เนื้อหาวันที่ : 2011-07-19 09:54:01 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2308 views

ปตท.จับมือมิตซู ตั้งโรงงานผลิตพลาสติกจากน้ำตาล

ปตท. ผนึกกำลังมิตซู ญี่ปุ่น ตั้ง พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม ผลิตพลาสติกชีวภาพ PBS จากน้ำตาลรายแรกของโลก

          ปตท. ผนึกกำลังมิตซู ญี่ปุ่น ตั้งบริษัท “พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม” โรงงานพลาสติกชีวภาพชนิด PBS จากน้ำตาล รายแรกของโลก

          นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. เปิดเผยว่า จากที่ ปตท. ตระหนักถึงความสำคัญกับการแสวงหาพลังงานทดแทนที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเพื่อผลักดันอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในประเทศไทยอย่างยั่งยืน รวมทั้งการก้าวขึ้นเป็นผู้นำของภูมิภาค ปตท. ได้ดำเนินการลงทุนโครงการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิด Polybutylene Succinate (PBS) ที่ใช้วัตถุดิบจากสินค้าเกษตร

          การดำเนินโครงการผลิตพลาสติกชีวภาพของ ปตท. ได้ร่วมทุนกับบริษัท มิตซูบิชิ เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจในอุตสาหกรรมเคมีและมีเทคโนโลยีการผลิต PBS ในระดับเวิลด์คลาสในการจัดตั้งบริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม จำกัด (PTTMCC Biochem Company Limited) ถือหุ้นฝ่ายละ 50% เพื่อพัฒนาโครงการผลิตสารตั้งต้น Bio-Succinic Acid (BSA) และโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิด Polybutylene Succinate (PBS) โดยใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติคือ น้ำตาล

          ทั้งนี้ บริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม จดทะเบียนบริษัทเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2554 ด้วยทุนจดทะเบียน 360 ล้านบาท จะเริ่มก่อสร้างโรงงานในปี 2555 และคาดว่าจะสามารถดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในปลายปี 2557

          นายประเสริฐกล่าวว่า การดำเนินการของพีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม ถือว่าเป็นการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิด PBS จากพืชเป็นรายแรกของโลก เพราะปัจจุบันการผลิตเม็ดพลาสติก PBS จะใช้ปิโตรเลียมทั้งสิ้น โดยโครงการสารตั้งต้น BSA จะมีกำลังการผลิต 36,000 ตันต่อปี และโครงการพลาสติกชีวภาพชนิด PBS จะมีกำลังการผลิต 20,000 ตันต่อปี ซึ่งการลงทุนดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญที่สนับสนุนให้ไทยก้าวสู่การเป็น bio-hub ของเอเชีย

          "การร่วมทุนกับมิตซูบิชิ เคมิคอล เพื่อจัดตั้งบริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม จะส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพได้แบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิตสารตั้งต้น เม็ดพลาสติก จนถึงพลาสติกสำเร็จรูป โดยไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกไทยไปได้ไกลยิ่งขึ้น"

          โครงการดังกล่าว จะตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเอเซีย (AIE) จังหวัดระยอง รวมพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ นอกจากนี้ ปตท. ยังมีที่ดินในนิคมดังกล่าว อีก1,500 ไร่ ซึ่ง ปตท. มีแผนจะขยายการลงทุน เพื่อที่จะส่งเสริมนโยบาย Bio-hub ของเอเชีย ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550-2554)

          นายฮิโรอากิ อิชิซูกะ Senior Managing Executive Officer (ผู้บริหารระดับสูง) บริษัท มิตซูบิชิ เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น แห่งประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า การที่บริษัท มิตซูบิชิฯ เลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตนั้น นอกจากไทยจะมีแหล่งวัตถุดิบการเกษตรที่มีศักยภาพทั้งอ้อย และมันสำปะหลัง จนกล่าวได้ว่าเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลและมันสำปะหลัง อันดับต้นๆ ของโลก นอกจากนี้ประเทศไทยยังอยู่ใกล้จุดยุทธศาสตร์สำคัญของตลาดพลาสติกชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดในโลก อันได้แก่ ประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ทำให้ต้นทุนในการขนส่งและการค้ามีความได้เปรียบกว่าประเทศอื่น ๆ

          ยิ่งไปกว่านั้น ปตท. เป็นองค์กรที่มีประสบการณ์และความพร้อม ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม และปิโตรเคมีที่ครบวงจร มีอุตสาหกรรมปลายน้ำและการตลาดที่แข็งแกร่ง จึงสามารถรองรับการผลิต ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้

          ดร.ปรัชญา ภิญญาวัธน์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. กล่าวว่า ในระยะเบื้องต้นกลุ่มลูกค้าหลักของพลาสติกชีวภาพ จะเน้นไปยังกลุ่มตลาดต่างประเทศและกลุ่มยุโรป อเมริกา ที่ปัจจุบันมีแนวโน้มความต้องการใช้สูงขึ้นประมาณ 25% ต่อปี โดยในปี 2553 ความต้องการใช้พลาสติกชีวภาพทั่วโลกอยู่ที่ 200,000 ตันต่อปี และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,200,000 ตัน ภายในปี 2563

          จุดเด่นของ พลาสติกชีวภาพ คือ สามารถขึ้นรูปได้หลากหลาย มีความแข็งแรง ยืดหยุ่น และรีไซเคิลได้เหมือนพลาสติกทั่วไป หากมีข้อจำกัดบ้าง เช่น ไม่ทนร้อน หรือถ้าใช้เป็นขวดน้ำก็มีอายุใช้งานได้นานไม่เกิน 4-6 เดือน นอกจากนี้พลาสติกชีวภาพ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิต ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน เพราะใช้วัตถุดิบจากพืชที่สามารถปลูกทดแทนได้ ขณะที่ปิโตรเลียมใช้แล้วหมดไป และที่สำคัญสามารถย่อยสลายได้ด้วยวิธีการทางชีวภาพ ทำให้ไม่ต้องลงทุนจำนวนมหาศาลเพื่อจัดการกับปัญหาขยะล้นโลก เรียกว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอด value chain

          นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างประโยชน์ในแก่ชุมชน สังคมและประเทศ ในแง่มุมต่างๆ อาทิ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์เกษตร การนำมาซึ่งเทคโนโลยีใหม่ ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่บุคลากรไทย รวมถึงการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทย เป็นต้น

          อนึ่งแผนการดำเนินธุรกิจของบริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม แบ่งออกเป็น 2 เฟส โดยเฟส 1 คือการพัฒนาตลาด PBS ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งออกแบบการก่อสร้างโรงงานผลิต PBS ขนาด 20,000 ตันต่อปี และพัฒนาทางเลือกเทคโนโลยีการผลิตสารตั้งต้น BSA หรือBio-succinic acid

          ขณะที่เฟส 2 จะเริ่มการก่อสร้างโรงงานผลิต PBS และโรงงานผลิต BSA ขนาด 36,000 ตันต่อปี คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างโรงงานประมาณ 2 ปี และดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในปลายปี 2557