เนื้อหาวันที่ : 2011-06-15 15:45:18 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2030 views

ทิสโก้ ชี้หุ้นยังเป็นสินทรัพย์ที่น่าลงทุนที่สุด

แนะนักลงทุนฉวยโอกาสตลาดหุ้นโลกผันผวนเข้าลงทุน ชี้หุ้นสหรัฐฯ ยังน่าสน ขณะที่หุ้นไทยเริ่มฉายแวว แนะเล็งลงทุนหลังดัชนีเริ่มลด

นายธีรนาถ รุจิเมธาภาส
กรรมการผู้จัดการ
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด

          ทิสโก้ แนะนักลงทุนฉวยโอกาสตลาดหุ้นโลกผันผวนเข้าลงทุน ชี้หุ้นสหรัฐฯ ยังน่าสน ขณะที่หุ้นไทยเริ่มฉายแวว แนะเล็งลงทุนหลังดัชนีเริ่มลด

          บลจ.ทิสโก้ประเมินภาวะตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวน น่าจะเป็นโอกาสให้นักลงทุนหาจังหวะเข้าลงทุน แนะ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังเป็นประเทศที่น่าสนใจ และตลาดหุ้นจีน H-Share ยังเป็นกลุ่มหุ้นที่มีราคาถูกที่สุดในตลาดเอเชีย ส่วนหุ้นไทยเริ่มน่าสนใจมากขึ้น เน้นจับจังหวะลงทุนหลังดัชนีเริ่มปรับตัวลดลง

          นายธีรนาถ รุจิเมธาภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด (Mr. Theeranat Rujimethapass, Managing Director of TISCO Asset Management Co.,Ltd.) เปิดเผยว่า บลจ.ทิสโก้ มีมุมมองว่า หลังจากดัชนีราคาหุ้นทั่วโลก รวมทั้งดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปรับตัวลดลงต่อเนื่องติดต่อกันกว่า 6 สัปดาห์ หลังจากที่ตลาดหุ้นโลก เช่น สหรัฐอเมริกา และ จีน (H-Share) รวมทั้งตลาดหุ้นไทย ให้ผลตอบแทนการลงทุนประมาณ 4-5% ตั้งแต่ต้นปี

ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจัยลบทั้งในและนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผลจากที่ตัวเลขการขอรับสวัสดิการว่างงานที่สูงกว่าที่นักลงทุนคาด ทำให้นักลงทุนมองว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของในสหรัฐฯ และโลกจะเติบโตช้าลง อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนของมาตราการที่จะต้องช่วยเหลือกรีซของประเทศในกลุ่มยุโรป ที่คอยกระทบบรรยากาศในการลงทุนเป็นระยะ รวมถึงเหตุการณ์ในไทยก็คือปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งแม้ในขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าพรรคการเมืองใดจะมาเป็นรัฐบาลเพื่อสานต่อการพัฒนาประเทศ ทำให้นักลงทุนโดยเฉพาะต่างชาติหยุดรอดูสถานการณ์ก่อน ประกอบกับดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นมากในช่วงก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาปัจจัยลบสำคัญๆ จะพบว่า
          1. ปัจจัยเรื่องการว่างงานของสหรัฐฯ นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากสหรัฐฯ เพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากสภาวะวิกฤติทางการเงินในปี 2008 อย่างไรก็ดี แนวโน้มอัตราว่างงานนั้นดีขึ้นตามลำดับหากพิจารณาอัตราว่างงานที่แตะจุดสูงสุดที่ 9.8% ไปแล้วในเดือนพฤศจิกายน ในขณะที่ปัจจุบันอัตราการว่างงานลดลงมาอยู่ที่ 9.1% ซึ่งแม้ว่าจะสูงแต่ก็เป็นระดับที่ดีขึ้น และธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ก็มีการคาดการณ์ว่าอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ น่าจะลดลงมาอยู่ที่ 8-8.1% ในปลายปีนี้ และเหลือเพียง 7% ในปลายปีหน้า

อีกทั้งเป็นที่ทราบดีว่าการว่างงานของสหรัฐฯ รวมทั้งดัชนีภาคการผลิตที่ปรับตัวลดลงนั้นมาจากผลกระทบจากการที่อุตสาหกรรมในประเทศญี่ปุ่นได้รับความเสียหายจากอุบัติภัยแผ่นดินไหวและวิกฤติการณ์พลังงานจากการที่ต้องใช้เวลาฟื้นฟูโรงงานผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์ในพื้นที่อุบัติภัยดังกล่าว และจากการที่ภาคอุตสาหกรรมในญี่ปุ่นเริ่มเดินเครื่องได้อีกครั้งน่าจะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ปลายน้ำในประเทศอื่นๆ

รวมถึงสหรัฐฯ น่าจะกลับมาผลิตได้อีกครั้งหนึ่ง ทำให้คาดการณ์ได้ว่าภาคการจ้างงานของสหรัฐฯ รวมทั้งดัชนีภาคการผลิตน่าจะปรับตัวดีขึ้นในครึ่งหลังของปี ดังนั้นจึงน่าจะถือว่าเป็นปัจจัยลบที่โลกให้ความสนใจแต่สามารถคลี่คลายได้ในระยะเวลาอันสั้น

          2. ปัจจัยหนี้สาธารณะในประเทศกลุ่ม PIGS ซึ่งที่มีปัญหาอยู่ขณะนี้คือประเทศกรีซ ที่ประชาคมยุโรปและ ไอเอ็มเอฟ กำลังช่วยเหลืออยู่โดยมีแนวโน้มว่ากรีซจะได้รับเงินช่วยเหลือเพื่อจ่ายหนี้สาธารณะที่ใกล้ครบกำหนด แต่อยู่บนข้อแม้ว่ารัฐบาลกรีซจะต้องมีวินัยทางการคลังคือต้องลดการใช้จ่ายภาครัฐลง และจะต้องมีการทะยอยขายรัฐวิสาหกิจต่างๆ ออกไป เพื่อหาเงินมาใช้หนี้

ซึ่งประเด็นหนี้สาธารณะของยุโรปนี้จะไม่สามารถแก้ได้ในเร็ววันและจะมีข่าวทำนองนี้ออกมาเป็นระยะ พร้อมกับแนวทางในการเยียวยาของอียูบวกกับไอเอ็มเอฟ เพราะเป็นที่รู้กันว่าอียู คงไม่ยอมให้ประเทศเล็กๆ ในกลุ่มของตนมาทำให้ประชาคมเศรษฐกิจยุโรปไร้ความน่าเชื่อถือ ดังนั้น ปัจจัยลบนี้คงมีอยู่และก่อกวนความกังวลใจเป็นระยะๆ อย่างไรก็ตามประเทศผู้นำที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ของยุโรปเช่น เยอรมัน และ ฝรั่งเศส ก็จะมีหน้าที่ คอยหามาตรการมารักษาอาการเป็นระยะไป

          3. ปัจจัยเรื่องการเมืองของไทย ประเมินว่ายังคงไม่ใช่ปัจจัยหลักที่มีผลกระทบต่อภาวะการเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นที่มีการลดลงในช่วงนี้ แต่ปัจจัยหลักน่าจะมาจากปัจจัยลบจากภายนอกมากกว่า เพราะหากพิจารณาจากการปรับตัวลดลงของราคาหุ้นไทยในรอบนี้ก็ใกล้เคียงกับการปรับตัวลงของราคาหุ้นสหรัฐฯ และหุ้นในตลาดอื่นๆ ทั่วโลก

อย่างไรก็ดี ปัจจัยลบทางการเมืองแม้จะเกิดก็มักจะกระทบตลาดหุ้นในระยะสั้น เพราะหุ้นของบริษัทใหญ่ๆ หลายๆ ตัวที่ถูกฝรั่งขายออกมาเมื่อราคาปรับลดลงมาถึงระดับหนึ่ง ก็จะเพิ่มความน่าสนใจให้ผู้ลงทุนไทยกลับเข้าไปลงทุนใหม่ เพราะโดยพื้นฐานของกิจการต่างๆ เหล่านี้ยังสามารถประกอบกิจการให้มีกำไรเติบโตได้โดยเฉลี่ยประมาณ 15% และคาดว่าอัตราการจ่ายเงินปันผลของตลาดไทยเองก็ยังอยู่ในระดับที่น่าจูงใจ เมื่อเทียบกับอัตราผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยที่ได้รับจากการลงทุนในตราสารหนี้ ดังนั้น ปัจจัยลบทางการเมืองหากเป็นเรื่องทำให้หุ้นไทยปรับฐานลงมาอีก เชื่อว่าจะเป็นโอกาสให้นักลงทุนไทยเข้าซื้อหุ้นกันใหม่อีกรอบ

          4. ปัจจัยเงินเฟ้อ แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อโดยเฉพาะในประเทศเกิดใหม่เร่งตัวเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ก็เป็นเพราะราคาอาหารและน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นเร็ว เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาภัยธรรมชาติทำให้อาหารขาดแคลน ในขณะที่สงครามในตะวันออกกลางทำให้ผู้ลงทุนเก็งกันว่าราคาน้ำมันน่าจะปรับเพิ่มขึ้น

ประกอบกับเศรษฐกิจอย่างจีนและประเทศในแถบเอเชียก็มีการขยายตัวทำให้ความต้องการใช้สินค้าโภคภัณฑ์ทั้งที่เป็นอาหารและพลังงานมีมากขึ้นไปอีก อย่างไรก็ดี รัฐบาลกลางของหลายประเทศที่เห็นสัญญาณของเงินเฟ้อก็มีการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสะกัดเงินเฟ้อไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นจนเกิดปัญหาฟองสบู่ ดังนั้นปัจจัยลบนี้เป็นปัจจัยที่มาพร้อมการเติบโตของเศรษฐกิจ และ หากธนาคารกลางให้ความใส่ใจก็มีโอกาสที่จะควบคุมได้ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าหากราคาน้ำมันเริ่มทรงตัวได้ ในครึ่งปีหลังอัตราเงินเฟ้อน่า จะชะลอตัวลงอย่างชัดเจน

          โดย สรุปหากพิจาณาพื้นฐานทางเศรษฐกิจโดยรวมที่มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้น่าจะฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าน่าจะอยู่ในระดับประมาณ 4% โดยเฉลี่ย ประกอบกับคาดการณ์ว่าการฟื้นตัวจะยิ่งดูดีขึ้นในครึ่งปีหลัง จากการที่ภาคอุตสาหกรรมเริ่มกลับมาผลิตได้ใหม่ ย่อมทำให้ปัจจัยลบหลักๆ น่าจะคลี่คลายลง

ดังนั้นในช่วงนี้ ที่ตลาดหุ้นทั่วโลกมีความผันผวน น่าจะเป็นโอกาสให้นักลงทุนหาจังหวะเข้าลงทุน โดยหากเลือกเป็นประเทศในกลุ่มที่พัฒนาแล้ว ก็น่าจะเป็น สหรัฐฯ ที่ยังเป็นประเทศที่น่าสนใจ เพราะในสมัยนี้บริษัทอเมริกันขนาดใหญ่ทำการค้าทั่วโลก ย่อมได้ผลดีหากเศรษฐกิจยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะหากเศรษฐกิจทางภูมิภาคเอเชียยังเติบโตดีอยู่เช่นนี้ ก็จะทำให้บริษัทเหล่านี้ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในดัชนี S&P 500 น่าจะมีการเติบโตของรายได้และผลกำไรตามไปด้วย

ส่วนประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่จะเป็นประเทศในกลุ่มเอเชียแปซิฟิก ไม่นับ ญี่ปุ่น (Asia Pacific exclude Japan) ที่ยังมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและปลอดจากความเสี่ยงจากสงคราม โดยในตลาดเอเชีย ตลาดหุ้นจีน H-Share ยังเป็นกลุ่มหุ้นที่มีราคาถูกที่สุดในตลาดเอเชีย หากไม่นับเกาหลีใต้ ซึ่งหากหุ้นจีน H-Share ที่ปัจจุบันซื้อขายในระดับ PE ประมาณ 10-11 เท่า และสามารถกลับมาซื้อขายในระดับ PE เฉลี่ยที่ 14 เท่าตลาดหุ้นจีนก็น่าจะมีโอกาสสร้างกำไรได้ถึง 35-40%

          สำหรับหุ้นไทย คงต้องเน้นไปที่จังหวะ หรือ ระดับดัชนีฯ ที่หากมองจากตัวเลขการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่มองว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์มีโอกาสปรับตัวขึ้นถึง 1,200 จุด ก็จะเห็นได้ว่า ณ ระดับราคาหุ้นตอนนี้ (ประมาณ 1,000 จุด) ก็จะเริ่มมีโอกาสคาดหวังผลตอบแทนได้ถึง 20% ดังนั้นสำหรับการลงทุนในหุ้นไทยที่เป็นนักลงทุนระยะยาวตอนนี้จึงถือเป็นโอกาสที่น่าสนใจลงทุนมากขึ้น

          “ในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น เป็นที่แน่ชัดว่าอัตราดอกเบี้ยยังเป็นแนวโน้มที่ปรับตัวขึ้น ดังนั้นการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ไม่มีโอกาสทำกำไรได้เลย โดยเฉพาะการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว ดังนั้นสำหรับผู้ลงทุนแล้ว การลงทุนในหุ้นบ้างก็น่าจะสร้างผลตอบแทนที่ดี ไปอย่างน้อยในรอบ 12 เดือนข้างหน้า” นายธีรนาถกล่าว

          การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน

ที่มา : บลจ.ทิสโก้