เนื้อหาวันที่ : 2011-07-12 17:04:57 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1782 views

จีอี เอ็นเนอร์ยี ชูสมาร์ทกริดเสริมศักยภาพการใช้พลังงานของไทย

เทคโนโลยีสมาร์ทกริด เทคโนโลยีเพื่อการใช้พลังงานที่คุ้มค่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

จีอี เอ็นเนอร์ยี ดันเทคโนโลยีสมาร์ทกริด
เสริมศักยภาพการใช้พลังงานของไทยในอนาคต

เศรษฐกาญจณ์ อนุวัตรวงศ์
sedthakarn@se-ed.com
     
          การพัฒนาของโลกปัจจุบัน มีการขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว ทั้งในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมการผลิต ทำให้ความต้องการทางด้านพลังงาน มีอัตราส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน สำหรับในประเทศไทย ความต้องการใช้พลังงานจะมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในรูปแบบของน้ำมันปิโตรเลียม พลังงานน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ และมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของการใช้พลังงาน จำเป็นต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะน้ำมันปิโตรเลียมที่ปัจจุบันมีปริมาณลดลงอย่างมาก สวนทางกับราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี และในประเด็นนี้ได้มีการคาดการณ์กันว่าในอีก 40 ปีข้างหน้า ความต้องการใช้ปริมาณน้ำมันในโลกจะมีสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 70 เปอร์เซ็นต์

ในขณะเดียวกัน ทั้งในกระบวนการผลิตพลังงานและกิจกรรมการใช้พลังงานของมนุษย์ ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นสภาวะโลกร้อนในปัจจุบันอีกด้วย ดังนั้นจึงไม่แปลกถ้าหากว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเด็นของการประหยัดพลังงาน การส่งเสริมการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด แนวทางการใช้พลังงานทดแทน รวมไปถึงประเด็นของการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกเข้ามารวมไว้ด้วยกันกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของประเทศในแต่ละปี

          สำหรับวารสารอินดัสเตรียล เทคโนโลยี รีวิว ฉบับนี้ ได้มีโอกาสทำความรู้จักกับเทคโนโลยี สมาร์ทกริด (Smart Grid) หรือ ระบบโครงข่ายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเพื่อการใช้พลังงานที่คุ้มค่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเราได้รับเกียรติจากผู้บริหารของ จีอี เอ็นเนอร์ยีคือ ดร.บาร์ทอชซ์ วอทส์ซิค ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีสมาร์ทกริด และ คุณโกวิทย์ คันธาภัสระ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยและภาคพื้นอินโดจีน บริษัท จีอี เอ็นเนอร์ยี จำกัด มาร่วมพูดคุยถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีสมาร์ทกริด, ความต้องการและความพร้อมของประเทศไทยในการนำเทคโนโลยีสมาร์ทกริดมาใช้, ความเหมาะสมในการนำเทคโนโลยีสมาร์ทกริดมาปรับใช้กับระบบสาธารณูปโภคด้านพลังงานของประเทศไทย รวมถึงความมุ่งมั่นของจีอี เอ็นเนอร์ยีที่มีต่อเทคโนโลยีสมาร์ทกริดปัจจุบัน

ดร.บาร์ทอชซ์ วอทส์ซิค
หัวหน้าฝ่ายของโกลบอล สมาร์ทกริด เทคนิคัล โซลูชั่น
คุณโกวิทย์ คันธาภัสระ
กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยและภาคพื้นอินโดจีน
บริษัท จีอี เอ็นเนอร์ยี จำกัด


ทำความรู้จักกับเทคโนโลยีสมาร์ทกริด
          เทคโนโลยี สมาร์ทกริด คือ โครงข่ายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยให้ผู้ให้บริการทางด้านพลังงานไฟฟ้าและผู้ใช้บริการ สามารถบริหารปริมาณพลังงานและความต้องการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเทคโนโลยีสมาร์ทกริดนี้เป็นเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิดของจีอี เอ็นเนอร์ยี คือ Ecomagination ที่มุ่งตอบสนองต่อความต้องการของเทคโนโลยีเพื่อการใช้พลังงานที่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

          “ดังนั้นสมาร์ทกริดจึงเปรียบเสมือนอินเทอร์เน็ตในเวอร์ชันพลังงาน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถเชื่อมโยงสื่อสารเอาระบบข้อมูลพลังงาน, ระบบการทำงานอัตโนมัติเข้าด้วยกันกับระบบสาธารณูปโภคทางด้านไฟฟ้าที่มีอยู่ของประเทศในปัจจุบัน เพื่อที่จะสามารถรองรับความต้องการทางด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นในศตวรรษที่ 21 นี้ ซึ่งระบบที่กล่าวถึงนั้นครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการผลิตไฟฟ้า (Generation) ระบบส่งไฟฟ้า (Transmission) ไปจนถึงระบบการจ่ายไฟฟ้า (Distribution) ให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจหรือภาคอุตสาหกรรม” ผู้บริหารของจีอี เอ็นเนอร์ยีกล่าว
    
จุดเด่นของเทคโนโลยีสมาร์ทกริด
          สมาร์ทกริด เป็นโซลูชันที่ถูกบูรณาการเข้าด้วยกันระหว่างเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรม และประสบการณ์ที่สั่งสมมากว่า 120 ปีจนกลายเป็นวัฒนธรรมของ จีอี เอ็นเนอร์ยี “เรามีวิสัยทัศน์ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสมาร์ทกริดแบบครบวงจร ที่สามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีความสามารถหลากหลาย นอกจากนี้เรายังมี ศูนย์ความเป็นเลิศ ของสมาร์ทกริด ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองแอตแลนต้า สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีห้องปฏิบัติการวิศวกรรมสมาร์ทกริด และเดินทางไปหลายประเทศเพื่อโชว์สมาร์ทกริดโซลูชันสำหรับผู้บริโภค ส่วนในภูมิภาคเอเชีย เรามี ศูนย์สาธิตประเทศจีน (China Demo Centre) ที่เมืองหยางโจว ประเทศจีน ที่จะกลายเป็นจุดหมายปลายทางของทั่วโลกสำหรับพลังงานไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง ที่มีความน่าเชื่อถือและมีความยั่งยืน”

          ผู้บริหารของจีอี เอ็นเนอร์ยี ยังกล่าวเสริมว่า “ในส่วนของประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ เรามีกรณีศึกษาจากความสำเร็จทางด้านเทคโนโลยีสมาร์ทกริดจากหลายประเทศทั่วโลก นอกจากนี้เราก็ยังมีโครงการนำร่องอีกหลายโครงการด้วยกัน ส่วนในระดับภูมิภาคเอเชีย ปัจจุบัน จีอี เอ็นเนอร์ยี มีการทดสอบระบบเครือข่ายสมาร์ดกริดที่เกาะเจจู ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งครอบคลุมผู้บริโภคพลังงานถึง 6,000 หลังคาเรือน โดยรูปแบบการทดสอบนี้จะเป็นรูปแบบจำลองที่สามารถใช้เป็นต้นแบบในการนำเทคโนโลยีสมาร์ทกริดไปใช้พัฒนาในประเทศอื่น ๆ ได้ในอนาคต โดยขอบเขตการทำงานของระบบทดสอบนี้ครอบคลุมตั้งแต่ ระบบการจัดการขณะไฟฟ้าดับ (Outage Management Systems: OMS), มิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Meters), ซอฟต์แวร์ช่วยในการวางเครือข่ายกระแสไฟฟ้า (Electrical Office: EO) และระบบการจัดการความต้องการ (Demand Management Systems: DMS) โดยโครงการนี้จะเกิดขึ้นในปี 2556 และสำหรับการเคลื่อนไหวในครั้งนี้จึงเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นที่มีต่อจีอีสมาร์ทกริด”

โครงสร้างของสมาร์ทกริด (Smart Grid) หรือ ระบบโครงข่ายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ

รูปแบบตัวอย่างการทำงานของสมาร์ทกริดที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตมนุษย์

สมาร์ทกริดจะช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมายด้านพลังงานได้อย่างไร
          ปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศประมาณเก้าแสนล้านบาทต่อปี ซึ่งคิดเป็น 10-15% ของจีดีพี และในส่วนของการใช้ไฟฟ้านั้นมีการเปรียบเทียบกันว่าหากประเทศมีการเติบโตทางเศรษฐกิจคิดเป็น 5% ก็จะมีการใช้ไฟฟ้าประมาณ 7-8% และมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ดังนั้นภาครัฐจึงมีแนวนโยบายในการส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงสนับสนุนให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียน และพลังงานทดแทนกันมากขึ้น เพื่อลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศให้น้อยลง ดังนั้นระบบกริดจึงมีความสำคัญในการส่งเสริมให้แนวนโยบายที่กล่าวมาประสบความสำเร็จได้

          “สำหรับระบบกริดในระบบไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทน อาทิเช่น โซลาร์เซลล์, พลังงานลม หรือกรีนเจเนอเรชันในรูปแบบอื่น ๆ นั้น การจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบกริดจะเป็นไปในลักษณะที่ไม่ต่อเนื่องเหมือนกับการจ่ายไฟฟ้าแบบทั่วไป พลังงานที่ได้รับจึงไม่สม่ำเสมอ ดังนั้นระบบกริดจึงต้องมีความฉลาดขึ้น เพื่อทำให้ระบบพลังงานมีประสิทธิภาพสูงสุด”

          “เทคโนโลยีสมาร์ทกริด จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้ระบบการเชื่อมต่อพลังงานทำงานได้อย่างสมบูรณ์และเกิดความเสถียรภาพมากขึ้น โดยสมาร์ทกริดจะทำหน้าที่รวบรวมพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทดแทน (อาทิเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานจากชีวมวล ยานพาหนะไฟฟ้า) เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเครือข่ายพลังงาน เพิ่มความสามารถในการควบคุมการใช้พลังงานให้แก่ผู้บริโภค ได้ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง ส่วนในขั้นตอนการส่งและจำหน่ายพลังงานนั้น สมาร์ทกริดจะสามารถลดความสูญเสียทางด้านพลังงานได้ถึง 1-2% ในกระบวนการนี้ เพราะมีระบบซอฟต์แวร์ที่ติดตามประเมินผล และวิเคราะห์ระบบอยู่ตลอดเวลา ซึ่งนั่นก็หมายความว่า เราสามารถผลิตพลังงานในปริมาณที่น้อยลง เพื่อทดแทนส่วนที่สูญเสียไปตามกาลเวลา ส่งผลให้ประสิทธิภาพการดำเนินงานดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดและยังช่วยประหยัดพลังงานได้อีกด้วย และนอกจากการใช้พลังงานทดแทนจะเป็นการลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลแล้ว ยังเป็นการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศโลก จึงนับเป็นการช่วยสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่งด้วย” ผู้บริหารของจีอี เอ็นเนอร์ยีกล่าว

สมาร์ทโฮม หรือ บ้านอัจฉริยะ ใช้ไอแพดเป็นเครื่องนำชมตัวบ้าน ผู้ที่เยี่ยมชมตัวอย่างบ้านอัจฉริยะสามารถตรวจสอบดูได้ว่า เราได้ทำการประหยัดพลังงานไปเท่าไร ด้วยแผงโซลาร์เซลล์ที่ได้รับการติดตั้งหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เครื่องตรวจสอบพลังงานอัจฉริยะ

เครื่องควบคุมการทำงาน แบบจำลองศูนย์จ่ายกระแสไฟฟ้าแสดงให้เห็นถึงระบบควบคุมการทำงานของศูนย์ปฏิบัติงานโดย ได้ทำการติดตั้งระบบการสาธิตทางด้านเทคนิค เพื่อช่วยให้วิศวกรเข้าใจมากยิ่งขึ้นถึงระบบกลไกอุปกรณ์จาก จีอี เอ็นเนอร์ยี่ เพื่อเพิมประสิทธิภาพในการทำงานและระบบที่น่าเชื่อถือ

ระบบนำเยี่ยมชม เทคโนโยลีสมาร์ทกริดได้ผนวกระบบการทำงานอัตโนมัติและเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าด้วยกัน ด้วยระบบโครงสร้างสาธารูปโภคด้านพลังงานที่มีอยู่ในปัจจุบันโดยปฏิบัติตัวเสมือน "อินเตอร์เน็ตพลังงาน" ซึ่งสามารถให้ข้อมูลความรู้ด้านการใช้พลังงานที่เกิดขึ้นจริง ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความรู้เพียงพอในการเลือกใช้พลังงานอย่างชาญฉลาด

การดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดและประเทศไทย
          การดำเนินงานโครงการทางด้านพลังงานปัจจุบันมีการตื่นตัวกันมากขึ้น เทคโนโลยีทางด้านสมาร์ทกริดเองก็ได้มีการขยายตัวมากขึ้นเช่นเดียวกัน ในส่วนของจีอีก็เพิ่งมีการซื้อธุรกิจระบบควบคุมพลังงาน เครือข่ายการจัดการ และซอฟต์แวร์ควบคุมของ เอส เอ็น ซี-ลาวาลิน ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา  ในปีที่ผ่านมา  ซึ่งการซื้อกิจการในครั้งนี้  จะช่วยให้จีอีมีผู้เชี่ยวชาญด้านมีมากขึ้น ทั้งในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และบางท่านก็ประจำอยู่ที่ประเทศไทย ซึ่งจีอีต้องการที่จะพัฒนาและขยายศักยภาพนี้ออกไปอีก อันจะช่วยให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางของการปฏิบัติการและการให้บริการ โดยเฉพาะสำหรับเซกเมนต์ของธุรกิจ ซอฟต์แวร์สมาร์ทกริด ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

          สำหรับในส่วนของประเทศไทยนั้น จีอียังไม่มีตัวเลขการลงทุนที่สามารถเผยแพร่ได้ในขณะนี้ แต่ก็เป็นที่แน่ชัดว่าจีอีมีแผนงานสำหรับธุรกิจสมาร์ทกริดในประเทศไทย “เครือข่ายทางด้านพลังงานที่เรามีอยู่ในประเทศไทยตอนนี้มีอายุมากกว่า 40 ปี และก็ได้ทำงานเป็นอย่างดีตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ อย่างไรก็ตาม ความต้องการไฟฟ้าจะผลักดันให้โครงสร้างพื้นฐานทางด้านไฟฟ้าของประเทศเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เนื่องด้วยปัจจัยของความต้องการพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งนโยบายของภาครัฐที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนรวมถึงกิจกรรมทางด้านพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นสมาร์ทกริดโซลูชัน จะกลายเป็นตัวช่วยให้ประเทศไทยสามารถรวบรวมแหล่งพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนเข้าสู่เครือข่ายพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการใช้ซอฟต์แวร์ชั้นสูงที่มีประสิทธิภาพในการรวมแหล่งพลังงานเข้าสู่เครือข่ายได้อย่างสมดุล ในส่วนของผู้บริโภคก็ยังสามารถจัดการกับการใช้พลังงานและลดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย”

          “ปัจจุบันโครงการสมาร์ทกริดของจีอีในประเทศไทย ยังอยู่ในระหว่างการพูดคุยกับองค์กรภาครัฐและยังไม่สามารถทำการเปิดเผยข้อมูลได้ ณ ตอนนี้เนื่องจากยังไม่มีแผนที่เป็นรูปธรรมชัดเจน แต่หากว่ามีโอกาสที่ดีในอนาคต ทางจีอียินดีที่จะร่วมหารือและประกาศให้ทราบอย่างเป็นทางการต่อไป” ผู้บริหารของจีอี เอ็นเนอร์ยีกล่าวเสริม

ความมุ่งมั่นของจีอี เอ็นเนอร์ยีต่อเทคโนโลยีสมาร์ทกริด
          องค์ประกอบที่สำคัญของสมาร์ทกริด เปรียบเสมือนการเดินทางระยะยาวซึ่งต้องเริ่มต้นด้วยก้าวแรกเสมอ แต่ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีและความต้องการของประเทศรวมถึงผู้บริโภคพลังงานมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สมาร์ทกริดก็คงจะไม่ได้เกิดขึ้นด้วยเวลาเพียงข้ามคืน ดังนั้นด้วยอาศัยประสบการณ์ที่สั่งสมมาทั้งทางด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรม จะเป็นปัจจัยหนุนให้เราประสบความสำเร็จได้ “เรามีการลงทุนในเรื่องของ R&D ประมาณมากกว่า 5,000 ล้านเหรียญฯ ที่จะผลักดันในเรื่องของการทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น เรื่องของการลดคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้เชื้อเพลิงที่มีการหมุนเวียน (Renewable Energy), Biofuel, การโปรโมตในเรื่องของการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ซึ่งการดำเนินงานของเรามีความสอดคล้องกับความต้องการของทุกฝ่ายทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมถึงผู้บริโภคทุกคนในประเทศ จึงคิดว่าเทคโนโลยีสมาร์ทกริดจะเป็นส่วนหนึ่งในการรวมรวมแหล่งพลังงานสะอาดให้กับประเทศได้  รวมถึงจะเป็นปัจจัยผลักดันให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในส่วนของผู้บริโภคเองก็สามารถใช้ข้อมูลทางด้านพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อรวมประโยชน์ทั้งหลายเหล่านี้เข้าด้วยกัน ก็จะทำให้พื้นฐานโครงสร้างทางไฟฟ้าของเรามีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น ก่อให้เกิดความมั่นคงทางพลังงานกับประเทศโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาจากประเทศอื่น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของเรานั้นเจริญเติบโตยิ่งขึ้นด้วย” ผู้บริหารของ จีอี เอ็นเนอร์ยี กล่าวทิ้งท้าย