เนื้อหาวันที่ : 2011-07-06 10:42:18 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1741 views

ธุรกิจรับสร้างบ้านวอนรัฐบาลใหม่กระตุ้นตลาดอสังหาฯ

ส.ไทยรับสร้างบ้าน หวั่นราคาน้ำมัน แรงงาน ฉุดตลาดครึ่งปีหลัง วอนรัฐเร่งกระตุ้นอสังหาฯ ย้ำรัฐบาลใหม่ต้องฝนตกทั่วฟ้า

          ส.ไทยรับสร้างบ้าน หวั่นราคาน้ำมัน แรงงาน ฉุดตลาดครึ่งปีหลัง วอนรัฐเร่งกระตุ้นอสังหาฯ ย้ำรัฐบาลใหม่ต้องฝนตกทั่วฟ้า

          ส.ไทยรับสร้างบ้าน หวั่นน้ำมัน-แรงงาน ฉุดตลาดครึ่งปีหลังวอนกระตุ้นอสังหาฯ รัฐบาลใหม่ต้องฝนตกทั่วฟ้า สมาคมไทยรับสร้างบ้าน (Thai Home Constructions Association: THCA) เผยตลาดรับสร้างบ้านครึ่งปีกแรก ในเขตกรุงเทพและปริมณฑลเติบโตแบบชะลอตัวลง ท่ามกลางการแข่งขันรุนแรงของกลุ่มผู้นำตลาด Top 3 ในขณะที่ภาพรวมตลาดทั่วประเทศยังเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดในต่างจังหวัดแนวโน้มสดใส เผยผู้ประกอบการรายเดิมขยับรุกต่างจังหวัด ส่วนรายใหม่ทยอยเปิดตัวในทุกภูมิภาค ถือเป็นการปรับตัวของผู้ประกอบการที่ต้องการขยายตลาดใหม่ๆ เพื่อหนีการแข่งขันที่รุนแรงในเขตกรุงเทพฯ ชี้ราคาน้ำปรับเพิ่มและปัญหาแรงงานขาดแคลนเป็นปัจจัยลบควรระวัง ส่อฉุดตลาดรับสร้างบ้านชะลอตัว

          จากการรวบรวมสถิติยอดขายหรือยอดจองสร้างบ้านของสมาชิกสมาคมฯ ทั่วประเทศครึ่งปีแรกที่ผ่านมา พบว่าสัดส่วนการเติบโตของยอดขายมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2553 ได้แก่พื้นที่ “ภาคใต้” มีสัดส่วนยอดขายเติบโตจาก 3% เพิ่มเป็น 17% ในขณะที่ภาคกลางและตะวันออก มีสัดส่วนลดลงจาก 41% เหลือเพียง 30% ในส่วนพื้นที่ “กรุงเทพฯ และปริมณฑล” มีสัดส่วนยอดขายเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยจากเดิม 21% ลดลงเหลือ 19% เช่นเดียวกับภาคอีสานและภาคเหนือลดลงจาก 25% เหลือ 23% ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยโดยไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

          จากสถิติข้างต้นอาจสะท้อนให้เห็นทิศทางการเติบโต ของตลาดรับสร้างบ้านในครึ่งปีหลังและอนาคต โดยเฉพาะสัดส่วนยอดขายในพื้นที่ภาคใต้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการที่สมาคมฯ ส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกขยายตลาดหรือสาขาเพิ่มมากขึ้น โดยขณะนี้จำนวนสมาชิกสมาคมฯ ในจังหวัดภาคใต้เพิ่มเป็น 3 ราย จากก่อนหน้านี้มีแค่เพียงรายเดียว สามารถให้บริการสร้างบ้านได้ครอบคลุมพื้นที่ทางภาคใต้ 8 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง ภูเก็ต พังงา และกระบี่

ปัจจุบันสมาคมฯ มีสมาชิกประเภทธุรกิจรับสร้างบ้านหรือสามัญสมาชิกจำนวน 18 รายทั่วประเทศ สามารถให้บริการได้ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 48 จังหวัด ทั้งนี้ประเมินว่าครึ่งปีหลังตลาดรับสร้างบ้านในพื้นที่ภาคใต้ยังเติบโตต่อเนื่อง สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง โอกาสและแนวโน้มยังเติบโตได้เช่นกัน

          สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง สมาคมฯ พร้อมจะผลักดันสมาชิกเปิดตลาดรับสร้างบ้านในพื้นที่ภาคกลางและภาคอีสานมากขึ้น โดยมองว่าภูมิภาคดังกล่าวเศรษฐกิจจะขยายตัว ทำให้ผู้บริโภคและประชาชนจะมีรายได้สูงขึ้น ทั้งนี้สมาคมฯ ประเมินว่าความต้องการสร้างบ้านหรือมีที่อยู่อาศัยหลังใหม่ก็จะขยายตัวตามมา โดยเฉพาะในส่วนของบ้านสร้างเองหรือตลาดรับสร้างบ้าน จะได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น เพราะต้องการมืออาชีพและบริการที่ครบวงจร นอกจากนี้การปรับตัวของธุรกิจค้าปลีกและภาคอสังหาฯ อาทิ ห้างสรรพสินค้าและ โมเดิร์นเทรด ก็มีการขยายการลงทุนออกไปยังต่างจังหวัดเช่นกัน ทำให้เกิดการจ้างงานและกระจายรายได้ลงไปสู่ประชาชนในทุกภูมิภาค

          “ก่อนหน้านี้ การจะขยายตลาดรับสร้างบ้านหรือขยายสาขาออกไปในต่างจังหวัด ดูจะเป็นเรื่องที่ไกลตัวของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่แข่งขันอยู่ในธุรกิจนี้ อาจเป็นเพราะกระบวนการบริหารจัดการมีความซับซ้อนและยุ่งยาก ทำให้การขยายสาขาออกไปในพื้นที่ไกลๆ เป็นเรื่องยากลำบาก ทั้งนี้เป็นเพราะบริษัทรับสร้างบ้านรายเดิมๆ ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี ที่ยังขาดการบริหารจัดการที่เป็นระบบชัดเจน เช่น ไม่มีการจัดทำแผนธุรกิจธุรกิจหรือแผนการตลาด และไม่มีคู่มือการปฏิบัติงาน ฯลฯ ซึ่งอาจก้าวเข้ามาสู่ธุรกิจรับสร้างบ้านตามกระแส หรือเป็นแบบลองผิดลองถูกจากประสบการณ์ ฉะนั้นจึงไร้ทิศทางที่จะพัฒนาศักยภาพของตัวเอง เพื่อให้ก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพได้อย่างมีจุดหมาย และไม่หลุดพ้นการแข่งขันแบบเดิมๆ ที่เน้นแข่งขันตัดราคากันไปมา”

มองทิศทางการเติบโตภายใต้รัฐบาลใหม่
          ภายหลังผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนเสียงส่วนใหญ่ทั่วประเทศเกินกึ่งหนึ่ง และได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ในคราวนี้ ซึ่งอาจจะมีการเชิญพรรคชาติไทยพัฒนาและพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินเข้าร่วมด้วย เพื่อความมีเสถียรภาพของรัฐบาลนั้น สมาคมฯ เองมองว่านโยบายของแต่ละพรรคน่าจะไปด้วยกันได้ โดยเฉพาะนโยบายประชานิยมที่คล้ายๆ กัน

          สำหรับนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศนั้น โดยเฉพาะการผลักดันภาคธุรกิจอสังหาฯ และธุรกิจก่อสร้างมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งเรื่องนี้พรรคเพื่อไทยน่าจะมีประสบการณ์และเคยทำสำเร็จมาแล้ว เพียงแต่ต้องระวังมิให้เกิดการทุจริตและคอรัปชั่นเช่นในอดีต

          ในส่วนของสมาคมฯ ก็อยากจะเห็นนโยบายของรัฐบาลใหม่ชัดๆ ที่จะสนับสนุนและส่งเสริมภาคธุรกิจรับสร้างบ้าน ในปัจจุบันธุรกิจรับสร้างบ้านเป็นธุรกิจที่มีการจ้างงานและกระจายรายได้ทั่วประเทศ หากแต่ผู้ประกอบการที่แข่งขันอยู่ในธุรกิจนี้กว่า 80% เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อม ซึ่งยังขาดความเข้มแข็งทั้งในด้านเงินทุนและการตลาด ฉะนั้นหากต้องแข่งขันกับรายใหญ่และต่างชาติในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ภายใต้กรอบการเปิดเสรีทางการค้าหรือเออีซี ผู้ประกอบการเหล่านี้อาจไม่สามารถแข่งขันและอยู่รอดได้ อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ จะนำเสนอแนวทางและมาตรการช่วยเหลือสมาชิกและผู้ประกอบการเหล่านี้ต่อไป

ราคาน้ำมัน-แรงงาน ปัจจัยลบครึ่งปีหลัง
          อย่างไรก็ดี หากมองปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคในครึ่งปีหลัง ซึ่งผู้ประกอบการต้องเฝ้าระวังและควรมีแผนสำรองไว้ ได้แก่ 1.ต้นทุนที่สูงขึ้นจากการปรับตัวของราคาน้ำมัน และ 2.ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ทั้งนี้สมาคมฯ ประเมินว่าแนวโน้มราคาน้ำมันจะยังปรับตัวสูงในครึ่งปีหลัง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าขนส่งและราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับขึ้นตามกัน หรือผู้ประกอบการจะมีต้นทุนค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 7-12%

          นอกจากนี้ปัญหาขาดแคลนแรงงานและช่างฝีมือที่เริ่มรุกลามออกไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลการขาดแคลนแรงงานรุนแรงมากกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา และกลายเป็นปัญหาหนักอกของผู้ประกอบการที่ต้องมีการปรับตัวขนานใหญ่ ด้วยการหันมาเลือกใช้โครงสร้างระบบพรีแฟบแทนการก่อสร้างแบบเดิมๆ ในขณะที่โรงงานผู้รับจ้างผลิตโครงสร้างพรีแฟบ และคาน-เสาคอนกรีตสำเร็จรูปในปัจจุบันมีอยู่น้อยราย ฉะนั้นระบบนี้อาจจะยังไม่ตอบโจทย์บริษัทรับสร้างบ้านรายเล็กรายกลาง เพราะจะทำให้ต้นทุนยิ่งสูงขึ้น ในส่วนของสมาชิกสมาคมฯ นั้นใช้วิธีรวมคำสั่งซื้อเพื่อให้มีปริมาณที่มากพอในการผลิตและลดต้นทุนได้ในระดับหนึ่ง

          ทั้งสองประเด็น ถือเป็นปัจจัยที่ไม่อาจควบคุมได้ ฉะนั้นจึงจำเป็นที่ผู้ประกอบการจะต้องมีแผนสำรองไว้ หากเกิดปัญหาที่คาดไว้ขึ้นจริง เช่น การขยายกลุ่มหรือฐานลูกค้าใหม่ของตัวเองให้กว้างขึ้น การออกสินค้าใหม่ให้ตรงกับกำลังซื้อที่ลดลง ฯลฯ เป็นต้น นอกจากนี้ การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง ก็เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเฝ้าระวัง เพราะจะมีผลกระทบต่อกลุ่มลูกค้าที่ต้องการกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงิน อาจชะลอการตัดสินใจออกไป อย่างไรก็ตามสมาคมฯ มองว่าผู้ประกอบไม่ควรผลักภาระให้ผู้บริโภคฝ่ายเดียว เพราะหากสามารถบริหารจัดการได้ดี ราคาบ้านก็ไม่ควรจะปรับเพิ่มเกิน 2-4%

แนวโน้มตลาดรับสร้างบ้านครึ่งปีหลัง
          สำหรับแนวโน้มตลาดรับสร้างบ้านไตรมาส 3 และครึ่งปีหลังสมาคมฯ ประเมินว่าความต้องการสร้างบ้านยังมีโอกาสเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดรับสร้างบ้านในต่างจังหวัด ทั้งในภาคกลาง ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคอีสานที่ตลาดใหม่และมีขนาดใหญ่ ทั้งนี้เชื่อว่าผู้ประกอบการจะสามารถขยายตลาดได้มากขึ้น ในขณะที่ความต้องการของผู้บริโภคมีอยู่ทั่วประเทศ

          ในขณะที่ผลสำรวจความเห็นกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายจำนวน 480 ราย ในช่วงเดือนเมย.-มิย. 54 ที่ผ่านมานี้ โดยตอบว่ามีแผนจะสร้างบ้านหรือที่อยู่อาศัยหลังใหม่ภายในปี 2554 สัดส่วนมีดังนี้คือ อันดับแรกจำนวน 45% คาดว่าตัดสินใจได้ภายใน 3-4 เดือน อันดับสองจำนวน 41% คาดว่าตัดสินใจได้ภายใน 6 เดือน และอันดับสามจำนวน 14% คาดว่าตัดสินใจมากกว่า 6 เดือน ซึ่งสองกลุ่มแรกมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน ดังนั้นหากผู้ประกอบการสามารถกระตุ้นการตัดสินใจได้ดี โอกาสที่จะช่วยให้ตลาดรับสร้างบ้านเติบโตในช่วง 6 เดือนหลังก็มีมากขึ้น

นายกฯ ชี้มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ
          นายสิทธิพร นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน กล่าวว่า สัญญาณและทิศทางการแข่งขันในอนาคตบ่งชี้ว่า ความได้เปรียบและกำลังซื้อของผู้บริโภค อาจจะตกอยู่กับบริษัทรับสร้างบ้านที่มีแบรนด์แข็งแรงและชัดเจนกว่า เช่น ผู้นำเทคโนโลยีก่อสร้าง ผู้นำบ้านประหยัดพลังงาน ฯลฯ เพราะเป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือของผู้บริโภค ทั้งนี้ตนมองว่าการสร้างแบรนด์ให้อยู่ในใจผู้บริโภคของผู้นำตลาดนั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะสร้างได้ในพริบตาหรือระยะเวลาสั้นๆ หากแต่ผู้ประกอบการจะต้องวางยุทธศาสตร์ และสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้าและผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง

          สำหรับครึ่งปีหลัง สมาคมฯ เชื่อว่าโอกาสเติบโตของตลาดรับสร้างบ้านทั่วประเทศยังสดใสภายใต้รัฐบาลใหม่ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับผลสำรวจความเชื่อมั่นในกลุ่มสมาชิกทั่วประเทศ เกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตของยอดขายบ้านในครึ่งปีหลัง พบว่า 68% เชื่อว่ายอดขายสูงกว่าครึ่งปีแรก และ 29% เชื่อว่ายอดขายใกล้เคียงกับครึ่งปีแรก และอันดับสุดท้ายเชื่อว่ายอดขายจะต่ำกว่าครึ่งปีแรก 3% ทั้งนี้สอดคล้องกับสถิติและพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่ผ่านมาจะตัดสินใจสร้างบ้านในช่วงไตรมาส 3 หรือครึ่งปีหลังมากกว่าครึ่งปีแรก

          อย่างไรก็ดี จากนี้ไปต้องจับตาดูนโยบายของพรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลใหม่ว่าจะมีมาตรการออกมากระตุ้นภาคธุรกิจอสังหาฯ และธุรกิจรับสร้างบ้านอะไรบ้าง ซึ่งสมาคมฯ อยากเห็นมาตรการที่ออกมาจากรัฐบาลแบบที่เรียกว่า “ฝนตกทั่วฟ้า” เหมือนโครงการ “บ้านหลังแรก” ของรัฐบาลชุดก่อน มิใช่มาตรการออกมาแล้วได้ประโยชน์เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และรัฐบาลควรจัดระเบียบผู้ประกอบการรับสร้างบ้านเข้าสู่ระบบภาษีให้ถูกต้อง เพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรมของผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจนี้ นายสิทธิพร กล่าวทิ่งท้าย