เนื้อหาวันที่ : 2011-06-30 15:29:58 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1970 views

ผู้ค้าทั่วโลกเชื่อการค้าโลกแกร่งแม้เงินเฟ้อพุ่ง

ผู้ส่งออกและนำเข้าชี้จีนผงาดทุกด้านคาดเงินหยวนติดอันดับ 3 เงินสกุลหลักของโลก ประเทศพัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่ เล็งขยายการค้ากับจีน

          ผู้ค้าชี้จีนผงาดทุกด้านคาดเงินหยวนติดอันดับ 3 เงินสกุลหลักของโลก ประเทศพัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่ เล็งขยายการค้ากับจีน

          ผู้ค้าคาดเงินหยวนขยับติดอันดับ 3 เงินสกุลหลักของโลกในปี 2554 ต้นทุนสินค้าพุ่ง อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และผลกำไรลดลง เสี่ยงต่อการเติบโตทางการค้า ประเทศพัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่ ตั้งเป้าขยายการค้ากับกลุ่มประเทศจีน

          ผู้ส่งออกและนำเข้าทั่วโลกยังมองโอกาสเติบโตการค้าได้ดีในอีก 6 เดือนข้างหน้า แม้ว่าจะมีความกังวลเพิ่มขึ้นในเรื่องต้นทุนสินค้าที่พุ่งสูงขึ้น ผลกำไรที่ลดลง รวมถึงความต้องการสินค้าที่ผันผวน โดยดัชนีเชื่อมั่นทางการค้าที่จัดทำโดยธนาคารเอชเอสบีซี ยังทรงตัวแข็งแกร่งที่ระดับ 114 ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เทียบกับระดับ 116 ของครึ่งหลังของปีที่แล้ว
 
           มร. ราเกช บาเทีย ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายบริการการค้าและเครือข่ายธุรกิจระหว่างประเทศ กลุ่มเอชเอสบีซี กล่าวว่า “ในภาวะที่ต้องเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อและเศรษฐกิจโลกที่ยังคงผันผวนต่อเนื่อง ผลสำรวจของเราสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของภาคการค้าที่ยังสามารถรองรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงานและค่าบริการขนส่ง อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่อาจลดลง”

          “ดัชนีความเชื่อมั่นทางการค้าของเอชเอสบีซี สะท้อนถึงแนวโน้มสำคัญ 2 เรื่อง ที่ทำให้ความเชื่อมั่นยังคงมีอยู่ แม้จะมีหลายปัจจัยที่ฉุดรั้ง และจะเป็นแรงหนุนให้การค้าโลกเติบโตในอนาคต นั่นคือ การค้าภายในภูมิภาคที่แข็งแกร่ง และความเชื่อมโยงด้านการค้ากับตลาดเกิดใหม่ และภายในตลาดเกิดใหม่ด้วยกันเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศจีนที่จะเพิ่มโอกาสทางการค้าให้กับผู้ค้าจากทั่วโลก”

          การค้าโลกยังคงแข็งแกร่งโดยผู้ค้า 9 ใน 10 ราย คาดว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้า ปริมาณการค้า ตลอดจนความต้องการสินเชื่อด้านการค้าระหว่างประเทศ และการเข้าถึงแหล่งทุนจะเพิ่มขึ้น หรือทรงตัวเช่นเดิม

          ดัชนีความเชื่อมั่นทางการค้าของเอชเอสบีซี จัดทำขึ้นครอบคลุมทั้งสิ้น 21 ตลาด รวมทั้งตลาดที่มีเศรษฐกิจสำคัญในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ ละตินอเมริกา อเมริกาเหนือ และยุโรป โดยเป็นการสำรวจความเชื่อมั่นทางการค้าระดับโลกที่ใหญ่ที่สุด โดยการศึกษาล่าสุดได้สำรวจความคิดเห็นผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และผู้ค้าจากบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม จำนวน 6,390 คน โดยถามถึงมุมมองภายในระยะเวลา 6 เดือน เกี่ยวกับเรื่องปริมาณการค้า ความเสี่ยงของผู้ซื้อและผู้ขาย ความต้องการสินเชื่อด้านการค้าระหว่างประเทศ การเข้าถึงแหล่งทุน และผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่มีต่อธุรกิจ

          ขณะที่ตลาดเกิดใหม่ อย่างเช่น อินเดีย ซาอุดิอาระเบีย และเม็กซิโก มีดัชนีความเชื่อมั่นทางการค้าในระดับสูงที่สุด บรรยากาศการค้าในหมู่ผู้ค้าในตลาดส่งออกสำคัญของโลก ได้แก่ จีน เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา ก็กลับคึกคักเช่นกัน โดยดัชนีความเชื่อมั่นทางการค้าของจีนและสหรัฐอเมริกา ต่างก็ปรับเพิ่มขึ้นแห่งละ 3 จุด

เงินหยวนและกลุ่มประเทศจีน
          ผู้ค้าโดยรวม ชี้ว่าเงินหยวนจะกลายเป็นสกุลเงินสำคัญที่ใช้ในการค้าขายใน 3 อันดับแรกของโลกในปี 2554 และที่สำคัญ เงินหยวนยังติดอันดับ 3 ของเงินสกุลหลักของโลก แซงหน้าเงินปอนด์สเตอริงเป็นครั้งแรก โดยหากเรียงลำดับตามความนิยมแล้ว เงินดอลลาร์สหรัฐยังครองความนิยมเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยเงินยูโร เงินหยวน เงินปอนด์สเตอริง และเงินเยน ซึ่งเป็น 5 สกุลเงินหลักที่ใช้ในการค้า จากการที่การค้าโลกเตรียมจะเพิ่มบทบาทการค้ากับกลุ่มประเทศจีน ซึ่งประกอบด้วยจีน ฮ่องกง และไต้หวัน ผู้ค้าจากกลุ่ม ประเทศจีน ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงมองว่าการค้าขายด้วยสกุลเงินหยวนกำลังเริ่มมีบทบาทสำคัญในอีก 6 เดือนข้างหน้า

          มร. บาเทีย กล่าวว่า “ภายในปี 2558 คาดว่ากว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าการค้าของจีน หรือราว 2 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ จะค้าขายกันด้วยสกุลเงินหยวน ผลสำรวจของเราระบุว่า ตลาดเกิดใหม่กำลังเตรียมการให้เงินหยวนเป็นที่ยอมรับในเวทีการค้าโลก เนื่องจากผู้ค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ กำลังเตรียมที่จะใช้เงินหยวนเพื่อการค้าขายในอนาคต”

          ประเทศที่พัฒนาแล้วตระหนักดีว่า ตลาดเกิดใหม่เป็นกลจักรสำคัญในการเติบโตการค้าโลก และเตรียมขยายความสัมพันธ์ทางการค้ากับตลาดเกิดใหม่ในระยะอันใกล้นี้ โดยผู้ตอบแบบสำรวจในสหรัฐอเมริกา เกินกว่า 1 ใน 4 กำลังมองหาโอกาสขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศจีน ขณะที่เกินกว่า 1 ใน 10 ของคู่ค้าในจีนมองเห็นโอกาสขยายธุรกิจกับสหรัฐอเมริกาในอีก 6 เดือนข้างหน้า และในขณะเดียวกัน ภาคการค้าของเยอรมนี ยังคงแข็งแกร่งอยู่ที่ระดับ 107 โดยผู้ตอบแบบสำรวจในเยอรมนี ร้อยละ 31 ระบุว่า ยุโรปตอนกลางและยุโรปตะวันออก เป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพในการขยายตัวด้านการค้าสูงที่สุด ส่วนอีกร้อยละ 26 ตอบว่า กลุ่มประเทศจีนมีศักยภาพในการเติบโตการค้าสูงสุด

          ผู้ค้าจากทั่วโลกระบุว่า กลุ่มประเทศจีน เป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพในการเติบโตการค้าสูงที่สุด รองลงมา คือ ยุโรป และละตินอเมริกา ส่วนในเอเชีย พบว่า ผู้ค้าจากฮ่องกง (ร้อยละ 50) อินโดนีเซีย (ร้อยละ 44) มาเลเซีย (ร้อยละ 43) และออสเตรเลีย (ร้อยละ 30) เห็นว่ากลุ่มประเทศจีน เป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพด้านการขยายตัวทางการค้ามากที่สุด ส่วนผู้ค้าร้อยละ 23 ในอเมริกาเหนือ ร้อยละ 11 ในละตินอเมริกา ร้อยละ 24 ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ และร้อยละ 16 ในยุโรป ก็มองเห็นโอกาสที่ยอดเยี่ยมในการเติบโตการค้าในกลุ่มประเทศจีนเช่นกัน

          มร. บาเทีย กล่าวว่า “ผลสำรวจยังบ่งชี้ถึงพลวัตทางการค้าที่สมดุลและยั่งยืนมากขึ้น และเสนอแนะว่าตลาดใหม่ อย่างเช่น ตลาดเกิดใหม่ในยุโรป จะช่วยขยายโอกาสทางการค้าให้แก่ผู้ค้าจากทั่วโลกได้ ทั้งนี้กลุ่ม Greater China ในฐานะศูนย์กลางทางการค้าใหม่ของโลก ยังครองบทบาทสำคัญ เนื่องจากผู้ค้าทั้งในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และตลาดเกิดใหม่ มองหาโอกาสเติบโตการค้าอย่างเต็มที่ในภูมิภาคนี้”

ความท้าทาย
          ภาวะเงินเฟ้อทำให้ผู้ค้าทั่วโลกเริ่มวิตกกังวลมากขึ้น ผู้ตอบแบบสำรวจเกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 45) ในสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 38 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และร้อยละ 22 ในออสเตรเลีย ระบุว่า ต้นทุนค่าขนส่ง โลจิสติกส์ และการจัดเก็บสินค้า เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขยายตัวทางการค้า

          ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้นก็กลายเป็นปัญหาอย่างต่อเนื่องสำหรับผู้ค้าในกลุ่มประเทศจีน (ร้อยละ 34) และผู้ค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ร้อยละ 30) ส่วนผู้ค้าในอเมริกาเหนือ (ร้อยละ 31) และ ละตินอเมริกา (ร้อยละ 25) กังวลกับผลกำไรที่ลดน้อยลง ในขณะที่ผู้ค้าในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ เป็นกังวลที่สุดเรื่องความต้องการสินค้าที่น้อยลง (ร้อยละ 38) และความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระของผู้ค้า (ร้อยละ 37) นอกจากนี้ อัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนก็ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขยายตัวทางการค้าสำหรับผู้ค้าในกลุ่มประเทศจีน (ร้อยละ 62) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ร้อยละ 59) อเมริกาเหนือ (ร้อยละ 47) ละตินอเมริกา (ร้อยละ 40) ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (ร้อยละ 33)

ที่มา : ธนาคารเอชเอสบีซี