เนื้อหาวันที่ : 2011-06-15 09:17:45 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1665 views

CPF โชว์ความสำเร็จโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ฯ

ซีพีเอฟ ประสบความสำเร็จโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบผสมผสาน ชี้ลดก๊าซเรือนกระจก 432 ตันคาร์บอนต่อปี ลดนำเข้าน้ำมันเตาปีละเกือบ 3 ล้านบาท

          ซีพีเอฟ ประสบความสำเร็จโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบผสมผสาน ชี้ลดก๊าซเรือนกระจก 432 ตันคาร์บอนต่อปี ลดนำเข้าน้ำมันเตาปีละเกือบ 3 ล้านบาท

          นายศุภชัย อังศุภากร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ล่าสุด ได้ริเริ่ม “โครงการผลิตน้ำร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบผสมผสาน” ซึ่งใช้ความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Collector) และ ความร้อนจากชุดแลกเปลี่ยนความร้อน (Economizer) มาผสมผสานการทำงานกัน เพื่อทดแทนการใช้น้ำมันเตาในการผลิตน้ำร้อนป้อนเข้าหม้อไอน้ำ โดยนำร่องที่โรงงานแปรรูปเนื้อไก่มีนบุรีเป็นแห่งแรก

          “โครงการผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์แบบผสมผสานนี้ เกิดขึ้นจากความใส่ใจในสิ่งแวดล้อมที่ซีพีเอฟให้ความสำคัญเสมอมา ซึ่งโครงการนี้จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศได้ปีละ 432 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ และยังช่วยลดการนำเข้าน้ำมันเตา 146,283 ลิตรต่อปี คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่าปีละ 2.7 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นอีกโครงการหนึ่งในการช่วยลดภาวะโลกร้อนที่ซีพีเอฟประสบความสำเร็จและคาดว่าจะดำเนินการขยายผลไปยังโรงงานอื่นๆต่อไป” นายศุภชัยกล่าว

          ทั้งนี้ โรงงานแปรรูปเนื้อไก่มีนบุรีของซีพีเอฟ ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในบริษัทฯ ตัวแทนของประเทศไทยในการเข้าร่วม โครงการบัญชีบริหารสิ่งแวดล้อม (Environments Management Accounting: EMA) ซึ่งเป็นเครื่องมือในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยวิธีนำข้อมูลทางด้านบัญชีมาวิเคราะห์ขบวนการ เพื่อหาจุด Hot Spot หรือจุดที่มีการใช้พลังงานสูง แล้วนำมาจัดทำโครงการเพื่อลดการใช้พลังงานต่างๆ ภายในบริษัทต่อไป ซึ่งนับเป็นวิธีที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศแถบยุโรป โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนจากมหาวิทยาลัย Luenburg ประเทศ Germany เข้ามาเป็นที่ปรึกษาโครงการ ภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมันผ่านทาง Asian Society For Environmental Protection (ASEP)

          “โครงการผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์แบบผสมผสาน” เป็นโครงการอนุรักษ์พลังงานที่เกิดจากการนำแสงอาทิตย์ที่เป็นพลังงานสะอาดมาใช้ประโยชน์สำหรับการผลิตน้ำร้อนโดยใช้เทคโนโลยี Solar Collector ร่วมกับชุดแลกเปลี่ยนความร้อน (Economizer) โดยการนำน้ำอุณหภูมิปกติ (30 oC) มาทำให้ร้อนขึ้นเป็น 60 oC ด้วยวิธีแลกเปลี่ยนความร้อนจากแสงอาทิตย์ ผ่านชุด Solar Collector จำนวน 195 แผง มีพื้นที่ในการรับแสง 2.56 ตารางเมตร/แผง คิดเป็นพื้นที่รับแสงรวม 499.2 ตารางเมตร จะทำให้ได้น้ำร้อนที่ผลิตจากชุด Solar Collector ประมาณ 20,000,000 ลิตร/ปี

          ภายใต้แนวคิด “การใช้พลังงานจากของเสีย” จากที่ปรึกษาโครงการ EMA จึงนำน้ำร้อนที่ได้จากชุดแลกเปลี่ยนความร้อน (Economizer) จากปล่องไอเสียของหม้อไอน้ำที่อุณหภูมิ 210 oC แลกเปลี่ยนกับน้ำที่อุณภูมิปกติ (30 oC) ให้สูงขึ้นเป็น 60 oC นั้น สามารถผลิตน้ำร้อนได้ 10,000,000 ลิตร/ปี รวมปริมาณน้ำร้อนที่ผลิตได้ทั้ง 2 ระบบ คิดเป็น 30,000,000 ลิตร/ปี

โดยปริมาณน้ำร้อนทั้งหมดนี้จะนำไปใช้เป็นน้ำป้อนเข้าหม้อไอน้ำในกระบวนการผลิต โครงการนี้สามารถลดการใช้น้ำมันเตาที่เคยใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไอน้ำได้ 146,283 ลิตร/ปี และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 432 ตันคาร์บอนไดออกไซด์/ปี หรือเทียบเท่าการปลูกป่า 2.4 ไร่ โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนเงินลงทุนส่วนหนึ่ง จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน