เนื้อหาวันที่ : 2011-07-13 17:43:37 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1049 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 13 ก.ค. 2554

1. BOI เผยยอดลงทุน 6 เดือนเพิ่ม
-  คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เผยว่า ภาวะการลงทุน 6 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค. 54 - มิ.ย. 54) มีนักลงทุนได้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุน โดยมีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนแล้ว ทั้งสิ้น 882 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 616 โครงการ คิดเป็นร้อยละ  43.2  ในขณะที่มูลค่าเงินลงทุนรวมปรับมีจำนวน 2.47 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าอยู่ที่ 1.85 แสนล้านบาท 

-  สศค. วิเคราะห์ว่า การลงทุนจากต่างประเทศยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนมิ.ย. 54 มีจำนวนโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจำนวน 180 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 4.36 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ โครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในชวงครึ่งปีแรก ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง 2) กิจการกลุ่มบริการและสาธารณูปโภค และ3) กิจการกลุ่มเคมี กระดาษ และผลิตผลจากการเกษตร ในขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) มีจำนวน 522 โครงการ มีมูลค่าลงทุนจำนวน 1.67 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยสูงสุด มีจำนวน 272 โครงการ มีเงินลงทุนจำนวน 7.22 หมื่นล้านบาท รองลงมาประเทศเกาหลีใต้ ฮ่องกง จีน และสิงคโปร์ ตามลำดับ

2. เอสซีจีชี้เผยขึ้นค่าแรงทำต่างชาติย้ายฐานผลิต
-  บริษัท เอสซีจี เทรดดิ้ง ในเครือปูนซิเมนต์ไทย(เอสซีจี) เปิดเผยว่า นโยบายการปรับค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทของรัฐบาลใหม่ จะส่งผลให้ต้นทุนสินค้าปรับสูงขึ้น และกระทบกับผู้บริโภคในที่สุด ซึ่งหากมีการปรับค่าแรงงานขึ้น จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าปรับขึ้นสูงมาก และอาจจะทำให้ผู้ผลิตสินค้า หรือนักลงทุนต่างชาติ ย้ายการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง ลาว และเวียดนาม ที่มีค่าแรงงานต่ำกว่าและอาจส่งผลให้ประเทศไทยเสียเปรียบในการแข่งขัน

-  สศค. วิเคราะห์ว่า การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ เพิ่มกำลังการใช้จ่ายของผู้ที่มีรายได้น้อย ทำให้การจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำควรสอดคล้องกับความต้องการดำรงชีพและเพื่อให้เป็นตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety Net) และควรมีการเสนอมาตรการด้านภาษีเพื่อลดภาระของผู้ประกอบการให้สอดคล้องกับผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างขึ้นต่ำที่แท้จริง ทั้งนี้ การบังคับใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะครอบคลุมผู้ใช้แรงงานเพียง 2 ล้านคน ดังนั้น ควรให้ความสำคัญกับแรงงานนอกระบบที่มีจำนวนมากถึง 24 ล้านคน ผ่านการให้ความช่วยเหลือในด้านสวัสดิการและให้หลักประกันรายได้

3. ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติคงอัตราดอกเบี้ยเดิมที่ร้อยละ 0 - 0.10
-  คณะกรรมการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมคือ ร้อยละ   0 - 0.10  และสนับสนุนโครงการซื้อสินทรัพย์วงเงิน 10 ล้านล้านเยน  เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศภายหลังจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ        

-  สศค. วิเคราะห์ว่า การใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น นอกเหนือจากการใช้นโยบายการคลังแบบขาดดุล โครงการสินเชื่อวงเงิน 30 ล้านล้านเยน การเพิ่มเงินในโครงการกองทุนซื้อสินทรัพย์วงเงิน 10 ล้านล้านเยน และการจัดตั้งกองทุนเพื่อเพิ่มทุนให้แก่ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อแก้ไขปัญหาห่วงโซ่อุปทาน  โดยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจต่างๆ เริ่มคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น สะท้อนจาก (1) ผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน พ.ค.54  ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า  เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.6  (2) คำสั่งซื้อผู้จัดการฝ่ายผลิต (Mfg PMI) เดือน มิ.ย.54 อยู่ที่ 50.7 

(3) คำสั่งซื้อเครื่องจักรภาคเอกชน เดือน มิ.ย.54 ขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า  (4) ยอดส่งออกสินค้าเดือน พ.ค.54 หดตัวร้อยละ  -10.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า  หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -12.4  และ (5) การใช้จ่ายบริโภคภายในประเทศในเดือน พ.ค.54 อยู่ที่ร้อยละ  -0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ  -3.0  ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้แสดงถึงสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น  ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปี 54 จะหดตัวร้อยละ -0.6 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย.54) 

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง