เนื้อหาวันที่ : 2011-07-21 11:19:02 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1211 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 20 ก.ค. 2554

1. ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์คาดยอดผลิตรถยนต์เป้าที่ 1.8 ล้านคัน
-  ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า หากเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิในประเทศญี่ปุ่นคลี่คลายลง การผลิตรถยนต์จะกลับสู่ภาวะปกติภายในเดือนก.ค. 54 โดยมั่นใจว่า ในช่วงครึ่งปีหลังการผลิตรถยนต์จะสามารถพลิกฟื้นและคาดว่ายอดการผลิตจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 1.8 ล้านคัน

-  สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลล่าสุดในเดือนพ.ค. 54 ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ในหมวดยานยนต์ หดตัวร้อยละ -32.5 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวลงร้อยละ-27.8 เช่นเดียวกับการส่งออกยานยนต์ที่หดตัวร้อยละ -22.8 ต่อเนื่องจากเดือนเม.ย.ที่หดตัวร้อยละ -5.4 สืบเนื่องมาจากข้อจำกัดในการนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์จากประเทศญี่ปุ่น ทำให้เลื่อนการผลิตออกไป อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณว่าการผลิตยานยนต์จะกลับมาขยายตัวได้ดีอีกครั้งในช่วงที่เหลือของปี สะท้อนจากการเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ใหม่เพิ่มอีก 3 โรงงานที่มีกำลังการผลิตรวม 4.5 แสนคัน ได้แก่ อีโกคาร์ของซูซูกิและมิตซูบิชิ และเก๋งซีดานของฟอร์ด และความต้องการแรงงานเพิ่มเติมในอุตฯ ยานยนต์อีกประมาณ 1 หมื่นตำแหน่ง เพื่อเร่งเดินหน้าผลิตในช่วงปลายปี54 ถึงต้นปี55 

2. เอกชนวิตกบาทแข็งหลุด 30 บาทต่อดอลล์กระทบการส่งออก
-  สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า จากการที่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นหลุดระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาเคลื่อนไหวอยู่ที่ 29.95 -29.97 บาทต่อดอลลาร์ในเช้าวันที่ 19 ก.ค. 54 ทำสถิติแข็งค่าสูงสุดในรอบกว่า 2 เดือน ถือว่าแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการส่งอออกอาหาร สินค้าเกษตร ข้าว มันสำปะหลัง เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย

-  สศค. วิเคราะห์ว่า ค่าเงินบาท ณ วันที่ 19 ก.ค.54 อยู่ที่ระดับ 29.87 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยมีค่าเฉลี่ยทั้งปี 54 อยู่ที่ 30.39 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแข็งค่าขึ้นจากต้นปีร้อยละ 0.5 อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลล่าสุดในช่วง 5 เดือนแรกปี 54 มูลค่าการส่งออกของไทย ขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 25.2 ได้รับแรงส่งจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก ทั้งจากตลาด ญี่ปุ่น จีน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ทั้งนี้  สศค. คาดว่าในปี 54 มูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการจะยังคงขยายตัวได้ดีโดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 16.6-18.6 และค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐทั้งปี 54 จะเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 29.5 – 31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 54)

3. ที่ปรึกษาแบงก์ชาติจีนชี้ช่องคุมเงินเฟ้อ
-  ที่ปรึกษาธนาคารกลางจีน กล่าวว่า จีนจำเป็นต้องคุมปริมาณเงินและส่งเสริมการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อกดอัตราเงินเฟ้อให้ลดลง แทนการใช้มาตรการควบคุมราคาสินค้า เนื่องจากสาเหตุสำคัญของภาวะเงินเฟ้อในจีน คือปริมาณเงินในระบบขยายตัวมากเกินไป ดังนั้นหากต้องการกดอัตราเงินเฟ้อ ก็จะต้องทำให้ปริมาณเงินลดลงอย่างจริงจังและต่อเนื่อง พร้อมปรับเพิ่มปริมาณการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค

-  สศค. วิเคราะห์ว่า  เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2 ของปี 54 ขยายตัวร้อยละ 9.5 แม้จะชะลอลงจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวร้อยละ 9.7 ทั้งนี้ จีนยังคงมีปัจจัยเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเร่งขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุด ณ เดือนมิ.ย. 54 อัตราเงินเฟ้อขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.4 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 5.5 โดยเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 3 ปี ทำให้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 54 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 5.4 ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากดัชนีราคาอาหารที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจของจีนในปี 54 จะขยายตัวได้ร้อยละ 9.2 (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 54