เนื้อหาวันที่ : 2011-07-08 09:36:04 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2123 views

กังหันลมผลิตไฟฟ้า พลังงานทางเลือกบนพื้นที่สูง

สสส. หนุนชุมชนใช้ศักยภาพท้องถิ่นพึ่งพาตนเอง สร้างกังหันลมผลิตไฟฟ้า ดึงน้ำขึ้นมาใช้ในพื้นที่สูง

          “กังหันลมผลิตไฟฟ้า” พลังงานทางเลือกบนพื้นที่สูง สสส. หนุนชุมชนใช้ศักยภาพท้องถิ่นพึ่งพาตนเอง      การทำการเกษตรบนพื้นที่สูงปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของเกษตรกรก็คือ “น้ำ” เพราะแหล่งน้ำในธรรมชาติมักจะอยู่ในพื้นที่ต่ำ ทำให้เกษตรกรต้องพึ่งพาเครื่องสูบน้ำที่ต้องใช้พลังงานจาก “ไฟฟ้า” หรือ “น้ำมัน” เพื่อดึงน้ำขึ้นมาใช้ในการเพาะปลูก

          แต่การใช้พลังงานเหล่านี้ล้วนมีค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังมีแนวโน้มของราคาที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงที่มีแนวคิดในการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตจากเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวมาสู่ระบบเกษตรกรรมเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร นอกจากต้องประสบกับปัญหาในเรื่องของ “แหล่งน้ำ” เพราะพื้นที่ทำกินส่วนใหญ่อยู่บนภูเขาสูงแล้ว และยังจะต้องเผชิญกับปัญหา “ต้นทุนการผลิต” ที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย

          เมื่อ “น้ำ” เป็นปัญหาสำคัญของการทำการเกษตรทางเลือกบนพื้นที่สูง เพราะหากพืชขาดน้ำก็จะไม่สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ ทาง “เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูต้นน้ำป่าสัก” จึงร่วมกันจัดทำ “โครงการวิจัยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากพลังงานลมเพื่อจัดการระบบน้ำและการเกษตรบนพื้นที่สูง” ขึ้นเพื่อศึกษารูปแบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม และประยุกต์ใช้พลังงานลมในการจัดการระบบน้ำ โดยร่วมกับชุมชนพัฒนาพลังงานสะอาดที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ อันจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาวะของชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

          นายศาศวัต ต้นกันยา หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า การวิจัยครั้งนี้จัดทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรเครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศน์ต้นน้ำป่าสัก ที่ต้องการปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นเกษตรกรผสมผสาน ซึ่งประสบปัญหาในเรื่องของสภาพพื้นที่ซึ่งเป็นภูเขาสูงแต่มีแหล่งน้ำอยู่ด้านล่าง ปัญหาก็คือว่าจะนำน้ำขึ้นมาใช้ได้อย่างไร

          “เพราะสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่บนภูเขาสูง และเห็นพลังงานที่มีอยู่ในท้องถิ่นคือกระแสลม จึงเกิดความคิดที่จะใช้ลมมาปั่นกังหันเพื่อสร้างกระแสไฟฟ้า แล้วนำไฟฟ้าไปสูบน้ำขึ้นมาเพื่อใช้ในการเกษตร ไฟฟ้าอีกส่วนหนึ่งก็จะนำไปใช้ส่องสว่างในบ้าน เพราะครอบครัวของเกษตรกรที่อยู่ตามไร่สวนจะไม่มีไฟฟ้าใช้ เมื่อมีไฟฟ้าใช้แล้ว แม่บ้านก็สามารถเย็บปักถักร้อยหรือทำงานอื่นๆ ในตอนกลางคืนได้” นายศาศวัตกล่าว

          ทางโครงการฯ ได้นำแกนนำชาวบ้านไปศึกษาดูงานการผลิตกังหันลมจาก มูลนิธิเลยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ อ.น้ำหนาว จ.เลย และ โครงการวิจัยเรื่องพลังงานลม จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งชาวบ้านทุกคนเห็นตรงกันว่าสามารถทำได้ จึงได้นำความรู้ที่ได้มาทดลองสร้าง “กังหันลม” เพื่อนำไปติดตั้งในพื้นที่ของ บ้านวังบอน และ บ้านป่าสะแข ต.อิปุ่ม อ.ด่านซ้าย จ.เลย ซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 850 เมตร สภาพพื้นที่เป็นช่องเขามีลมพัดตลอดทั้งปี ซึ่งเหมาะสมกับการศึกษาและทดลอง

          นายดำรงศักดิ์ มะโนแก้ว เจ้าหน้าที่โครงการฯ บอกว่าหลังจากนำแกนนำชาวบ้านที่มีความรู้ในเชิงช่างแขนงต่างๆ ทั้งช่างไม้ ช่างไฟ ช่างเชื่อม ไปศึกษาดูงานเรื่องพลังงานลมเมื่อปลายปี 2553 กลับมาทุกคนก็มาลองทำ โดยช่วยกันสร้างกังหันลมออกมาจำนวน 2 ตัว มีต้นทุนในการผลิตตัวละประมาณ 60,000 บาท รวมค่าใช้จ่ายทุกอย่างตั้งแต่ค่าแรง อุปกรณ์ และแบตเตอรี่ โดยพยายามใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่นมาประกอบขึ้นเป็นกังหันลมเพื่อให้มีราคาที่ถูกลงคุ้มค่าแก่การลงทุนของเกษตรกร

          “การทำกังหันลมนั้นไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคนิคต่างๆ ในการจัดสร้าง ชาวบ้านก็สามารถทำได้ด้วยตนเอง แต่สิ่งที่ชาวบ้านไม่สามารถทำได้ก็คือเรื่องของการวัดกำลังไฟ หรือการคำนวณค่าไฟว่าสามารถช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้เท่าไหร่ สิ่งเหล่านี้ชาวบ้านยังไม่สามารถบอกได้ แต่ที่ยืนยันได้แน่ๆ คือกังหันเราที่ทำขึ้นมานั้นสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้จริง ซึ่งปัจจุบันทางโครงการกำลังหาทางศึกษาวิจัยเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ถูกลง เพื่อให้ชาวบ้านหันมาสนพลังงานทางเลือกประเภทนี้” นายดำรงศักดิ์ระบุ

          กังหันลมที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างขึ้นมานั้น จะมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณ 1500 วัตต์ หรือเมื่อกังหันลมหมุนได้ครบ 7 รอบต่อวินาที อย่างต่อเนื่องจนครบ 1 หนึ่งชั่วโมง โดยกระแสไฟที่ได้จะถูกนำไปชาร์จเก็บสะสมไว้ในแบตเตอรี่ หลังจากนั้นก็จะนำแบตเตอรี่ที่บรรจุไฟเต็มแล้วไปจ่ายกระแสไฟให้กับเครื่องสูบน้ำ เพื่อนำน้ำจากพื้นล่างขึ้นมาใช้ในการเพาะปลูก และในยามค่ำคืนก็ยังใช้กระแสไฟที่เก็บไว้ในแบตเตอรี่ในการให้แสงสว่างในครัวเรือน

          แต่จากการศึกษาและทดลองใช้กังหันลมทั้ง 2 ตัว พบว่ากังหันลมที่สร้างขึ้นมานั้นยังมีข้อจำกัดในการใช้งานในหลายๆ ด้านอาทิ การที่ไม่สามารถควบคุมกระแสลมรวมไปถึงการควบคุมความเร็วของใบพัดได้ ทำให้เมื่อมีลมกรรโชกรุนแรงใบพัดที่ทำจากไม้ก็จะหัก หรือไมก็ทำให้มอเตอร์ผลิตกระแสไฟฟ้าไหม้เสียหาย นอกจากนี้การที่ไม่สามารถควบคุมกระแสไฟไหลที่เข้าไปในแบตเตอรี่จำนวนมากได้ ยังส่งผลให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ ซึ่งทางแกนนำชาวบ้านกำลังศึกษาหาแนวทางการแก้ปัญหาต่อไป

          นายแง กันยาประสิทธิ์ อายุ 53 ปี เกษตรกรจากจากบ้านป่าสะแข ที่เข้าร่วมโครงการเล่าให้ฟังว่า ตนเองนั้นมีพื้นที่ลาดเชิงเขาเพื่อใช้ทำการเกษตรผสมผสานจำนวน 5 ไร่ ในช่วงฤดูฝนไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องน้ำสำหรับการเพาะปลูกเท่าไรนัก แต่เมื่อถึงหน้าแล้งตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเมษายน จะต้องใช้วิธีเดินลงเขาไปกว่า 300 เมตรเพื่อไปหาบน้ำขึ้นมาใช้รดพืชผัก และต้องทำอย่างนี้ทุกวันวันละหลายสิบเที่ยว จึงเกิดความคิดที่จะหาวิธีการนำน้ำจากด้านล่างขึ้นมาใช้อย่างไร โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้าหรือใช้น้ำมันเพื่อสูบน้ำ

          “พอได้ไปดูงานก็นำกลับมาช่วยกันทำ แล้วนำมาทดลองใช้ที่บ้าน ก็พบว่าการทำกังหันนั้นไม่ได้ยุ่งยาก สามรถสร้างได้จากวัสดุที่มีในท้องถิ่น และสามารถใช้งานได้จริง ใช้กังหันลมสร้างกระแสไฟฟ้าได้ พอมีไฟฟ้าทำให้สามารถนำน้ำขึ้นมาใช้บนพื้นที่สูงได้สะดวกขึ้น ในตอนกลางคืนก็ยังมีไฟฟ้าใช้ทำให้แม่บ้านก็สามารถนั่งปั้นฝ้ายหรือทำงานอื่นๆ ในตอนกลางคืนได้อีก” นายแงกล่าว

          “ทางเครือข่ายฯ พยายามส่งเสริมและขยายผลในเรื่องเกษตรเพื่อสุขภาพ ลด ละ เลิก การใช้สารเคมี ปลูกพืชผักแบบผสมผสาน แต่พื้นที่ภูเขามีข้อจำกัดเรื่องการนำน้ำมาใช้เพื่อการเกษตร จึงมองเห็นว่าพื้นที่สูงนั้นมีศักยภาพในเรื่องของลม สามารถใช้ลมมาปั่นไฟ แล้วเอาไฟไปสูบน้ำขึ้นมาปลูกพืชผักในแปลงเกษตร ผลดีเรื่องสุขภาพคือเกษตรกรได้พึ่งตนเอง มีอาหารไว้บริโภคในครัวเรือน ได้บริโภคพืชผักที่เป็นผักปลอดสาร ทำให้มีสุขภาพดีขึ้น และสามารถใช้ไฟฟ้าและน้ำไปใช้ในการทำการเกษตรได้ และให้ชุมชนข้างเคียงได้มาเรียนรู้การนำพลังงานลมมาใช้เรื่องการเกษตร เกิดการขยายผลการเกษตรเพื่อสุขภาพออกไปในชุมชนอื่นๆ” หัวหน้าโครงการกล่าวสรุป