เนื้อหาวันที่ : 2011-06-14 14:52:54 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2388 views

ปตท.ทดลองเดินเครื่องผลิต LNG ครั้งแรก

ปตท. ทดลองเดินเครื่องการผลิต LNG เชิงพาณิชย์ในพื้นที่มาบตาพุด คาดส่งก๊าซฯ ผ่านระบบท่อได้ในเดือน ก.ค. นี้

           ปตท. ทดลองเดินเครื่องการผลิต LNG เชิงพาณิชย์ในพื้นที่มาบตาพุด คาดส่งก๊าซฯ ผ่านระบบท่อได้ในเดือน ก.ค. นี้

          นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ปตท. ได้เริ่มนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็นครั้งแรกของประเทศ ในปริมาณประมาณ 60,000 ตัน จากประเทศกาตาร์ เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2554 เพื่อใช้ทดลองเดินเครื่องการผลิตของสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (Maptaphut LNG Receiving Terminal ) ของ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นสถานีรับจ่ายแอลเอ็นจี (LNG Receiving Terminal) แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าการทดลองเดินเครื่องฯ จะแล้วเสร็จ และพร้อมดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ สามารถส่งก๊าซฯ ผ่านระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้กับลูกค้าได้ในเดือนกรกฎาคม 2554

          นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ เปิดเผยเพิ่มเติม ว่า ปตท. ได้ดำเนินการจัดหา LNG สัญญาระยะสั้น ในปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี จากบริษัทผู้ขาย LNG ในยุโรป อเมริกาใต้ และเอเชีย และมีแผนที่จะจัดหาในรูปแบบสัญญาระยะยาวต่อไป ซึ่งการนำเข้า LNG จะช่วยตอบสนองความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปีละประมาณ 6-7% รวมทั้งช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ เพราะจะทำให้มั่นใจได้ว่าประเทศมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติอย่างเพียงพอและมั่นคง โดย ปตท. สามารถจัดหาก๊าซธรรมชาติเข้ามาเพิ่มเติมเพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซฯ ของประเทศ ทั้งในภาคการผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรม และ การขนส่ง ได้อย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา

          ทั้งนี้ สำหรับสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (Maptaphut LNG Receiving Terminal ) ที่ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด สร้างขึ้นเพื่อรองรับการนำเข้า LNG ของ ปตท. แห่งนี้ ตั้งอยู่บนเนื้อที่ประมาณ 755 ไร่ ที่ ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง มีความสามารถรับ LNG นำเข้าในระยะแรก 5 ล้านตันต่อปี และสามารถขยายเป็น 10 ล้านตันต่อปี ในอนาคต (เทียบเท่าก๊าซธรรมชาติ 1,400 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน) และ มีท่าเรือซึ่งมีศักยภาพในการรองรับเรือบรรทุกก๊าซขนาดบรรทุกตั้งแต่ 125,000 – 215,000 ลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ในอนาคต ปตท. มีแผนที่จะให้ Maptaphut LNG Receiving Terminal แห่งนี้ขยายเติบโตเป็นศูนย์กลางการค้า LNG ให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะส่งผลให้ไทยมีความมั่นคงทางด้านพลังงานมากยิ่งขึ้น