เนื้อหาวันที่ : 2007-03-27 17:55:55 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1013 views

IRPC เร่งปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นเทียบมาตรฐานโลก

ไออาร์พีซี ได้พี่เลี้ยงมืออาชีพ เชลล์ โกลบอล โซลูชั่น เข้ามาช่วยปรับปรุงโรงกลั่น ตั้งเป้าระยะ 3 ปี ลดค่าใช้จ่ายในการผลิตรวมกว่า 3,750 ล้านบาท ดันประสิทธิภาพโรงกลั่นเทียบมาตรฐานโลก หวังขึ้นเป็นผู้นำการผลิตปิโตรเคมีและการกลั่นครบวงจรในอาเซียน

ไออาร์พีซี ได้พี่เลี้ยงมืออาชีพ เชลล์ โกลบอล โซลูชั่น เข้ามาช่วยปรับปรุงโรงกลั่น ตั้งเป้าระยะ 3 ปี ลดค่าใช้จ่ายในการผลิตรวมกว่า 3,750  ล้านบาท  ดันประสิทธิภาพโรงกลั่นเทียบมาตรฐานโลก ควบคู่การจัดอันดับเครดิตของบริษัทที่ได้ 3 สถาบันดัง S&P มูดีส์ และ ฟิทช์ เรทติ้ง เข้ามาประเมิน เชื่อมั่นประสิทธิผลการทำงานที่ดีขึ้นเป็นอานิสงส์ให้บริษัทหาแหล่งเงินทุน ต้นทุนต่ำได้ เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในธุรกิจได้ระยะยาว

.

ดร.ปิติ ยิ้มประเสริฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นของบริษัท ภายหลังจากที่บริษัทได้เลือกบริษัท เชลล์ โกลบอล โซลูชั่น เข้ามาเป็นที่ปรึกษาในฐานะบริษัทผู้เชี่ยวชาญ เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในกระบวนการผลิตธุรกิจปิโตรเลียม และธุรกิจปิโตรเคมี เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มการผลิตโรงกลั่นให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

.

บริษัทตั้งเป้าในระยะ 3 ปี จะสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายในการผลิต ในส่วนของกระบวนการกลั่นรวมกว่า 3,750 ล้านบาท โดยในระยะ 2 ปีแรก เชลล์ โกลบอล ทีมวิศวกรเข้ามาถ่ายทอดความรู้ด้านวิชาการ และความเชี่ยวชาญ (Skill Transfer) ให้กับทีมงานของบริษัท ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการกลั่นได้ 0.30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากปัจจุบันที่มีกำลังการกลั่น 200,000 บาร์เรลต่อวัน คิดเป็นมูลค่าค่าใช้จ่ายที่ลดลง 756 ล้านบาท ในปีแรก

.

ทั้งนี้ เมื่อกระบวนการผลิตเข้าสู่ระบบที่มีประสิทธิภาพ ในปีต่อๆ ไป บริษัทจะสามารถค่าใช้จ่ายในการกลั่นได้ปีละ 0.60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หากคิดจากกำลังการกลั่นที่ 200,000 บาร์เรลต่อวัน บริษัทจะลดภาระค่าใช้จ่ายในการกลั่นได้ทุกปี ปีละ 1,512 ล้านบาท 

.

"ก่อนการเข้ามาของคณะผู้บริหารชุดปัจจุบัน บริษัทเคยว่าจ้างบริษัท เคบีซี จำกัด  ให้เข้ามาประเมินประสิทธิภาพโรงกลั่นในเบื้องต้นแล้ว ว่ามีจะประสิทธิภาพสูงสุดอย่างไร และต่อมาคณะผู้บริหารชุดปัจจุบันก็ได้ว่าจ้างบริษัท เนคซัน จำกัด ได้เข้ามาประเมินในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งผลการศึกษาจากทั้งสองบริษัทพบว่า ไออาร์พีซีต้องหาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเป็นที่ปรึกษาด้านการดำเนินงานอย่างจริงจัง ซึ่งคณะผู้บริหารเห็นว่า เชลล์  โกลบอล โซลูชั่น เป็นบริษัทที่มีประสบการณ์สูง"

.

สำหรับ บริษัท เชลล์ โกลบอล โซลูชั่น เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของโรงกลั่น มีประสบการณ์ทำงานในระดับนานาชาติ มีประสบการณ์ในการเป็นที่ปรึกษาให้บริษัทในธุรกิจปิโตรเลียม และปิโตรเคมี ในต่างประเทศ อาทิ สิงคโปร์ บรูไน อินโดนีเซีย และจีน  และเป็นบริษัทที่ปรึกษาบริษัทในกลุ่ม ปตท.  เช่น บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) บริษัท ปตท. เคมีคอล จำกัด (มหาชน) (PTTCH)  และ บริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (มหาชน) (RRC)  ดังนั้น ไออาร์พีซี ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจของ ปตท. จึงได้ประโยชน์ในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการว่าจ้าง ซึ่งเชลล์ โกลบอล โซลูชั่น จะคิดตามค่าแรงที่เบิกจ่ายจริง

.

ดร.ปิติ กล่าวว่า ประสิทธิผลที่เกิดขึ้นจากการปรับปรุงโรงกลั่นของบริษัท  บริษัทจะนำข้อมูลที่ได้ไปเปรียบเทียบ เพื่ออ้างอิงกับมาตรฐาน (Benchmark) ธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมีในระดับสากล โดยให้บริษัท โซโลมอน จำกัด บริษัทประเมินผลด้านโรงกลั่น และให้ บริษัท ฟิลลิป เทาซัน จำกัด บริษัทผู้ประเมินผลด้านปิโตรเคมี เพื่อให้ทราบมาตรฐานของบริษัท ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนขยายกำลังการผลิตในอนาคต

.

ขณะเดียวกัน บริษัทยังให้ความสำคัญกับการประเมินภาพรวมของบริษัท ด้วยการให้บริษัทประเมินอันดับเครดิตระดับโลก คือ บริษัท แสตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) และบริษัท มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส เข้ามาเก็บข้อมูล เพื่อประเมินอันดับเครดิตของบริษัทเรียบร้อยแล้ว ส่วน บริษัท ฟิทช์ เรทติ้ง จำกัด อยู่ในระหว่างการเก็บข้อมูล คาดว่าบริษัทจะทราบข้อมูลอันดับเครดิต จากทั้งสามสถาบันภายในต้นไตรมาส 2/50 นี้

.

"วันนี้ ไออาร์พีซี ต้องเดินไปข้างหน้าแบบมืออาชีพ เราต้องเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานให้ดี  มีมาตรฐานในระดับสากล  การลงทุนในหลายโครงการจึงต้องศึกษาอย่างรอบคอบ เพื่อให้รู้จักสถานะและศักยภาพของตนเอง เพราะผลจากการศึกษาทีได้นั้น จะนำไปเป็นประโยชน์ เพื่อวางแผนการลงทุนของบริษัทในอนาคต เช่น โอกาสในการหาแหล่งเงินทุน สามารถทำได้ง่าย ต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะช่วยลดภาระต้นทุนให้บริษัทแข่งขันในธุรกิจนี้ได้ระยะยาว เป็นไปตามเป้าหมายในการเป็นผู้นำการผลิตปิโตรเคมีและการกลั่นครบวงจรในอาเซียน" ดร.ปิติกล่าว