เนื้อหาวันที่ : 2006-04-25 15:56:34 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2937 views

นักศึกษา ม.เกษตร เจ๋ง พัฒนาเครื่องวัดอัตราการใช้น้ำมันยุคน้ำมันแพง

งานวิจัยระบบบริหารการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง โดยใช้เครื่องวัดอัตราการใช้น้ำมัน เป็นหนึ่งโครงการจากโครงงานสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี ภายใต้การสนับสนุนของ สกว.โดยนักศึกษา ม.เกษตร

งานวิจัยระบบบริหารการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง โดยใช้เครื่องวัดอัตราการใช้น้ำมัน เพื่อควบคุมการใช้น้ำมันทุกหยดอย่างคุ้มค่า เป็นหนึ่งโครงการจากโครงงานสำหรับนักศึกษาปริญญาตรีหรือ IRPUS ภายใต้การสนับสนุนของ สกว.โดยฝีมือของนักศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

เครื่องวัดอัตราการใช้น้ำมัน อาศัยหลักการทำงานที่ไม่ซับซ้อนยุ่งยาก ง่ายต่อการเก็บข้อมูล และแสดงผลด้วยหน้าจอ LCD ที่มีหน่วยเป็นมิลลิลิตรต่อนาที ช่วยเก็บข้อมูลอัตราการใช้น้ำมันในรถบรรทุกด้วยระบบไมโครคอนโทรลเลอร์ร่วมกับซอฟต์แวร์ ชี้ช่วยลดความสูญเสียน้ำมันโดยเปล่าประโยชน์เข้ากับยุคที่ต้องใช้น้ำมันทุกหยดอย่างคุ้มค่า

 

ความต้องการใช้น้ำมันโดยเฉพาะภาคการผลิตอุตสาหกรรม และระบบขนส่งมีปริมาณมากจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ถีบตัวสูงอย่างไม่หยุดยั้ง แนวทางการใช้น้ำมันให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุดจึงจำเป็น การหาวิธีลดความสูญเสียน้ำมันเป็นหนทางหนึ่งที่สามารถทำได้ โดยเฉพาะในธุรกิจขนส่งที่ต้องใช้น้ำมันทุกหยดอย่างคุ้มค่า ประกอบกับธุรกิจการขนส่งเหล่านี้ยังประสบปัญหาต่าง ๆ อาทิ ความเสื่อมสภาพของเครื่องยนต์ทำให้เกิดการสิ้นเปลืองน้ำมัน การขับรถออกนอกเส้นทางหรือการลักลอบขโมยน้ำมัน เป็นต้น

 

จากตัวอย่างบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งพบว่า มีการสูญเสียน้ำมันโดยไม่เกิดประโยชน์ตอบแทน เช่น มีรถบรรทุกจำนวน 48 คัน แต่ละคันต้องเติมน้ำมันเต็มถังปริมาณ 180 ลิตร/วัน ถ้าสูญเสียน้ำมันไปเฉลี่ยคันละ 5-10 ลิตร จะคิดเป็นความสูญเสียน้ำมันถึงประมาณ 240-480 ลิตร/วันเลยทีเดียว

 

 

งานวิจัย ระบบบริหารการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงโดยใช้เครื่องวัดอัตราการใช้น้ำมัน หนึ่งในการนำเสนอแนวทางลดความสูญเสียน้ำมันอย่างเปล่าประโยชน์ โดยนางสาว พิมพ์พร ศรีสว่าง  นางสาว อาทิตยา อ่ำพึ่งอาตม์ และนางสาว พรพรรณ มั่งมี ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากโครงการโครงงานสำหรับนักศึกษาปริญญาตรีหรือ IRPUS(Industrial and Research Projects for Undergraduate Students)ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)

 .

โดยโครงการนี้ได้ออกแบบลักษณะเครื่องวัดอัตราการใช้น้ำมันในเครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้งานได้ไม่ซับซ้อนยุ่งยาก ง่ายต่อการเก็บข้อมูล และแสดงผลด้วยหน้าจอ LCD ที่มีหน่วยเป็นมิลลิลิตรต่อนาที และยังเก็บรวบรวมข้อมูลอัตราการใช้น้ำมันในรถบรรทุกแต่ละคันด้วยไมโครคอนโทรลเลอร์ร่วมกับซอฟแวร์ที่ออกแบบมาให้ใช้งานได้สะดวกกับวิธีปฏิบัติงานของผู้ประกอบการ

.

นางสาวพิมพ์พร หนึ่งในผู้วิจัยกล่าวว่า การสร้างเครื่องวัดอัตราการใช้น้ำมันในเครื่องยนต์ดีเซลเป็นโครงงานที่ใช้อุปกรณ์ขนาดเล็กที่สามารถติดตั้งได้ในเครื่องยนต์รถบรรทุกโดยไม่เป็นปัญหาในการทำงานของเครื่องยนต์ โดยโครงการนี้จะช่วยลดปัญหาในทุกๆด้านเพราะการเก็บรวบรวมข้อมูลอัตราการใช้น้ำมันในรถบรรทุกแต่ละคันด้วยไมโครคอนโทรเลอร์ โดยข้อมูลถูกเก็บรายละเอียดเป็นปริมาณน้ำมันที่มีในถังและปริมาณน้ำมันที่ใช้ไป รวมถึงช่วงเวลาที่เครื่องยนต์ทำงาน ข้อมูลการเติมน้ำมัน โดยข้อมูลเหล่านี้จะใช้ในการบริหารจัดการเพื่อลดปัญหาการสูญเสียน้ำมัน

.

โดยได้แบ่งการทำงานออกเป็น 3 ส่วน อาทิ ส่วนแรกได้พัฒนา เครื่องมือวัดการไหลของน้ำมัน ซึ่งจะใช้การคำนวณ เพื่อออกแบบ เครื่องมือวัดเชิงกลที่มีพิสัยของการวัดและความละเอียดของการวัดในย่านที่ต้องการ จากนั้นจะทดสอบการทำงานและสมรรถนะเชิงกล ภายใต้เงื่อนไขที่คล้ายการทำงานจริง และวิธีเทียบมาตรฐานซึ่งเป็นการเทียบมาตรฐานตามหลักวิธีทางมาตรวิทยา เพื่อให้ได้ผลการวัดที่มีความเชื่อถือได้ ส่วนต่อมาจะเป็นระบบควบคุมและสื่อสารข้อมูลซึ่งได้แบ่งการทำงานออกเป็นส่วนย่อยคือ การประมวลสัญญาณโดยใช้ไมโครคอนโทรเลอร์ประมวลสัญญาณใน 2 ลักษณะได้แก่ การนับลำดับและนับความถี่ 

 

นอกจากนี้ยังมีช่องสื่อสารที่มีการถ่ายโอนข้อมูลที่บันทึกไว้โดยไมโครคอนโทรเลอร์ผ่าน USB Port และส่วนสุดท้ายจะเป็นระบบซอฟต์แวร์บริหารการใช้เชื้อเพลิง ซึ่งจะมีส่วนของซอฟต์แวร์ที่ใช้อ่านข้อมูลจากเครื่องวัดอัตราการไหลผ่าน USB Port เข้ามาเก็บไว้ในฐานข้อมูล และส่วนของซอฟต์แวร์ที่ติดต่อกับผู้ใช้เพื่อวิเคราะห์และประมวลข้อมูลการใช้น้ำมันของรถบรรทุกแต่ละคันในด้านต่างๆ เช่น ส่วนของซอฟต์แวร์เพื่อใช้พิมพ์ผลวิเคราะห์ โดยข้อมูลเหล่านี้จะใช้ในการบริหารจัดการเพื่อลดปัญหาการสูญเสียน้ำมัน เช่น สามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาตรวจสอบสภาพเครื่องยนต์ว่าควรถึงเวลาซ่อมบำรุงหรือยัง

 

หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวอีกว่า เครื่องวัดอัตราการใช้น้ำมันในเครื่องยนต์ดีเซลดังกล่าวนี้ จะมีขนาดเล็กเหมาะสมกับสภาพการใช้งานกับเครื่องยนต์ดีเซลของรถบรรทุก ดังนั้นหากช่วยลดการสูญเสียน้ำมันลงได้ครึ่งหนึ่งก็นับว่าคุ้มค่าแก่การลงทุน โดยเครื่องมือดังกล่าวยังสามารถพัฒนาต่อยอดไปประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมประเภทอื่นได้อีก เช่น นำไปใช้ในเครื่องวัดปริมาณการให้ปุ๋ยอัตโนมัติของระบบปลูกพืชแบบ Hydro phonic เครื่องให้อาหารสัตว์อัตโนมัติ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินงานพัฒนาผลงานต่อไป