เนื้อหาวันที่ : 2011-07-28 11:19:14 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1149 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 28 ก.ค. 2554

1. เปิดมติ กนง. ให้น้ำหนักเงินเฟ้อเสี่ยงมากกว่าด้านเศรษฐกิจ
-  ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ฉบับย่อ เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา มีความเห็นว่าแรงกดดันด้านราคาที่เร่งขึ้นตามการปรับราคาสินค้าในหมวดอาหารสำเร็จรูปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง ภายใต้เศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ดีและนโยบายการคลังที่ยังกระตุ้นต่อเนื่องเป็นปัจจัยสำคัญต่อการประเมินความเสี่ยงที่มีต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในการตัดสินนโยบายการเงินครั้งนี้

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการฯประเมินว่า ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความอ่อนไหวต่อปัจจัยเสี่ยงสูง อีกทั้งนโยบายการคลังของไทยในอนาคตขาดความชัดเจนเนื่องจากการเปลี่ยนรัฐบาล จึงเห็นว่ายังไม่ควรปรับอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ และให้ติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนการใช้จ่ายของภาครัฐภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

-  สศค. วิเคราะห์ว่า หลังจากการประชุมเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 54 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ร้อยละ 0.25 จากเดิมที่ร้อยละ 3.00 เป็นร้อยละ 3.25 ต่อปี เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากราคาพลังงานและราคาสินค้าในหมวดอาหารสำเร็จรูป โดยในเดือน มิ.ย. 54 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ระดับร้อยละ 4.1 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.6 ซึ่งใกล้เคียงเพดานเงินเฟ้อตามกรอบเป้าหมายของ ธปท.

นอกจากนี้ มาตรการใช้จ่ายของภาครัฐในอนาคต เช่น การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำและเงินเดือนของข้าราชการ ภายใต้เศรษฐกิจที่ขยายตัว จะเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันทางด้านราคา ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 54 จะขยายตัวในอัตราร้อยละ 4.5 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 – 5.0 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 54 จะปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 3.8 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.3 – 4.8 ต่อปี (ประมาณการณ์ ณ มิ.ย. 54)

2. ไทยส่งออก ”ข้าว” สูงเป็นประวัติการณ์
          -  สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า คาดว่าในปีนี้ไทยจะส่งออกข้าวได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 10 ล้านตัน โดยการส่งออกข้าวในช่วง 6 เดือนแรกของปีมีปริมาณรวม 6.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 58.26% คิดเป็นมูลค่ากว่า 107,848 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 37.3% ถือว่าสูงสุดในรอบ 6เดือน ซึ่งปีนี้ไทยส่งออกข้าวเฉลี่ยเกินเดือนละ 1 ล้านตัน นับว่าสูงเป็นประวัติการณ์ และมั่นใจว่าไทยมีปริมาณข้าวเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกด้วย

          -  สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกข้าวไทยปี 54 มีแนวโน้มที่ดีเนื่องจากตลาดโลกยังมีความต้องการในระดับสูง และเกิดความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่ประเทศอินโดนีเซียและบังคลาเทศส่งผลให้ไม่สามารถผลิตข้าวได้ในปริมาณที่ต้องการ จึงทำให้ต้องเร่งนำเข้าข้าวเพื่อสำรองข้าวในประเทศ ตลอดจนประเทศผู้นำเข้าหลายประเทศมีความต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารภายในประเทศ และรวมไปถึงการระบายข้าวสารของสต็อกของรัฐบาลไทยในช่วงปลายปี 53

ทั้งนี้ สัดส่วนการส่งออกสินค้าในหมวดเกษตรกรรมมีสัดส่วนร้อยละ 11.0 ของสินค้าส่งออกทั้งหมด โดยในเดือนมิ.ย. 54 ขยายตัวร้อยละ 55.7 ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 54 ขยายตัวร้อยละ 53.7 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 45.2 ทั้งนี้  สศค. คาดว่าในปี 54 มูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการจะยังคงขยายตัวได้ดีโดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 16.6-18.6 (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 54)

3. แบงก์ชาติอินเดียปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.50% เป็น 8.0%
          -  แบงก์ชาติของอินเดีย (RBI) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาด หวังสกัดเงินเฟ้อที่ยังพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งๆ ที่การเติบโตเริ่มชะลอตัว  โดยอัตราดอกเบี้ยรับซื้อคืนพันธบัตร (repo rate)ปรับ เป็น 8.0% สูงกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ว่าจะปรับขึ้นเพียง 0.25% พร้อมกับแสดงจุดยืนว่าจะใช้วิธีนี้รับมือกับภาวะเงินเฟ้ออีกในอนาคต  ทั้งนี้  3

          -  สศค. วิเคราะห์ว่า การที่แบงก์ชาติอินเดียมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.50 จากครั้งก่อนที่อยู่ที่ระดับร้อยละ 7.50 เป็นร้อยละ 8.0 นั้น นับเป็นการขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 11 ตั้งแต่เดือนมี.ค. 53 การขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจอินเดีย และเพื่อลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาสที่ 1 ปี 54 ขยายตัวร้อยละ 7.8 สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาส 1 ปี 54 ขยายตัวร้อยละ 9.1 และในเดือนมิ.ย 54 ขยายตัวร้อยละ 9.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 9.1 ทั้งนี้ สศค.คาดว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจอินเดียในปี 54 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 8.5 (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย.54) 

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง