เนื้อหาวันที่ : 2011-06-16 14:51:24 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1301 views

ระยองนำร่องใช้ยูโร 4 กพ.ชูกม.ใหม่คุมเข้ม LPG

สถานการณ์น้ำมันเดือน พ.ค. ลดลงหลังการใช้รถเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่การใช้ก๊าซและดีเซลในภาคอุตฯ-ขนส่งเพิ่มขึ้น กพ.เผยเตรียมนำร่องขายยูโร 4 ที่ระยองหวังช่วยลดมลพิษ

          สถานการณ์น้ำมันเดือน พ.ค. ลดลงหลังการใช้รถเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่การใช้ก๊าซและดีเซลในภาคอุตฯ-ขนส่งเพิ่มขึ้น กพ.เผยเตรียมนำร่องขายยูโร 4 ที่ระยองหวังช่วยลดมลพิษ

          กรมธุรกิจพลังงานแถลงสถานการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงเดือนพฤษภาคม 54 และยอดการใช้พลังงานภาพรวม 5 เดือนแรกของปี เผยกรมฯเตรียมเดินเครื่องเปิดตัวน้ำมันยูโร 4 ขายนำร่องที่ระยอง พร้อมชูกฎหมายใหม่ดูแลความปลอดภัยสถานที่ใช้ก๊าซแอลพีจี

          นายวีระพล จิรประดิษฐกุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยถึง สถานการณ์การใช้น้ำมันในภาพรวมเดือนพฤษภาคม 2554ที่ผ่านมา มีปริมาณลดลงจากเดือนเมษายน 2554 โดยการใช้น้ำมันในกลุ่มเบนซินปรับลดลง 3% จาก 20.6 ล้านลิตร/วัน มาอยู่ที่ 20.0 ล้านลิตร/วัน เนื่องจากสถานการณ์การใช้รถยนต์กลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ ประกอบกับย่างเข้าสู่ฤดูฝนทำให้การเดินทางลดลง

ส่วนการใช้น้ำมันในกลุ่มดีเซลหมุนเร็วอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อน ที่ 55.3 ล้านลิตร/วัน สำหรับ LPG มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 544,000 ตัน/เดือน หรือ 17,600 ตัน/วัน ลดลง 2% โดยลดลงในส่วนของครัวเรือนและปิโตรเคมี แต่การใช้ภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่งปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจาก LPG มีราคาถูกกว่าน้ำมัน เช่นเดียวกับ NGV มีการใช้เพิ่มขึ้น 10% จาก 6.0 ล้านกิโลกรัม/วัน มาอยู่ที่ 6.6 ล้านกิโลกรัม/วัน โดย ณ สิ้นเดือนพฤษภาคมมีรถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องยนต์ NGV ทั้งหมด 259,560 คัน

          การใช้กลุ่มน้ำมันเบนซินแบ่งเป็นการใช้น้ำมันเบนซิน 91 และ 95 รวมอยู่ที่ 7.5 ล้านลิตร/วัน ลดลง 2.8% และการใช้แก๊สโซฮอล์รวมอยู่ที่ 12.5 ล้านลิตร/วัน ลดลง 3.2% โดยการใช้ลดลงทุกชนิด ยกเว้นแก๊สโซฮอล์ อี85 ที่เพิ่มจาก 0.017 ล้านลิตร/วัน เป็น 0.023 ล้านลิตร/วัน ทั้งนี้เป็นผลจากนโยบายทางด้านราคา โดยราคาต่ำกว่าแก๊สโซฮอล์ อี 10 และ อี 20 ประมาณ 12-15 บาท/ลิตร

          ส่วนการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล เป็นการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี 3) 54.6 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.2% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาคอุตสาหกรรม มีการผลิตสินค้ามากขึ้นหลังจากหยุดดำเนินการในช่วงเทศกาลสงกรานต์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และผลผลิตอ้อยมีปริมาณเพิ่มขึ้น ทำให้เดือนพฤษภาคมยังคงมีการหีบอ้อยและมีการใช้รถบรรทุกเพื่อขนส่งสินค้าดังกล่าว

นอกจากนี้การปรับตัวเพิ่มขึ้นของปริมาณการใช้ดีเซล ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการตรึงราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วไว้ที่ระดับ 29.99 บาท/ลิตร ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2554 ทำให้มีประชาชนเปลี่ยนมาใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว โดยปัจจุบันมีรถยนต์ดีเซลที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกมากกว่า 7 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปี 2553 3% และเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2552 เพิ่มขึ้นเกือบ 10%

          สำหรับการจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็วในเดือนพฤษภาคมนี้ มีเพียงน้ำมันบี 3 เกรดเดียว และอาจมีการพิจารณาปรับสัดส่วนการผสม บี 100 เพิ่มขึ้นเป็น 4%-5% ตามความเหมาะสม โดยการจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเกรดเดียวจะทำให้สถานีบริการมีหัวจ่ายน้ำมันเหลือ สามารถนำไปปรับขายแก๊สโซฮอล์ โดยเฉพาะ อี 20 และ อี 85 ได้ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเติมน้ำมันและอาจเปลี่ยนมาใช้น้ำมันชนิดดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล

          ด้านการใช้ LPG ในเดือนพฤษภาคม 2554 อยู่ที่ 544,000 ตัน/เดือน หรือ 17,600 ตัน/วัน ลดลง 2% โดยแบ่งเป็น การใช้ในภาคปิโตรเคมี 182,000 ตัน/เดือน หรือ 5,900 ตัน/วัน ลดลง 10% และภาคครัวเรือน 218,000 ตัน/เดือน หรือ 7,000 ตัน/วัน ลดลง 1% ในขณะที่การใช้ในภาคอุตสาหกรรม 68,000 ตัน/เดือน หรือ 2,200 ตัน/วัน เพิ่มขึ้น 9% และภาคขนส่ง 76,000 ตัน/เดือน หรือ 2,500 ตัน/วัน เพิ่มขึ้น 5% โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มีรถยนต์ที่สามารถใช้ LPG เป็นเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นถึง 50,000 คัน ทำให้ปัจจุบันในประเทศมีรถยนต์ LPG มากกว่า 700,000 คัน ซึ่งในเดือนพฤษภาคมมีการนำเข้า LPG 116,000 ตัน โดยกองทุนจ่ายชดเชยประมาณ 2,500 ล้านบาท

          ด้านการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงมีปริมาณรวมทั้งหมด 944,000 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 3% ในขณะที่มูลค่านำเข้ารวมอยู่ที่ 103,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 7% แบ่งเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบ 898,000 บาร์เรล/วัน มูลค่านำเข้า 99,600 ล้านบาท และน้ำมันสำเร็จรูป 45,000 บาร์เรล/วัน มูลค่านำเข้า 3,800 ล้านบาท ส่วนการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปมีปริมาณ 185,000 บาร์เรล/วัน เป็นมูลค่าส่งออก 21,000 ล้านบาท โดยปริมาณการส่งออกลดลง 5% แต่มูลค่าเพิ่มขึ้น 0.6%

การใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 5 เดือนแรกของปี 2554 เปรียบเทียบกับปี 2553
          เมื่อเปรียบเทียบการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2554 กับช่วงเดียวกันของปี 2553 พบว่า การใช้น้ำมันเบนซิน เพิ่มขึ้น 2% จาก 20.0 ล้านลิตร/วัน เป็น 20.4 ล้านลิตร/วัน น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว เพิ่มขึ้น 3% จาก 52.6 ล้านลิตร/วัน เป็น 54.3 ล้านลิตร/วัน ในขณะที่การใช้ NGV จาก 4.6 ล้านกิโลกรัม/วัน เป็น 6.2 ล้านกิโลกรัม/วัน เพิ่มขึ้น 35% ทั้งนี้เป็นผลจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นและรัฐบาลยังคงตรึงราคา NGV อยู่ที่ 8.50 บาท/กิโลกรัม ทำให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้ NGV เพิ่มขึ้น

          ส่วนการใช้ LPG รวมอยู่ที่ 532,000 ตัน/เดือน หรือ 17,600 ตัน/วัน เพิ่มขึ้น 24% ทั้งนี้เป็นการใช้ในภาคปิโตรเคมี 184,000 ตัน/เดือน หรือ 6,100 ตัน/วัน เพิ่มขึ้น 56% การใช้ในภาคขนส่ง 69,000 ตัน/เดือน หรือ 2,300 ตัน/วัน เพิ่มขึ้น 27% ภาคครัวเรือน 214,000 ตัน/เดือน หรือ 7,100 ตัน/วัน เพิ่มขึ้น 10% และภาคอุตสาหกรรม 65,000 ตัน/เดือน หรือ 2,200 ตัน/วัน เพิ่มขึ้น 5%

          สำหรับการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2554 อยู่ที่ 856,000 บาร์เรล/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.4% ในขณะที่มูลค่านำเข้า 422,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% ทั้งนี้เป็นผลจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น แบ่งเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบ 810,000 บาร์เรล/วัน มูลค่า 403,000 ล้านบาท และน้ำมันสำเร็จรูป 46,000 บาร์เรล/วัน มูลค่า 18,000 ล้านบาท โดยปริมาณนำเข้าที่ลดลงเป็นผลจากปริมาณนำเข้า LPG ลดลง 22% อยู่ที่ 102,000 ตัน/เดือน มูลค่า 15,000 ล้านบาท ลดลง 10% เนื่องจากโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 6 ของปตท.เดินเครื่องเต็มที่ และโรงกลั่นได้นำ LPG ออกมาจำหน่ายเพิ่มมากประมาณ 40,000 ตัน/เดือน ส่วนการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ 153,000 บาร์เรล/วัน ลดลง 8% มูลค่า 79,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18%

การคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ
          นอกจากนี้ นายวีระพล ยังกล่าวถึงราคาน้ำมันดิบว่า EIA (U.S. Energy Information Administration) ได้คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ WTI ในไตรมาสที่ 2 จะอยู่ที่ระดับ 104 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในขณะที่ Goldman Sachs ได้ปรับราคาคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในปี 2554 จาก 105 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เป็น 120 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และ Morgan Stanley ปรับจาก 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เป็น 120 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จึงอยากขอความร่วมมือให้ประชาชนช่วยกันประหยัดพลังงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายของตนเองและลดการสูญเสียเงินตราออกนอกประเทศ โดยเฉพาะในช่วงปลายปีที่โรงกลั่นบางแห่งจะมีการปิดปรับปรุงอุปกรณ์เพื่อรองรับน้ำมันยูโร 4 ตามมาตรฐานของกรมธุรกิจพลังงานซึ่งกำหนดให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 ที่จะถึงนี้ เพื่อลดมลพิษที่ปล่อยออกจากท่อไอเสียของยานพาหนะซึ่งจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

ธพ.ร่วมมือผู้ค้าน้ำมันจำหน่ายน้ำมันยูโร 4 ในจังหวัดระยองก่อนกฎหมายกำหนด
          อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานโดยกรมธุรกิจพลังงาน ได้รับความร่วมมือจากผู้ค้าน้ำมัน 7 ราย ได้แก่ ซัสโก้ น้ำมันไออาร์พีซี บางจาก ปตท. ปตท.บริหารธุรกิจค้าปลีก ปิโตรนาส และภาคใต้เชื้อเพลิง เพื่อเตรียมนำน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์มาตรฐานยูโร 4 มาจำหน่ายในเขตจังหวัดระยอง ก่อนเวลาที่กฎหมายกำหนดบังคับใช้ในปี 2555 เพื่อช่วยแก้ไขปัญหามลพิษ

กรมธุรกิจพลังงาน ได้มีการออกกฎหมายการบังคับใช้น้ำมันยูโร 4 ซึ่งเป็นน้ำมันสะอาดที่มีคุณภาพเข้มงวดขึ้น โดยได้มีการกำหนดเป็นการล่วงหน้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ให้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์จะต้องมีคุณภาพเป็นมาตรฐานยูโร 4 แต่เนื่องจากพื้นที่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และบริเวณใกล้เคียงประสบปัญหาด้านมลพิษ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง

กระทรวงพลังงานโดยกรมธุรกิจกลังงาน ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ร่วมมือโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ และ ไออาร์พีซี ผลิตน้ำมันเบนซินออกเทน 91และน้ำมันแก๊สโซฮอล์อี 10 ออกเทน 91 มาตรฐานยูโร 4 ให้กับผู้ค้าน้ำมันที่มีความพร้อม จำนวน 7 ราย นำไปจำหน่ายในสถานีบริการในจังหวัดระยอง 15 แห่ง

          การนำน้ำมันเบนซิน และแก๊สโซฮอล์มาตรฐานยูโร 4 มาจำหน่ายในเขตจังหวัดระยองก่อนกฎหมายกำหนด จะเป็นการช่วยลดมลพิษที่ปล่อยสู่อากาศ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน และถือเป็นโครงการนำร่องเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม

กระทรวงพลังงานออกกฎหมายควบคุมความปลอดภัยสถานที่ใช้ก๊าซ LPG
          อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยถึงมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยสถานที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงาน ได้ออกประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการในการเก็บรักษา การกำหนดบุคลากรที่รับผิดชอบ และการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 สำหรับสถานที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่กรมธุรกิจพลังงานรับผิดชอบ พ.ศ.2554 โดยได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2554 เป็นต้นไป

          สำหรับกฎหมายฉบับนี้ มุ่งเน้นในการการกำกับดูแลสถานที่ใช้ก๊าซ LPG อาทิ โรงงาน โรงแรม ฯลฯ เพื่อให้มีการใช้พลังงานเป็นไปตามประเภทของเชื้อเพลิงอย่างถูกต้อง ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และสนับสนุนการแยกการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวภาคอุตสาหกรรม ออกจากภาคครัวเรือนและภาคขนส่งอย่างเป็นรูปธรรม และไม่ส่งผลกระทบต่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

          “เนื้อหาหลัก ๆ ของกฎหมายนี้ มีการกำหนดสถานที่ใช้ก๊าซ LPG การใช้ภาชนะให้สอดคล้องการเก็บรักษาวัตถุอันตราย และมาตรฐานความปลอดภัยให้เป็นไปตามหลักสากล ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลสถานที่ใช้ก๊าซ LPG ให้มีความปลอดภัย ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและประชาชนที่เกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น

สรุปสาระสำคัญ คือ ผู้ครอบครอง LPG เกิน 250 กิโลกรัม ต้องแจ้งข้อเท็จจริงการครอบครอง และหากครอบครอง LPG เกิน 500 กิโลกรัม ต้องขออนุญาตและต้องมีบุคลากรเฉพาะดูแล อย่างน้อย 1 คน และหากครอบครอง LPG เกิน 1,000 กิโลกรัม ต้องเก็บในถังเก็บและจ่ายก๊าซ ซึ่งทั้งการแจ้งข้อเท็จจริงหรือยื่นขอใบอนุญาตครอบครอง LPG ต้องดำเนินการ ภายใน 1 ปี นับแต่วันประกาศฯ มีผลใช้บังคับที่กรมธุรกิจพลังงาน หรือจังหวัดที่สถานที่ใช้ก๊าซนั้นๆตั้งอยู่” นายวีระพล กล่าว