เนื้อหาวันที่ : 2011-07-04 10:52:54 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 862 views

ภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 27 มิ.ย. - 1 ก.ค. 2554

          อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มิ.ย. 54 อยู่ที่ร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวชะลอลงจากเดือน พ.ค. 54 ที่อยู่ที่ร้อยละ 4.2 โดยมีปัจจัยหลักมาจากราคาสินค้าในหมวดอาหารสำเร็จรูปที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบ เช่น เนื้อสัตว์ และเครื่องประกอบอาหารมีราคาเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาสินค้าในหมวดยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.6 ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 2.5 เนื่องจากราคาสินค้าประเภทของใช้ส่วนบุคคลและค่าเช่าบ้านที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ไตรมาสที่ 2 ของปี 54 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.1 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.4
 
          ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน มิ.ย. 54 ขยายตัวร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.8 โดยหมวดสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ดัชนีในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ขยายตัวร้อยละ 11.0 มาจากเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ท่อเหล็กดำ เหล็กรางน้ำ ท่อแสตนเลส ดัชนีในหมวดซีเมนต์ขยายตัวร้อยละ 15.3 สินค้าสำคัญ ได้แก่ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ผสม ปูนฉาบสำเร็จรูป และดัชนีวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ขยายตัวร้อยละ 5.6  สินค้าสำคัญ ได้แก่ อลูมิเนียมเส้น และยางมะตอย เป็นต้น ทั้งนี้ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวเร่งขึ้นเป็นผลมาจากต้นทุนราคาวัตถุดิบในการผลิตปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในไตรมาสที่  2 ของปี 54 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 5.3

          ดัชนีราคาผู้ผลิตรวม (PPI) ในเดือน มิ.ย. 54 ขยายตัวร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 6.2 ตามการลดลงของราคาสินค้าเกษตรที่หดตัวร้อยละ -8.4 ในขณะที่ราคาสินค้าหมวดอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 8.3 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 7.9 เป็นผลมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันตามราคาในตลาดโลก ทั้งนี้ในช่วง 6 เดือนแรกปี 54  ดัชนีราคาผู้ผลิตรวมขยายตัวร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

          ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน พ.ค. 54 ขาดดุล -510.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  จากเดือนก่อนที่ขาดดุล -165.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  โดยดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลเป็นผลหลักจากการขาดดุลบริการ รายได้ และเงินโอน -785.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากมีการจ่ายเงินปันผลจำนวนมาก ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลเล็กน้อยที่ 274.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดีและยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ถึงแม้ว่ามูลค่านำเข้าจะสูงขึ้น จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง ตลอดจนผู้ประกอบการเร่งนำเข้าวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตทดแทนสินค้าคงคลังก็ตาม

          ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน พ.ค. 54 หดตัวร้อยละ     -3.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องจากเดือน เม.ย. 54 ที่หดตัวร้อยละ -8.1 โดยมีปัจจัยลบจากอุตสาหกรรมการส่งออกหลัก อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องแต่งกาย และการปั่นทอที่ปรับลดลง โดยเฉพาะรถยนต์ที่ยังคงลดการผลิตลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิในประเทศญี่ปุ่น ทำให้ขาดแคลนชิ้นส่วนในการผลิตและประกอบรถยนต์ สอดคล้องกับปริมาณการส่งออกยานยนต์ในเดือนพ.ค. 54 ที่หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -25.8 ในส่วนของอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็มีความเสี่ยงในเรื่องของต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย และค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้ผู้ผลิตชะลอการผลิตลง ประกอบกับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง