เนื้อหาวันที่ : 2011-06-14 16:39:31 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 970 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 14 มิ.ย. 2554

1. ปตท. คาดราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นอาจปรับลดลง
-  ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด หรือ PTT รายงานถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ (13-17 มิ.ย.54) โดยประเมินว่าในระยะสั้นราคาน้ำมันเบรนท์ (Brent) และน้ำมันเวสเท็กซัส (WTI) มีแนวรับอยู่ที่ 96-103 ดอลลาร์ต่อบาเรล และแนวต้านอยู่ที่ 115-122 ดอลลาร์ต่อบาเรล ซึ่งราคาน้ำมันอาจปรับลดลง หากซาอุดีอาระเบียสามารถเพิ่มกำลังการผลิตมาอยู่ที่ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน

-  สศค.วิเคราะห์ว่า หากมีการปรับลดลงของราคาน้ำมันดิบตามที่คาดการณ์จะส่งผลดีต่อแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อไม่ให้เพิ่มมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 54 (อัตราเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดในเดือน พ.ค. 54 อยู่ที่ร้อยละ 4.19) เนื่องจากหากราคาน้ำมันดิบปรับลดลงต้นทุนการผลิตจะปรับลดลงตามราคาน้ำมัน และจะส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการปรับราคาสินค้า

อย่างไรก็ดี การปรับลดลงของราคาน้ำมันดิบยังคงต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านความไม่สงบในตะวันออกกลางที่อาจจะทวีความรุนแรงขึ้นได้อีก ประกอบกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกด้วย ทั้งนี้ สศค.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 54 จะขยายตัวในช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.1- 4.1 ต่อปี และอัตาเงินเฟ้อพื้นฐานจะขยายตัวในช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.5 - 3.0 ต่อปี (คาดการณ์ ณ มี.ค.54) อย่างไรก็ตาม สศค.จะมีการปรับประมาณการอีกครั้ง ณ วันที่ 29 มิ.ย.54

2. นักเศรษฐศาสตร์ หวั่นเศรษฐกิจโลกหยุดชะงัก
-  ศาสตราจารย์นูเรียล รูบินี นักเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าวว่า จากปัญหาการคลังในสหรัฐ  การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน วิกฤตหนี้ยุโรป และเศรษฐกิจถดถอยในญี่ปุ่นจะเป็นปัจจัยกดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และมีโอกาส 1 ใน 3 ที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกหยุดชะงักในปี 2556 เป็นต้นไป

-  สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังปี 54 มีสัญญาณชะลอลง โดยเฉพาะสหรัฐฯที่ยังคงประสบปัญหาการการว่างงานในระดับสูง และสหภาพยุโรปที่ยังคงประสบปัญหาหนี้สาธารณะในระดับสูง ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหาภัยธรรมชาติ จนทำให้เศรษฐกิจหดตัวลง (โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 54 เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวลงร้อยละ -1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน) และอาจต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัว

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะจีน ยังขยายตัวได้ดี แม้ว่าทางการจีนพยามชะลอความร้อนแรงแรงทางเศรษฐกิจลง สอดคล้องกับเศรษฐกิจอินเดีย และฮ่องกงที่ยังคงขยายตัวได้ดีเช่นกัน โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 54 เศรษฐกิจจีน อินเดีย และฮ่องกง ขยายตัวร้อยละ 9.7 7.8 และ 7.2 ตามลำดับ

3. ไทยชงจัดเวิร์กชอประบบศุลกากรอาเซียน – จีน หวังแก้ปัญหาสินค้าเข้าสู่ตลาดจีนได้ยาก
-  อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยถึงผลการประชุมคณะเจรจาการค้าอาเซียน – จีน  ครั้งที่ 38 ที่ผ่านมาว่า ไทยได้เสนอให้มีการจัดเวิร์กชอประหว่างศุลกากรอาเซียนและจีน เพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องกฎ ระเบียบ กติกา ในด้านการรองรับกฎถิ่นกำเนิดสินค้า และพิธีการศุลกากร ที่มีความยุ่งยากและเป็นอุปสรรคในการส่งออกสินค้าของอาเซียนไปยังจีน โดยตั้งเป้าเสนอรัฐมนตรีลงนามภายในปีนี้

นอกจากนี้ อาเซียนและจีนยังได้มีการหารือถึงการเพิ่มบทบาททางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยได้มีการเร่งรัดให้มีการศึกษาการจัดทำ FTA อาเซียน+3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) และอาเซียน+6 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) เพื่อขยายกรอบความร่วมมือด้านการค้า การลงทุนให้กว้างขวางมากขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ประเทศในภูมิภาค

-  สศค. วิเคราะห์ว่า FTA  อาเซียน- จีนทีมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 48 ส่งผลให้มูลค่าการค้าระหว่างอาเซียนกับจีน รวมทั้งไทยกับจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 53 ไทยมีมูลค่าการค้ากับจีนสูงถึง 45,989.65 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 4 เท่าตัวเมื่อเทียบกับก่อนมี FTA อาเซียน-จีน ส่งผลให้จีนเป็นประเทศคู่ค้าหลักลำดับที่ 1 ของไทย (ไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปจีนกว่าร้อยละ 11 ของการส่งออกทั้งหมด)

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาด้านการใช้สิทธิจากความตกลงด้านการค้าสินค้า จากสัดส่วนการค้าระหว่างไทนกับจีน ในปี 2553 ซึ่งไทยส่งออกอยู่ที่มูลค่า 11,453 ล้านเหรียญสหรัฐ ในจำนวนนี้ มีการขอใช้สิทธิผ่าน FTA อาเซียน-จีน เพียง 7,372 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 60 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโอกาสทางการค้ากับจีนยังคงมีอีกมาก ทั้งนี้ หากแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านศุลกากรดังกล่าวได้ลุล่วง จะส่งผลดีต่อการค้าและอุตสาหกรรมไทยโดยได้ประโยชน์จากการนำเข้าวัตถุดิบราคาถูกจากจีนภายใต้ความตกลงฯ เพื่อส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มต่อไป

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง