เนื้อหาวันที่ : 2011-07-20 09:58:26 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 885 views

พลังงานจับมือกทม. เซ็น MOU พัฒนาพลังงานทดแทน

          กระทรวงพลังงาน ลงนาม MOU กับกทม. ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และพัฒนาพลังงานทดแทน ครอบคลุม 7 ด้าน

          กระทรวงพลังงาน ลงนาม MOU กับกทม. ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และพัฒนาพลังงานทดแทน ครอบคลุม 7 ด้าน มั่นใจเป็นภาคส่วนที่สำคัญ ช่วยบรรลุเป้าหมายแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี และแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี

          นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน และนายเจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมการอนรักษ์พลังงาน และการพัฒนาด้านพลังงานทดแทน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานทั้งสองแห่งเข้าร่วมพิธี

          นายณอคุณ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานพร้อมจะให้ความร่วมมือในการสนับสนุนทางวิชาการและงบประมาณบางส่วนในการดำเนินโครงการและกิจกรรมของกรุงเทพมหานคร ในด้านการอนุรักษ์พลังงานทดแทน และการส่งเสริมพลังงานทดแทน โดยเบื้องต้นจะให้ความร่วมมือภายใต้กรอบ MOU ดังกล่าว ใน 7 ด้าน ได้แก่ การเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าประหยัดพลังงาน การจัดหลักสูตรและสนับสนุนวิทยากรเพื่อการอบรม การใช้พลังงานในอาคารแก่บุคลากรของกรุงเทพมหานคร การเผยแพร่ความรู้ด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนให้กับภาคเอกชน

          การสร้างจิตสำนึกการใช้พลังงานภายในโรงเรียน การผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะมูลฝอยอินทรีย์ และการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ และด้านการอนุรักษ์พลังงาน และพลังงานทดแทนอื่นๆ ตามที่กรุงเทพมหานครจะเห็นว่าเหมาะสม โดยกระทรวงพลังงานเชื่อว่าผลที่ได้รับจากาการความร่วมมือในครั้งนี้ จะทำให้กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐขนาดใหญ่ เกิดประสิทธิภาพการใช้พลังงานอย่างสูงสุด และมีการนำพลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงานไปใช้ในทุกภาคส่วน อีกทั้งยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กรุงเทพมหานคร เป็นหน่วยงานที่ช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และยังเป็นส่วนหนึ่งที่จะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายจากแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี และแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปีของกระทรวงพลังงานอีกด้วย

          นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า การ ลงนาม MOU ในครั้งนี้ ถือเป็นการสานงานต่อที่กระทรวงพลังงาน และกรุงเทพมหานคร ได้มีความร่วมมือด้านการอนุรักษ์พลังงาน และพัฒนาพลังงานทดแทนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีกิจกรรมเด่น ๆ ที่ผ่านมาและยังอยู่ระหว่างดำเนินการ อาทิ การเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าประหยัดพลังงาน T5 จำนวน 13,000 หลอด ในโรงพยาบาลนำร่อง 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง และโรงพยาบาลตากสิน และจะเปลี่ยนหลอดในอาคารควบคุมของ กทม.อีก 15 แห่ง ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2554 นี้

การติดตั้งระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลฝอยอินทรีย์ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 164 แห่ง ดำเนินการแล้ว 80 แห่ง และกำลังดำเนินการอีก 84 แห่ง โดยสามารถรองรับขยะอินทรีย์ได้มากถึง 40 กิโลกรัมต่อวัน รวมทั้งการติดตั้งระบบผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ ที่จะติดตั้งที่โรงพยาบาลกลาง และโรงพยาบางเจริญกรุงประชารักษ์