เนื้อหาวันที่ : 2007-03-29 11:59:35 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 890 views

ปัจจัยเสี่ยงกดดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ทรุด 5 เดือนต่อเนื่อง

30 กลุ่มอุตสาหกรรม ชี้หลังทำการรัฐประหาร ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ทรุดตัวลงต่ำกว่า 100 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน จี้รัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและท่องเที่ยวควบคู่กันไป พร้อมเร่งสางปัญหาการเมืองที่กำลังวิกฤตและความไม่สงบในประเทศ

30 กลุ่มอุตสาหกรรม ชี้หลังทำการรัฐประหาร ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ทรุดตัวลงต่ำกว่า 100 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน จี้รัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและท่องเที่ยวควบคู่กันไป พร้อมเร่งสางปัญหาการเมืองที่กำลังวิกฤตและความไม่สงบในประเทศ

.

นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 จากผู้ประกอบการ 497 กลุ่มตัวอย่าง ครอบคลุม 35 กลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ 82.7 ปรับตัวลดลงจาก 83.6 ในเดือน มกราคม ที่ผ่านมา ซึ่งปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2549 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาวะอุตสาหกรรมในระดับที่ไม่ดีนัก

.

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเกิดจากสภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ทั้งภาวการณ์เมืองและความไม่สงบภายในประเทศ ปัญหาการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก รวมทั้งแรงซื้อในประเทศชะลอตัวลงอย่างชัดเจน เพราะผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายเงินมากขึ้น ส่งผลให้ยอดขายปรับลดลง ประกอบกับ 3-4 เดือนที่ผ่านมา ปริมาณสินค้าคงเหลืออยู่ในระดับเพิ่มขึ้น

.

เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อและยอดขายไม่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับลดปริมาณการผลิตให้สอดคล้องยอดค่าสั่งซื้อและยอดขาย ดังนั้นจึงเป็นปัจจัยเสี่ยงกดดันความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม จึงทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาลดลง

.

ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องการให้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหาความไม่สงบในประเทศ พร้อมทั้งออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคของประชาชนในประเทศมากยิ่งขึ้น ตลอดจนส่งเสริมบรรยากาศทางการเมืองให้มีเสถียรภาพ ควบคู่กับออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในรูปแบบต่าง ๆ  อย่างต่อเนื่องมากขึ้นในช่วงนี้

.

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาค่าดัชนีหลักที่นำมาใช้คำนวณ พบว่า ค่าดัชนี 4 ใน 5 ปัจจัยมีการปรับตัวลดลง ได้แก่ ค่าดัชนีโดยรวมของยอดคำสั่งซื้อ ยอดขายปริมาณการผลิต  และผลประกอบการปรับตัวลดลงจาก 100.6 101.5 103.1 และ 85.5 ในเดือน มกราคม เป็น 92.2 98.5 100.0 และ 85.2 ตามลำดับ ขณะที่มีเพียงค่าดัชนีโดยรวมของ ต้นทุนการประกอบการ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 55.3  ในเดือน มกราคม เป็น 58.0 ในเดือนกุมภาพันธ์

.

นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า 30 กลุ่มอุตสาหกรรม มีค่าดัชนีต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นถึงภาวะชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน โดยกลุ่มอุตสาหกรรม ที่ค่าดัชนีมีการปรับตัวลดลงมาก เช่น อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ เคมี ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง ยานยนต์ อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ และผลิตภัณฑ์หนัง เหล็ก อุตสาหกรรมการจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้ อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า และพลังงานทดแทน

.

ส่วนอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมก๊าซ  แกรนิตและหินอ่อน อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องนุ่มห่ม เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น อุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม อะลูมิเนียม อาหารและปิโตรเคมี

.

"ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการนั้น ส่วนใหญ่ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของสภาวะเศรษฐกิจโลกสถานการณ์การเมืองในประเทศ ค่าเงินรวมถึงราคาเชื้อเพลิงและค่าบริการสาธารณูปโภคที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการปรับตัวลดลงเล็กน้อย ขณะที่ปัจจัยที่ส่งผลให้ความเชื่อมั่นดีขึ้น อาทิเช่น อัตราดอกเบี้ย เงินกู้"

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ