เนื้อหาวันที่ : 2011-06-13 14:08:07 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1868 views

ต้นทุนพุ่ง ค่าครองชีพเพิ่มฉุดดัชนีฯ SMEs หด

สสว. เผยดัชนีเชื่อมั่น SMEs เม.ย. ลดลงเหตุต้นทุนพุ่งจากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าครองชีพเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7

โดย สสว.

          สสว. เผยดัชนีเชื่อมั่น SMEs เม.ย. ลดลงเหตุต้นทุนพุ่งจากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าครองชีพเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7

          สสว. รายงานดัชนี TSSI SMEs เดือนเมษายน ลดลงทั้งปัจจุบันและคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 45.6 และ 48.8 ตามลำดับ โดยมีธุรกิจค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค สถานีบริการน้ำมัน บริการการขนส่งสินค้าและขนส่งมวลชน เป็นกลุ่มที่ค่าดัชนีลดลงมากที่สุด ปัจจัยสำคัญมาจากต้นทุนการประกอบการเพิ่มเนื่องจากราคาน้ำมันเพิ่ม ถึง 2 บาท/ลิตร และค่าครองชีพเพิ่มต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 

          นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index : TSSI) ประจำเดือนเมษายน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2554 พบว่า ดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการลดลงอยู่ที่ 45.6 จากระดับ 48.0 (ลดลง 2.4)

โดยภาคค้าปลีกและภาคบริการ ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 42.6 และ 48.5 จากระดับ 46.5 และ 50.3 (ลดลง 3.9 และ 1.8) ตามลำดับ ขณะที่ภาคค้าส่ง ค่าดัชนีทรงตัวอยู่ที่ระดับ 46.7 ส่วนความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศ ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 35.1 จากระดับ 36.8 (ลดลง 1.7) ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจตนเอง ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 48.0 จากระดับ 46.0 (เพิ่มขึ้น 2.0)

 “สาเหตุสำคัญที่ค่าดัชนีในเดือน เม.ย. ลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวัลด้านต้นทุนเป็นหลัก ซึ่งเป็นผลจากระดับราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน 91 ในช่วงสิ้นเดือน เม.ย. อยู่ที่ 44.34 บาท/ลิตร เพิ่มขึ้น 2 บาท/ลิตร ทำให้มีการชะลอการใช้น้ำมัน เห็นได้จากปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซินและดีเซลในเดือน เม.ย. เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค. ลดลงร้อยละ 1.6 และ 3.1 ตามลำดับ

ขณะที่ต้นทุนค่าครองชีพก็มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เห็นได้จากดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 นับตั้งแต่เดือน ก.ย.2553 ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของผู้บริโภค และกระทบต่อยอดจำหน่ายของกิจการที่ลดลง” ผอ.สสว. กล่าว

เมื่อพิจารณาในรายประเภทกิจการ พบว่า ภาคค้าปลีก กิจการสถานีบริการน้ำมัน ค่าดัชนีลดลงมากที่อยู่ที่ 43.2 จากระดับ 50.9 (ลดลง 7.7) ผลจากการราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นกระทบต่อต้นทุนการประกอบการ ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการใช้น้ำมันและหันไปใช้พลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ ภาคบริการ กิจการบริการด้านขนส่ง ทั้งการขนส่งมวลชนและการขนส่งสินค้า ค่าดัชนีลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 40.2 และ 40.7 จากระดับ 50.0 และ 47.6 (ลดลง 9.8 และ 6.9) ตามลำดับ ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลจะมีการตรึงราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 29.9 บาท/ลิตร ก็ตาม

แต่ราคาดังกล่าวผู้ประกอบการมีส่วนต่างจากการบริการไม่มากนัก ส่วนภาคค้าส่ง กิจการค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ค่าดัชนีลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 45.7 จากระดับ 48.0 (ลดลง 2.3) ซึ่งนอกจากความกังวลด้านต้นทุนการประกอบการแล้ว ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องได้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นด้านการใช้จ่ายของผู้บริโภคในระดับสูง  

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า รวมภาคการค้าและบริการ พบว่า ค่าดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ 48.8 จากระดับ 51.4 (ลดลง 2.6) โดยภาคค้าส่ง ภาคค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 50.5  47.4 และ 49.9 จากระดับ 50.8 51.0 และ 52.1 (ลดลง 0.8  3.6 และ 2.2) ตามลำดับ สำหรับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศ ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 42.8 จากระดับ 45.4 (ลดลง 2.6) ส่วนความเชื่อมั่นต่อธุรกิจตนเอง ค่าดัชนีทรงตัวอยู่ที่ 50.4

ในส่วนผลการสำรวจดัชนีรายภูมิภาคในเดือน เม.ย. เมื่อเปรียบเทียบกับเดือน มี.ค. 2554 พบว่า ส่วนใหญ่มีค่าดัชนีลดลง โดยภูมิภาคที่มีค่าดัชนีลดลงมากที่สุด ได้แก่ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 44.8 จากระดับ 50.3 (ลดลง 5.5) รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 44.8 จากระดับ 48.0 (ลดลง 3.2) ภาคเหนือ ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 42.6 จากระดับ 45.5 (ลดลง 2.9)

กรุงเทพฯ และปริมณฑล ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 46.4 จากระดับ 47.8 (ลดลง 1.4) มีเพียงภาคใต้ภูมิภาคเดียวที่ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 49.1 จากระดับ 48.9 (เพิ่มขึ้น 0.2) และเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งค่าดัชนีปัจจุบันและคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ผลจากการเพิ่มขึ้นของภาคการค้าส่งที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากธุรกิจภาคการท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้เติบโตเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญทั้ง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ฯลฯ ยังคงมีระดับราคาที่ดีต่อเนื่อง

ดัชนีความเชื่อมั่น TSSI (SMEs)
ประจำเดือนเมษายน เปรียบเทียบเดือนมีนาคม 2554

 

หมายเหตุ :  M = เดือนปัจจุบัน   F3= คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า

ที่มา : กระทรวงอุตสาหกรรม