เนื้อหาวันที่ : 2011-07-21 09:54:24 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2063 views

บีโอไอคุยโวเอสเอ็มอีแห่ลงทุนเพิ่มกว่า 8 เท่าตัว

นโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ได้ผลเกินคาด ปลื้มเอสเอ็มอีแห่ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนทะลุ 9 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นกว่า 800%

          นโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ได้ผลเกินคาด ปลื้มเอสเอ็มอีแห่ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนทะลุ 9 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นกว่า 800%

          บีโอไอเผย ทิศทางการลงทุนของกลุ่มเอสเอ็มอีมีแนวโน้วดีขึ้น หลังผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยตื่นตัวยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ 2554 มีมูลค่าเงินลงทุนสูงถึง 6,594 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 800% หรือ 8 เท่าตัว รวมมูลค่าเงินลงทุนตั้งแต่ต้นปี 2553 หลังการปรับปรุงนโยบายส่งเสริมเอสเอ็มอี ทะลุ 9,000 ล้านบาทแล้ว

          นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยภายหลังงานสัมมนา “ต่อยอดธุรกิจพิชิตการลงทุน สนับสนุนเอสเอ็มอี กระตุ้นเศรษฐกิจภาคอีสาน” ซึ่งจัดขึ้นที่ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด จังหวัดขอนแก่น ว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม – มิถุนายน 2554) แนวโน้มการลงทุนของกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย มีทิศทางการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุน โดยมีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 132 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 6,594 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 800 หรือ 8 เท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกของปี 2553 ซึ่งมีจำนวน 48 โครงการ และมีมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 737 ล้านบาท

          สำหรับการส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการเอสเอ็มอีไทย ซึ่งบีโอไอได้ปรับปรุงนโยบายส่งเสริม โดยได้เพิ่มประเภทกิจการให้ครอบคลุมธุรกิจที่เอสเอ็มอีไทยส่วนใหญ่เปิดดำเนินกิจการ โดยได้ให้ส่งเสริมมาตั้งแต่ต้นปี 2553 และจะสิ้นสุดในเดือนธันวาคม 2554 จนถึงขณะนี้ มีเอสเอ็มอีไทยยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอทั้งสิ้น จำนวน 279 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมประมาณ 9,186 ล้านบาท

สำหรับกลุ่มกิจการที่เอสเอ็มอีไทยยื่นขอรับส่งเสริมได้แก่ กิจการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกหรือเคลือบด้วยพลาสติก จำนวน 38 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 1,122 ล้านบาท กิจการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ รวมทั้งชิ้นส่วนโลหะ จำนวน 8 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 1,091 ล้านบาท ตามด้วยกิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากยางธรรชาติ 8 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 896 ล้านบาท และกิจการอื่นๆ เช่น การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ กิจการขยายพันธุ์สัตว์หรือเลี้ยงปสุสัตว์ กิจการผลิตเครื่องนุ่งห่ม กิจการผลิตหรือถนอมอาหารจากข้าวหรือธัญพืช และกิจการผลิตเครื่องจักร อุปกรณ์และชิ้นส่วน เป็นต้น

บีโอไอชูจุดแข็งขอนแก่นในภาคเกษตร-คมนาคม

          นางสาวรัตนวิมล นารี ศุกรีเขตร ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 3 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอขอนแก่น กล่าวว่า จังหวัดขอนแก่นและภาคอีสานตอนบน เป็นพื้นที่ที่มีโอกาสและศักยภาพรองรับการลงทุนกลุ่มเอสเอ็มอีเป็นอย่างดี โดยเฉพาะวัตถุดิบที่เกี่ยวกับพืชผลทางการเกษตร ซึ่งมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการ และในพื้นที่ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสาธารณูปโภคที่ครบครัน ด้านการคมนาคมมีความสะดวกทั้งทางอากาศ ทางรถยนต์และทางรถไฟ อีกทั้งจังหวัดยังตั้งอยู่บนเส้นทางของแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก ( East-West Economic Corridor หรือ EWEC ) ที่จะเป็นการช่วยลดต้นทุนการกระจายและขนส่งสินค้า

          ช่วงที่ผ่านมา บีโอไอก็ได้อนุมัติให้การส่งเสริมกิจการเอสเอ็มอีไทยในจังหวัดขอนแก่น รวมจำนวน 5 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมประมาณ 80 ล้านบาท ได้แก่ กิจการผลิตเหล็กแผ่นเคลือบขึ้นรูปสำหรับงานก่อสร้าง ของบริษัท ไทยอินเตอร์ เมทัลชีท (ขอนแก่น) กิจการผลิตขวดพลาสติก (PET) ของบริษัท ขอนแก่นเพชรแพค จำกัด ผลิต ขวดพลาสติก (PET) กิจการผลิตตะแกรงเหล็ก ของบริษัท ไวร์เมชขอนแก่น จำกัด ผลิตตะแกรงเหล็ก กิจการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูป ของบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ ซิสเท็มส์ จำกัด หรือ PRINTED CIRCUIT BOARD ASSEMBLY (PCBA) และกิจการเครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้าสำเร็จรูป ของ บริษัท บุษบงการ์เมนท์ จำกัด

ที่มา : บีโอไอ