เนื้อหาวันที่ : 2011-06-21 10:14:31 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1244 views

มจธ.เปิดตัวรถโดยสารใช้เอทานอลคันแรกของไทย

          มจธ.ร่วม 7 หน่วยงานหลัก เปิดตัวรถโดยสารใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิงคันแรกของไทยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำร่องเดินเครื่อง ก.ค. นี้บนเส้นทางรถโดยสารปรับอากาศ ขสมก. สาย 21 เผยหลังศึกษาความเป็นไปได้เตรียมพัฒนาเครื่องยนต์รถขนส่งไทยใช้เอทานอลมากขึ้น หวังลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ

          ผศ.สุรชัย บวรเศรษฐนันท์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และหัวหน้าโครงการสาธิตการใช้รถโดยสารขนาดใหญ่ที่ใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิง เปิดเผยว่า ร้อยละ 60 ของเชื้อเพลิงที่ใช้สำหรับภาคขนส่ง คือ น้ำมันดีเซล จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาพลังงานทดแทนใหม่ๆ นอกเหนือจากไบโอดีเซล และพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพ คือ “เอทานอล” จากการที่ภาครัฐส่งเสริมให้มีการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี โดยมุ่งเน้นส่งเสริมการใช้เอทานอลเพื่อลดการใช้น้ำมันเบนซิน

แต่ปัจจุบันพบว่ามีความต้องการใช้เอทานอลเพียง 1.29 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งต่ำกว่ากำลังการผลิตที่สามารถทำได้สูงสุดถึง 2.89 ล้านลิตรต่อวัน ทำให้เกิดปัญหาเอทานอลล้นตลาด และหากเปรียบเทียบกำลังการผลิตในอนาคตของโรงงานเอทานอลที่ได้รับอนุญาตทั้งหมด 47 โรงงาน ซึ่งจะมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 12.29 ล้านลิตรต่อวัน ก็จะทำให้เอทานอลล้นตลาดมากยิ่งขึ้น

          เหตุนี้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ 7 หน่วยงาน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ กรมควบคุมมลพิษ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ บริษัทเพโทรกรีน จำกัด บริษัท สแกนเนีย สยาม จำกัด และ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จึงได้ริเริ่ม โครงการสาธิตการใช้รถโดยสารขนาดใหญ่ที่ใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิงขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ซึ่งบริษัท สแกนเนียสนับสนุนโดยให้ยืมรถโดยสารขนาดใหญ่ที่ใช้เชื้อเพลิง ED95 สนับสนุนเชื้อเพลิงเอทานอลจาก บริษัท เพโทรกรีน และสนับสนุนการจัดเก็บ ระบบการผสม และจ่ายเชื้อเพลิง ED95 จาก บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เพื่อนำร่องการส่งเสริมใช้เอทานอลในรถโดยสารขนาดใหญ่เพื่อทดแทนการใช้น้ำมันดีเซล

โดย มจธ. รับหน้าที่ในการศึกษาทั้งข้อดีและข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีของเครื่องยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิง ED95 ในสภาพแวดล้อมของประเทศไทย และศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาสารเติมแต่งสำหรับเชื้อเพลิง ED95 ขึ้นภายในประเทศ การประเมินผลทางเศรษฐศาสตร์รวมไปถึงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของภาครัฐในการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการใช้เอทานอลทดแทนเชื้อเพลิงอย่างจริงจัง เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานในระดับประเทศ

ลดปริมาณการใช้น้ำมันดีเซล ลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากเอทานอลเป็นผลิตผลทางการเกษตรที่มีการหมุนเวียนการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และเกิดกระบวนการเผาไหม้ที่สะอาดกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงการช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีขึ้น จากการเพาะปลูกและขายพืชผลทางการเกษตร อันจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้น เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของประเทศไทยต่อไป

          ผศ.สุรชัย กล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าวมีกำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 28 มิถุนายนนี้ เวลา 13.30-15.30 น. ณ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ พร้อมนำร่องสาธิตบนเส้นทางระหว่างวิทยาเขตบางมด – บางขุนเทียน ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในเดือนมิถุนายน 2554 และสาธิตบนเส้นทางของรถโดยสาร ขสมก. ปรับอากาศสาย 21 ระหว่าง มจธ. – สยามสแคว์ (จุฬาฯ) ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ และเมื่อได้ข้อสรุปของผลการศึกษาโครงการแล้ว มจธ. จะนำข้อมูลไปศึกษาและพัฒนาเครื่องยนต์ที่มีอยู่แล้วให้สามารถใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิงต่อไปในอนาคต

ที่มา : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี