เนื้อหาวันที่ : 2011-07-08 09:47:34 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2427 views

โรงอบยางพาราพลังแสงอาทิตย์

มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย วิจัย โรงอบยางพาราพลังแสงอาทิตย์ พัฒนาคุณภาพชีวิตชาวสวน เพิ่มมูลค่า ยางแผ่นดิบ

 

         มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย วิจัย โรงอบยางพาราพลังแสงอาทิตย์ พัฒนาคุณภาพชีวิตชาวสวน เพิ่มมูลค่า ยางแผ่นดิบ

          “ยางพารา” เป็นพืชเศรษฐกิจที่เดิมนิยมปลูกกันมากในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศ แต่ในปัจจุบันได้ขยายพื้นที่ปลูกยางออกไปเกือบทุกภาคของประเทศ เป็นผลมาจากความต้องการทั้ง “น้ำยาง” และ “ยางแผ่น” ในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มูลค่าของยางเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

          จังหวัดเลย ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีการนำยางพาราเข้ามาปลูกเมื่อกว่า 20 ปีที่ผ่านมา เพื่อทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวแบบเดิมๆ อย่างข้าวโพด มะขาม และมันสำปะหลัง ซึ่งมักมีราคาไม่แน่นอน จนปัจจุบันเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่สำคัญของจังหวัด โดยมีพื้นที่ปลูกยางพารารวมกันทั้งจังหวัดไม่ต่ำกว่า 1 แสนไร่ ซึ่งสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกรชาวสวนยางได้เป็นอย่างดี ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัด

          แต่ในกระบวนการ “อบแห้งยางแผ่นดิบ” เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมที่จะตากแผ่นยางพาราไว้ในบ้าน ซึ่งการตากยางพาราแต่ละชุดจะใช้เวลาประมาณ 20-30 วัน แผ่นยางจึงจะแห้งสนิท และสามารถที่จะพับเก็บไว้เพื่อรอการจำหน่ายได้ ในระหว่างนี้ภายในบ้านจึงมีกลิ่นเหม็นของ “ยางพารา” ที่เกิดจาก “กรดฟอร์มิก” ที่ใช้ในกระบวนการทำยางแผ่น นอกจากนี้ยังมี “เชื้อรา” เกิดขึ้นบนแผ่นยาง เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพของตัวเกษตรกรและครอบครัวที่ต้องอาศัยอยู่ร่วมกันกับยางพาราทุกวันเป็นเวลานานกว่า 9 เดือนของแต่ละปี

          นักวิชาการจาก มหาวิทยาลัยราชภัฎเลย และภาคีเครือข่ายจึงได้ร่วมกันจัดทำ “โครงการโรงอบยางพาราพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อชีวิตที่ยั่งยืน จังหวัดเลย” ขึ้นเพื่อศึกษาวิจัยหาแนวทางในการอบแห้งแผ่นยางพาราให้มีรูปแบบที่เหมาะสม และปลอดภัยต่อสุขภาพของเกษตรกรชาวสวนยาง โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

          ผศ.ดร.สุรจิตร์ พระเมือง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายนโยบายและแผน มหาวิทยาลัยราชภัฎเลย หัวหน้าโครงการฯเปิดเผยว่า เกษตรกรชาวสวนยางนิยมนำยางมาเก็บไว้ในบ้าน ทำให้เกิดปัญหากลิ่นยางที่กระทบต่อสุขภาพของเกษตรกร จึงเกิดแนวคิดว่าทำอย่างไรจะให้เกษตรกรเอายางออกจากบ้านไปไว้ข้างนอก แต่ก็มีปัญหาตามมาคือเรื่องความสะดวกของเกษตรกรที่ต้องเก็บยางเข้าออกเนื่องจากสภาพดินฟ้าอากาศ

          “โรงอบยางพาราพลังแสงอาทิตย์จึงเป็นทางออกที่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้ง 3 อย่างของเกษตรกรคือ ช่วยลดเวลาในการตากแผ่นยางให้สั้นลงกว่าครึ่งหนึ่ง มีความสะดวกสบายและความปลอดภัยมากขึ้นเพราะไม่ต้องคอยเก็บแผ่นยางเข้าออกเมื่อมีฝนตก ลดความวิตกกังวลกับปัญหาการลักขโมยแผ่นยาง และทำให้ครอบครัวห่างไกลจากกลิ่นเหม็นที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ” อาจารย์สุรจิตร์ระบุ

          โดยทางโครงการฯ ได้ทำการศึกษาวิจัยและออกแบบ “โรงอบยางพาราพลังแสงอาทิตย์” ออกเป็น 3 ขนาดตามปริมาณการผลิตของเกษตรกรคือ โรงเรือนขนาด 3x4 เมตร ความจุ 600 แผ่น โรงเรือนขนาด 3x6 เมตร ความจุ 800 แผ่น และโรงเรือนขนาด 4.2x6 เมตร ความจุ 1,000 แผ่น ซึ่งมีค่าก่อสร้างรวมถึงอุปกรณ์การตากยางทั้งหมด 60,000 บาท 80,000 บาท และ 100,000 บาทตามลำดับ โดยใช้หลังคาเป็นตัวรับรังสีดวงอาทิตย์ และใช้แผ่นโพลีคาร์บอเนตใสเป็นผนังร่วมกับปูนซีเมนต์ เป็นแหล่งเก็บกักความร้อน และระบายความชื้นออกจากโรงอบโดยวิธีการพาความร้อนแบบธรรมชาติ และมีพัดลมระบายความชื้นกรณีฉุกเฉินที่มีฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานานมากกว่า 3 วัน

          ข้อดีของการใช้โรงอบยางพาราพลังงานแสงอาทิตย์คือสามารถควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ระหว่าง 35-60 องศาเซลเซียสซึ่งเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการตากยาง ซึ่งจะช่วยลดเวลาในการตากยางลงจากปกติที่ตากแบบธรรมดาจะใช้เวลา 30 วัน เหลือเพียงเวลา 15 วัน หากเป็นช่วงฤดูหนาวและมีแสงแดดทั้งวัน จะลดเวลาตากเหลือแค่ 7 วันเท่านั้น นอกจากนี้ยังช่วยลดเวลาในการทำงานของเกษตรกร โดยไม่ต้องคอยกังวลเรื่องว่าจะมีคนมาขโมยแผ่นยางหรือฝนจะตกแดดจะออกหรือไม่

          นายระบอบ พลมุข อายุ 51 ปี เกษตรกรชาวสวนยางจาก บ้านกกดู่ หมู่ที่ 10 อ.เมือง จ.เลย เล่าให้ฟังว่า เริ่มปลูกยางมาตั้งแต่ปี 2546 โดยมีพื้นที่ปลูกยางทั้งหมด 35 ไร่ ปัจจุบันสามารถกรีดยางได้แล้วจำนวน 18 ไร่ หรือประมาณ 900 ต้น โดยเฉลี่ยแล้วจะสามารถผลิตแผ่นยางได้ประมาณ 20-24 แผ่นต่อวัน เดิมต้องใช้คนงานนำยางออกตากแดดโดยต้องรื้อเข้ารื้อออกจากตัวบ้านแทบทุกวัน

          “พอฝนตกก็ลำบาก ต้องเอาแผ่นยางมาเก็บไว้ใต้ถุนบ้าน ยางก็มีกลิ่นเหม็นรบกวน บางครั้งถ้าไม่อยู่บ้านก็ต้องคอยระวังว่าจะมีคนมาขโมย แต่เมื่อมาเข้าร่วมโครงการฯ โดยออกค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งร่วมกับทางคณะผู้วิจัยในการจัดสร้างโรงเรือนเพื่อตากยาง ก็พบว่าคุณภาพแผ่นยางก็ดีกว่าสีสวยกว่าการตากแบบเดิมๆ ทำให้ได้ราคาดี และก็นอนหลับได้อย่างสบายใจขึ้น ไม่ต้องกลัวขโมย สุขภาพจิตก็ดีขึ้น” นายระบอบระบุ

          นางลำไย บุญมา และสามี นายถวัลย์ บุญมา อายุ 65 ปีเท่ากัน เกษตรกรชาวสวนยางจาก บ้านกกดู่ หมู่ที่ 8 อ.เมือง จ.เลย ทั้งคู่บอกว่าทำสวนยางมาได้ประมาณ 7 ปี ที่ผ่านมาต้องเจอกับปัญหากลิ่นเหม็นจากยางแผ่น ไหนจะต้องคอยเก็บแผ่นยางเข้าออกจากบ้านเมื่อฝนตกทำให้เสียเวลาในการดูแลค่อนข้างมาก

          “พอเข้าร่วมโครงการและตากยางในโรงเรือนก็พบว่าแผ่นยางแห้งเร็วกว่าการตากแดด เนื้อยางแผ่นมีสีสวยเป็นสีทอง ยางแผ่นดูดีและมีราคากว่าแผ่นยางที่ตากด้วยวิธีการเดิมๆ แถมยังไม่มีเชื้อราแป้งและราดำขึ้นที่แผ่นยางเพราะในโรงอบมีความร้อนที่เพียงพอ กลิ่นเหม็นของยางที่เคยมีก็หายไป” นางลำไยกล่าว

          ดต.สุริยนต์ มณีศรี อายุ 38 ปี เกษตรกรชาวสวนยางจาก บ้านตูบโกย ต.กกดู่ อ.เมือง จ.เลยเล่าว่าหันมาปลูกยางแทนการปลูกข้าวโพดและมันสำปะหลังตั้งแต่ปี 2545 เพราะเห็นว่ายางเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอายุยืนยาว ลงทุนครั้งเดียวเก็บผลผลิตได้นานและยังมีราคาดีเป็นที่ต้องการของตลาด

          “การตากแผ่นยางแบบนี้ดีกว่าการตากแดดหรือการทำยางแผ่นรมควัน ที่ต้องยุ่งยากในการหาฟืน และยังต้องคอยเฝ้าตลอดเวลา แถมยังสะดวก ไม่ต้องคอยกังวล คนงานก็มีเวลาดูแลงานอื่นๆ ในสวนมากขึ้น แผ่นยางที่ได้ยังมีคุณภาพดีสีสวยไม่มีสีดำคล้ำ ทำให้สามารถต่อรองราคากับพ่อค้าได้ดีกว่า” ดต.สุริยนต์กล่าว

          “โรงอบยางพาราพลังแสงอาทิตย์ส่งผลดีเกษตรกรหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสะดวกสบาย ความปลอดภัย ไม่ต้องกังวล ดังนั้นสุขภาพจิตก็จะดีขึ้น ข้อดีลำดับต่อมาซึ่งเป็นจุดที่สำคัญคือ กลิ่นยางที่เกิดจากกรดและความชื้นที่ก่อให้เกิดเชื้อรา สิ่งเหล่านี้ในระยะยาวอาจจะมีผลต่อสุขภาพได้ แต่เมื่อเอายางออกจากบ้านมาอยู่ในโรงเรือน เรื่องสุขภาพจึงน่าจะดีขึ้นแน่นอน เพราะลดปัญหาเรื่องกลิ่นและเชื้อราไป ช่วยให้คุณภาพชีวิตและสุขภาพของเกษตรกรชาวสวนยางดีขึ้นกว่าเดิม” ผศ.ดร.สุรจิตร์ พระเมือง หัวหน้าโครงการกล่าวสรุป.