เนื้อหาวันที่ : 2007-03-28 18:21:01 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1602 views

โตโยต้า ทุ่มทุนสร้างโรงงานแห่งที่ 3 "โรงงานเพื่อสิ่งแวดล้อม"

โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย มีการขยายตัวทางธุรกิจต่อเนื่อง ขึ้นแท่นบริษัทชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทุ่มทุนสร้างโรงงานประกอบรถยนต์แห่งใหม่ในประเทศไทย บนเนื้อที่กว่า 1,500 ไร่ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั่วโลก เน้นการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์แบบ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงงานบ้านโพธิ์ โรงงานประกอบรถยนต์แห่งที่ 3 ของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด โดยมีนาย อากิโอะ โตโยดะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และนาย อากิระ โอกาเบะ กรรมการบริหารอาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น พร้อมด้วยนาย มิทซึฮิโระ โซโนดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และคณะผู้บริหารระดับสูง เฝ้าฯรับเสด็จ

.

บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2505 และมีการขยายตัวทางธุรกิจต่อเนื่องตามลำดับ เป็นบริษัทชั้นนำของโตโยต้าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และเครือข่ายโตโยต้าทั่วโลก โดยมีโรงงานประกอบรถยนต์ 2 แห่ง ได้แก่ โรงงานประกอบรถยนต์สำโรง จ.สมุทรปราการ และโรงงานประกอบรถยนต์ เกตเวย์ จ.ฉะเชิงเทรา ผลิตรถยนต์นั่งรถกระบะ และรถอเนกประสงค์ที่ครองใจลูกค้าชาวไทย และลูกค้าทั่วโลก

.

ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ควบคู่ไปกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยมีปริมาณการผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศและส่งออกจำนวน 140,151 คันในปี 2545 และเพิ่มสูงขึ้นเป็นกว่า 439,394 คันในปี 2549

.

เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จึงตัดสินใจลงทุนสร้างโรงงานประกอบรถยนต์แห่งใหม่ในประเทศไทย ที่ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา บนเนื้อที่กว่า 1,500 ไร่ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั่วโลก

.

สำหรับโรงงานแห่งนี้มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์แบบ (ecological factory) ประกอบด้วย การจัดการด้านการอนุรักษ์พลังงาน มีการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิดพลังงานความร้อนร่วม (co-generator) โดยการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า รวมไปถึงการติดตั้งเซลล์พลังงานแสงอา ทิตย์ (solar cell) ที่อาคารสำนักงานเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ภายในสถานที่ทำงาน ซึ่งจะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศได้กว่า 8,500 ตันต่อปี ในส่วนของกระบวนการผลิต การปั๊มชิ้นส่วน และการเชื่อมตัวถัง ได้ติดตั้ง servo motor และหุ่นยนต์ servo robot ซึ่งช่วยประหยัดพลังงาน ทำให้คุณภาพการเชื่อมต่อดีขึ้น และยังสามารถลดสะเก็ดไฟควันที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเชื่อม การจัดการด้านมลพิษทางอากาศ มีการนำเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากร โดยนำระบบการพ่นสีรถยนต์ที่ใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย (water-borne paint) ที่มีคุณภาพดีกว่าการใช้สีผสมทินเนอร์ มีการนำหุ่นยนต์มาใช้ในกระบวนการพ่นสีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพ่นสี นอกจากนั้นยังมีการติดตั้งเตาเผาอุณภูมิสูง regenerative thermal oxidizer incinerator (RTO incinerator) เพื่อลดปริมาณสารระเหยไฮโดรคาร์บอนและมลพิษอากาศที่ปล่อยออกสู่บรรยากาศ

.

การจัดการมลพิษด้านขยะ ปัจจุบันโตโยต้าสามารถนำขยะไปรีไซเคิลได้ถึงกว่า 80% นอกจากนั้นยังมีการลดปริมาณขยะทุกชนิดอย่างต่อเนื่องทุกปี และยังมีนโยบายยกเลิกการนำขยะไปฝังกลบ หรือ zero landfill ซึ่งโรงงานโตโยต้าบ้านโพธิ์ได้เริ่มดำเนินโครงการนี้ตั้งแต่เริ่มต้นการผลิต มีการติดตั้งเครื่องรีดน้ำจากกากตะกอนของระบบบำบัดน้ำทิ้ง หรือ filter press และจัดทำโรงตากตะกอนที่ใช้ความร้อนจากแสงอา ทิตย์ เพื่อลดปริมาณกากตะกอนต่างๆ ให้เหลือน้อยที่สุด

.

การจัดการมลพิษทางน้ำ โรงงานบ้านโพธิ์มีกระบวนการบำบัดน้ำที่ใช้แล้วให้ได้คุณภาพ โดยมีดัชนีคุณภาพน้ำทิ้งเข้มงวดกว่าค่ามาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดถึง 20% โดยกระบวนการบำบัดทางเคมี และกระบวนบำบัดทางชีวภาพ รวมถึงมีการติดตั้งระบบรีไซเคิลน้ำที่บำบัดแล้วกลับมาใช้ในการผลิตและการอุปโภคในโรงงานอีกด้วย ทั้งนี้โตโยต้ายังมีการตรวจวัดคุณภาพน้ำทิ้งอย่างต่อเนื่องด้วยระบบการตรวจวัดค่า COD (chemical oxygen online) แบบออนไลน์ ซึ่งมีการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงการตรวจวิเคราะห์น้ำทิ้งโดยห้องปฏิบัติการวิเคราะห์คุณภาพน้ำที่ผ่านการรับรองและมีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย

.

นาย ศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า โรงงานบ้านโพธิ์นี้เริ่มเปิดสายการผลิตเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2550 มีกำลังการผลิตในระยะแรก 100,000 คันต่อปี ประกอบรถกระบะไฮลักซ์เพื่อตลาดภายในประเทศและการส่งออก เป็นโรงงานที่ให้ความสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างยิ่งด้วยการนำเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ ผนวกกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย กล่าวได้ว่าโรงงานบ้านโพธิ์เป็นโรงงานที่ทันสมัยที่สุดแห่ง หนึ่ง ในเอเชีย

.

นอกจากความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว โตโยต้ายังมีเจตนารมณ์ในฐานะองค์กรที่ดีของสังคม โดยได้ดำเนินกิจรรมส่งเสริมสังคมอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศ ทั้งนี้โรงงานบ้านโพธิ์จะช่วยให้การกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจของประเทศจากการลงทุนและการส่งออกรถยนต์ไปยังต่างประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์ต่อภาพรวมของประเทศ ขณะเดียวกันยังได้เอาใจใส่และรับผิดชอบต่อชุมชน อาทิ การสนับสนุนแหล่งน้ำสะอาดเพื่ออุปโภคบริโภค กิจกรรมสาธารณประโยชน์อื่น ๆ แก่วัด โรงเรียน และองค์การบริหารส่วนตำบล ในจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นต้น

.

สำหรับโรงงานบ้านโพธิ ช่วงแรกนี้ผลิตเฉพาะไฮลักซ์ วีโก้ รุ่นดับเบิลแค็ปเป็นหลัก ตลาดใหญ่อยู่ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง การทำงาน 1 จะทำเพียง 250 วัน โดยมีกำลังการผลิตช่วงแรกประมาณ 1 แสนคัน

.

"โดยรถยนต์ หนึ่ง คันตั้งเริ่มขั้นน็อตตัวแรกจะใช้เวลาประมาณ 25 ชม. ซึ่งจะต่างจากที่โรงงานสำโรงใช้เวลาเพียง 13 ชม. และระยะห่างการผลิตต่อคันจะอยู่ประมาณ 2.5 นาที เรามั่นใจว่าโรงงานเพื่อสิ่งแวดล้อมแห่งนี้จะเป็นอีกก้าวที่สำคัญของอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในประเทศไทย ในการพัฒนาศักยภาพการผลิตควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม"

.

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ