เนื้อหาวันที่ : 2011-07-19 13:59:47 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 822 views

ภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 11-14 ก.ค. 2554

          รายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้อปท.) ในเดือน มิ.ย. 2554 มีจำนวนทั้งสิ้น 109.57 พันล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มที่สูงกว่าประมาณการ ผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สำหรับภาษีฐานบริโภคขยายตัวร้อยละ 15.7 และภาษีฐานรายได้ซึ่งรวมภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขยายตัวร้อยละ 18.2  สะท้อนถึงรายได้ประชาชนที่สูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดี

          ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ในเดือน มิ.ย. 54 ขยายตัวร้อยละ  12.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 36.3  ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวในอัตราเร่งเมื่อเดือนที่แล้ว เนื่องจากปัจจัยฐานต่ำเมื่อปีที่แล้วที่ประสบปัญหาเหตุการณ์ทางการเมืองในเขตกรุงเทพและปริมณฑล อย่างไรก็ตาม ถือได้ว่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ยังขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยได้รับปัจจัยบวกกำลังซื้อของประชาชนยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากรายได้เกษตรกรขยายตัวเป็นบวกและอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 54 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัวที่ร้อยละ 19.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (หรือขยายตัวร้อยละ 8.5 QoQ_SA) บ่งชี้ว่าการบริโภคภาคเอกชนในช่วงครึ่งปีแรกยังขยายตัวได้ดี

          ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน มิ.ย. 54 หดตัวร้อยละ -13.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.9 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกขยายตัวร้อยละ 8.4 โดยการหดตัวดังกล่าวเป็นผลมาจากปัจจัยฐานสูงของช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการต่ออายุมาตราการภาษีเพื่อช่วยเหลือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ออกไป ทำให้เมื่อพิจารณาผลทางฤดูกาลพบว่าภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยมีอยู่ต่อเนื่อง ประกอบกับอุปสงค์เพื่อที่อยู่อาศัยที่ยังคงขยายตัวได้ดี ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 2 ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวร้อยละ 7.1 ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวร้อยละ 17.2

          คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 3.25 (ในวันที่ 13 ก.ค. 2554) ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งที่ 5 ตั้งแต่ต้นปี 2554 เป็นต้นมา เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ และราคาน้ำมันที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง

          ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน มิ.ย. 54  อยู่ที่ระดับ 72.3 เป็นการปรับเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน  โดยได้รับปัจจัยบวกจาก 1) รายได้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งรายได้จากการส่งออก และรายได้ของเกษตรกรที่ยังคงทรงตัวในระดับสูง 2) ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวลดลง และ 3) การใช้จ่ายที่ปรับเพิ่มขึ้นจากเม็ดเงินที่สะพัดในช่วงเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงกังวลเรื่องค่าครองชีพและราคาสินค้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง