เนื้อหาวันที่ : 2007-03-29 09:32:50 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3439 views

ถิรไทย รุกหนักตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าพร้อมก้าวเป็นผู้นำตลาดหม้อแปลงขนาดใหญ่

บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) รุกตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าครบทุกขนาด ตั้งแต่หม้อแปลงไฟขนาดเล็ก และหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า 20%

.

ถิรไทย รุกตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าครบทุกขนาด ตั้งแต่หม้อแปลงไฟขนาดเล็ก ไปจนกระทั้งหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดใหญ่ แถมยังมีการผลิตหม้อแปลไฟฟ้าชนิดพิเศษตามคำสั่งของลูกค้าอุตสาหกรรม เตรียมขึ้นแท่นผู้ผลิตหม้อแปลงขนาดยักษ์ 300 MVA ของประเทศเป็นรายแรกภายในปี 2551 โกอินเตอร์ก้าวเป็นผู้นำและครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในประเทศบรูไน  พร้อมแนะนักลงทุนให้ดูในระยะยาว

.

นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัทถิรไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิต และจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดเล็กไปถึงขนาดใหญ่ เปิดเผยว่า "บริษัท ถิรไทย" เป็นบริษัทผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ารายที่สองที่มีคนไทยเป็นเจ้าของ ที่เติบโตคู่กันมากับการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าของประเทศ จากผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายขนาดเล็ก หรือ distribution transformer ในอดีต จนกลายมาเป็นผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังขนาดใหญ่ หรือ power transformer ในปัจจุบัน ที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า 20% จากผู้ผลิตเพียง 3 รายในปัจจุบันเท่านั้น

.

ด้วยปีทีผ่านมา 2549  บริษัทมีรายได้รวม 1,657.18 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 566.28 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 51.91 ขณะที่มีค่าใช้จ่ายจากการขาย/ บริหาร 207.33 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.85 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18.83 พร้อมกับมีภาระดอกเบี้ยจ่าย 37.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.08 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 22.9 ส่งผลให้ในปี 2549 บริษัทมีกำไรสุทธิ 69.33 ล้านบาท หรือลดลงจากปีก่อน 8 ล้านบาท เพราะเนื่องจากวัตถุดิบได้ขยับตัวสูงขึ้น

.

การดำเนินธุรกิจการผลิตและจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าของบริษัทว่า ปัจจุบันบริษัทมีการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าอยู่ 3 ประเภทคือ 1)หม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย (distribu tion transformer) หรือหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดเล็ก เพื่อใช้ในการปรับลดแรงดันไฟฟ้าที่ส่งผ่านมาตามสายระบบจำหน่าย (distribution line) มีแรงดันไฟฟ้าตามระบบไฟฟ้าเท่ากับ 11-33 กิโลวัตต์ ให้ลงมาอยู่ในระดับที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้า โดยหม้อแปลงไฟฟ้าประเภทนี้ บริษัท ถิรไทยผลิตอยู่ที่ 10 MVA ปัจจุบันมีผู้ผลิตหม้อแปลงประเภทนี้อยู่ประมาณ 20 รายในประเทศ มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ร้อยละ 10

.

2)หม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง (power trans former) ใช้ในการปรับแรงดันไฟฟ้าที่ส่งมาจากแหล่งผลิตไฟฟ้า อาทิ โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ที่ส่งกระแสไฟฟ้าผ่านไปตามสายส่งแรงสูง (transmis sion line) ให้ลดลงก่อนส่งกระแสไฟฟ้าเข้าสายระบบจำหน่าย (distribution line) และส่งต่อไปยังผู้ใช้ โดยหม้อแปลงไฟฟ้าประเภทนี้ บริษัท ถิรไทยผลิตอยู่ที่มากกว่า 10 MVA จนถึง 300 MVA สามารถใช้ได้ตั้งแต่โรงผลิตไฟฟ้า-สถานีไฟฟ้าทั้งขนาดใหญ่/เล็ก ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ปัจจุบันมีผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าประเภทนี้เพียงแค่ 3 บริษัทคือ บริษัทถิรไทย-บริษัท ABB (สวีเดน) และบริษัทไดเฮน (ญี่ปุ่น) ทางบริษัทครองส่วนแบ่งตลาดอยู่ประมาณร้อยละ 30

.

และ 3)หม้อแปลงไฟฟ้าชนิดพิเศษ เป็นหม้อแปลงไฟฟ้าที่มีการออกแบบและผลิตเป็นพิเศษตามการใช้งานและคุณสมบัติของลูกค้าที่กำหนด อาทิ หม้อแปลงไฟฟ้ากระแสสลับเป็นกระแสตรง ใช้ในอุตสาหกรรมเคมี หรือหม้อ แปลงไฟฟ้าที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลอมโลหะ หม้อแปลงประเภทนี้มีตลาดอยู่ประมาณ 3-4% ซึ่งบริษัทครองส่วนแบ่งตลาดทั้งหมดจากการเป็นผู้ผลิตเจ้าเดียวในประเทศ

.

.

"จุดเด่นของบริษัทก็คือ เราเป็นทั้งผู้ผลิตเพียงรายเดียวที่ผลิตทั้งหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย กับหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง และยังได้รับความเชื่อถือจากลูกค้าในแง่ของผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าแบบพิเศษในตลาดบนด้วย เมื่อลูกค้าระดับบนเลือกให้เราเป็นผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าแบบพิเศษแล้ว ก็จะตัดสินใจซื้อหม้อแปลงไฟฟ้าแบบกำลัง/ระบบจำหน่ายควบคู่กันไป" นายสัมพันธ์กล่าว

.

ปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายเพื่อทดแทนการนำเข้าไปถึง 100% จากผู้ผลิตภายในไม่ต่ำกว่า 20 บริษัท ส่วนหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง แม้จะมีการนำเข้าแต่ก็น้อยมาก เนื่องจากผู้ผลิตทั้ง 3 รายมีการผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศไปจนกระทั่งถึงส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ อาทิ ในกรณีของ ABB จากออสเตรเลีย กับบริษัทไดเฮนจากญี่ปุ่น

.

สำหรับลูกค้าของบริษัทถิรไทยนั้น นายสัมพันธ์กล่าวว่า สัดส่วนของลูกค้าจะแบ่งเป็น 3 ส่วน ภาครัฐ 1 ส่วน เอกชนในประเทศ 1 ส่วน  และส่งออกอีก  1 ส่วน ซึ่งลูกค้าภายในประเทศจะได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าทั้ง 3 การไฟฟ้า (กฟผ.-กฟน.-กฟภ.), ลูกค้าเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่และสั่งซื้อโดยตรง อาทิ เครือซิเมนต์ไทย-ปตท.-บ้านปู- ผาแดงฯ และกลุ่มผู้รับเหมาโครงการขนาดใหญ่ รวมไปถึงงานรับเหมาจัดหาและติดตั้งหม้อแปลง ไฟฟ้าในโครงการด้วย

.

ส่วนลูกค้าในต่างประเทศ บริษัทมีการส่งออกหม้อแปลงไฟฟ้าไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก โดยมีบริษัทตัวแทนจำหน่าย 2 แห่งในประเทศเวียดนามกับบรูไน คือ บริษัท  Dai Hong Ha กับบริษัท Coris Trading โดยเน้นตลาดส่งออกทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนกับประเทศที่กำลังพัฒนา อย่างตลาดเอเชียตะวันออกเชียงใต้ เช่นประเทศเวียดนาม พม่า ลาว หรือ เอเชียใต้ เช่น เนปาล และศรีลังกา โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมาทางบริษัทได้ขยายตลาดไปประเทศเนปาล ซึ่งขณะนี้กำลังทำตลาดอยู่ ซึ่งในการทำตลาดในแต่ละครั้งคงต้องใช้เวลาประมาณ 3 ปี เป็นอย่างน้อยที่จะค่อย ๆ พัฒนาตลาดให้ดียิ่งขึ้น

.

"ในเวียดนามเราได้คู่ค้าที่ดี ทำให้หม้อแปลง ไฟฟ้าของถิรไทยมีโอกาสเติบโตตามการเติบโตทางเศรษฐกิจที่พุ่งสูงขึ้น ส่วนในบรูไนอาจจะกล่าวได้ว่า เราเป็นผู้ครองส่วนแบ่งตลาดเกือบทั้งหมด โดยหม้อแปลงไฟฟ้าที่เราผลิตส่งออก เราจะเน้นไปที่หม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง (power transformer) เพราะถือเป็นตลาดหลักของเรา เราไม่จำเป็นที่จะลงไปแข่งขันทางด้านราคากับหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดเล็ก หรือหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย ที่มีผู้ผลิตหลายรายมากกว่า" โครงการในอนาคตนายสัมพันธ์กล่าวว่า บริษัทจะเพิ่มศักยภาพในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังจากขนาด 200 MVA ที่สามารถผลิตได้ในปัจจุบัน มาเป็นขนาด 300 MVA ภายในปี 2551 โครงการนี้บริษัทได้เตรียมทุนไว้แล้วประมาณ 50 ล้านบาท

.

.

ทั้งนี้บริษัทได้ตั้งเป้ารายได้ปีนี้จะเติบโตประมาณ 8 % อยู่ที่ 1,700 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 1/2550 คาดว่ารายได้จะเติบโตระดับใกล้เคียงกับงวดเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นการเติบโตที่มาจากรายได้ในประเทศ และต่างประเทศ และเป็นการรับรู้รายได้จากงานที่มีอยู่ในมือ จำนวน 900 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ภายในปี 2550 ส่วนโปรเจ็กต์ที่อยู่ระหว่างเสนอราคาและได้เสนอไปแล้ว และรอผลคิดเป็นมูลค่าประมาณ 400-500 ล้านบาท

.

ส่วนแนวโน้มอัตรากำไรสุทธิในปีนี้คาดว่าน่าจะมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นกว่าปีที่แล้วอยู่ที่ 4.18 % เนื่องจากราคาของวัตถุดิบหลักคือทองแดงมีแนวโน้มทรงตัวแกว่งตัวเล็กน้อย ซึ่งปัจจุบันราคาทองแดงเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 6,000 ดอลลาร์ต่อตัน โดยบริษัทจะรักษาอัตรากำไรขั้นต้นให้อยู่ที่ระดับ 20-25 %

.

"ส่วนการทำตลาดในปีนี้ ทางบริษัทคงต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าให้มากขึ้น เพราะสินค้าเป็นสินค้าที่มีอายุในการใช้งานยาวนาน เมื่อไหร่ที่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าได้แล้วก็จะมีความเป็นไปได้สูงที่ลูกค้าจะยอมรับในตัวสินค้า และบริการที่ทางเรามอบให้ และสำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้นผมอยากให้มองภาพตลาดในระยะยาว ไม่อยากให้มองแบบไตรมาสเพราะจะไม่เห็นผลมากนัก ตามที่กล่าวมาว่าในการผลิตหม้อแปลงในแต่ละครั้งจะต้องใช้ขั้นตอน และเวลาในการผลิตนานเป็นปีถึงจะเสร็จเรียบร้อย อยากให้มองภาพรวมของตลาดในแต่ละปีมากกกว่า" นายสัมพันธ์กล่าวปิดท้าย….