๆ และมาสิ้นสุดในปลายปี 2553 ซึ่งหมายความว่า เราไม่สามารถจะคาดหวังแรงผลักดันในเชิงบวกใดๆ ในแง่นี้ได้อีกต่อไป ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางของหลายประเทศในเอเชียได้ออกมาตรการที่เข้มงวดยิ่งขึ้นเพื่อสกัดอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น และลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจไมให้ร้อนแรงจนเกินไป

          นายไฮส์ กล่าวอีกว่า ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าแรงขับเคลื่อนของการเติบโตทางเศรษฐกิจได้เริ่มชะลอตัวในไตรมาสที่สองของปี 2554 ซึ่งเหนือสิ่งอื่นใด การชะลอตัวครั้งนี้เป็นผลมาจากภัยพิบัติธรรมชาติและวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เกิดในประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง ซึ่งภัยพิบัติครั้งนี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตระหว่างประเทศในเอเชียที่เชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปทั่วโลกอีกด้วย โดยประเทศไต้หวันได้รับผลกระทบที่รุนแรงที่สุดจากการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมของไต้หวันในช่วงเดือนมีนาคม ถึงพฤษภาคม 2553 ลดลงถึง 5.1% ในเดือนกุมภาพันธ์

          อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของประเทศญี่ปุ่น ได้ชี้ให้เห็นว่าตัวเลขการผลิตที่สูญเสียไปในช่วงที่ผ่านมา สามารถที่จะชดเชยกลับมาได้ในปีที่จะมาถึง ยิ่งไปกว่านั้นภัยพิบัติที่เกิดในประเทศญี่ปุ่นได้ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง มีแนวโน้มที่จะทำให้เศรษฐกิจในไตรมาสสองปรับตัวดีขึ้น เพราะเป็นการดึงเม็ดเงินออกมาจากรายได้ที่แท้ริงของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเหมือนกัน

          สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทย นายไฮส์ เปิดเผยว่า อัตราการเติบโตดูเหมือนจะเริ่มชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัดในปีนี้ โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2554 ตัวเลข ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ที่แท้จริงปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 3% จากปีก่อนหน้า ขณะที่ไตรมาสสองมีแนวโน้มที่จะเติบโตพอประมาณเท่านั้น ทั้งนี้มีสาเหตุสำคัญมาจากการชะงักงันทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติและวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศญี่ปุ่น

          ในเดือนเมษายน การผลิตในภาคอุตสาหกรรมของไทยปรับตัวลดลง 35% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าในแง่ของการปรับตามฤดูกาลและกำลังการผลิต ซึ่งการลดลงของกำลังการผลิตในอัตราที่สูงเช่นนี้ในช่วงเพียงเดือนเดียว นับเป็นสิ่งที่ผิดปกติอย่างมาก แต่ก็ได้แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังต้องพึ่งพาผลิตภัณฑ์หลักจากประเทศญี่ปุ่นมากเพียงใด อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นอย่างรวดเร็วในครึ่งปีหลัง และจะสามารถชดเชยความเสียหายจากการผลิตที่ลดลงในช่วงต้นปีได้

          “ยิ่งไปกว่านั้น จากข้อเท็จจริงที่ว่าตัวเลขอัตราการว่างงานที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังคงอยู่ในอัตราที่สูง แสดงให้เห็นว่าการบริโภคของภาคเอกชนจะสามารถช่วยให้เศรษฐกิจปรับตัวได้ดีขึ้นในระยะยาว ซึ่งในภาพรวมแล้วเราคาดการณ์ว่าจะได้เห็นการเติบโตที่แท้จริงของเศรษฐกิจอยู่ที่ระดับ 4% ในปีนี้ และปรับขึ้นเล็กน้อยไปอยู่ที่ 4.5% ในปี 2555” นายไฮส์ กล่าวทิ้งท้าย 

ที่มา : ไอเดีย เวิร์คส์ คอมมิวนิเคชั่นส์