เนื้อหาวันที่ : 2011-06-09 10:00:53 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2615 views

ไมเกรน

งานที่ยุ่งเหยิง การอดหลับ อดนอน ความเครียดรุมเร้า นำมาซึ่งโรคยอดนิยมของชาวออฟฟิศ ไมเกรน

โดย  ภญ. อรทัย ศิริพรรณพร

          และแล้วเดือนสุดท้ายของปี “ธันวาคม” ก็มาถึงอย่างรวดเร็ว ซึ่งนอกจากจะพาลมหนาวมาด้วยแล้ว หลายคนยังเปรยว่า “งานเข้า” กันเป็นแถว เพราะต้องปิดงบสิ้นปี ยุ่งเหยิง อดหลับ อดนอน เครียดไปตามๆ กัน และนำมาซึ่งโรคยอดนิยมของชาวออฟฟิศ “ไมเกรน”

          ไมเกรน เป็นอาการปวดศีรษะชนิดหนึ่ง หลายคนที่มีอาการไมเกรนมาเยี่ยมเยือนบ่อยๆ คงไม่สนุกแน่เมื่อได้ยินคำนี้ ผู้ที่เป็นจะมีอาการปวดตุ๊บๆ บริเวณขมับ อาจปวดข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้างก็ได้ บางคนก็อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ในระหว่างที่ไมเกรนกำเริบร่างกายจะไวต่อสิ่งกระตุ้นภายนอกมากขึ้น เช่น แสงสว่าง เสียงดัง สิ่งเหล่านี้จะทำให้อาการปวดของคุณแย่ลง

เกิดได้อย่างไร
          พบว่า ไมเกรนมักเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อาการจะกำเริบเมื่อมีบางสิ่งบางอย่างมากระตุ้น เช่น ความเครียด นอนไม่เพียงพอ กินอาหารไม่ตรงเวลา อากาศที่ร้อนหรือเย็นมากเกินไป ช่วงที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงก็เป็นปัจจัยกระตุ้นได้เช่นกัน ผู้หญิงบางคนจึงมักเกิดไมเกรนในช่วงที่มีประจำเดือน

รักษาได้ไหม
          หากเกิดอาการขึ้นแล้ว ก็คงต้องอาศัยยาที่ช่วยบรรเทาอาการปวดไมเกรน ซึ่งมีอยู่หลายประเภท ในเบื้องต้นคุณอาจเริ่มจาก 
          • ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล แอสไพริน ที่คุณๆ รู้จักกันดีอยู่แล้ว รับประทานซ้ำได้ทุก 4 ชม. ยากลุ่มนี้ค่อนข้างปลอดภัยและหาซื้อเองได้ แต่อย่าลืมว่าห้ามใช้แอสไพรินในเด็กนะคะ

          • ยาอีกประเภท คือ ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nsaids) เช่น Ibuprofen, Diclofenac, Naproxen ยากลุ่มนี้ได้ผลค่อนข้างดีเช่นกัน แต่เนื่องจากยาจะระคายเคืองกระเพาะอาหาร ดังนั้นจึงต้องให้รับประทานพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามใช้ในคนที่มีประวัติเป็นโรคหอบหืด โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและโรคไต

          ยาทั้ง 2 กลุ่มข้างต้น จะทำงานได้ดี ต้องเริ่มรับประทานให้เร็วที่สุดหลังเริ่มมีอาการ ถ้าเริ่มได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งลดอาการปวดได้หรือทำให้หายปวดได้เลย แต่คนส่วนใหญ่มักจะไม่ยอมรับประทานยาถ้ายังไม่ปวดมาก ซึ่งนั่นก็รอเวลาจนสายเกินไป สายเกินกว่าเวลาที่ยาจะออกฤทธิ์ได้ดี หากยาข้างต้นไม่ได้ผลก็ยังมียากลุ่มอื่นที่ใช้รักษาไมเกรนได้ แต่ยาเหล่านี้ควรใช้เมื่อคุณได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แน่นอนแล้ว ว่าอาการปวดศีรษะที่เป็นอยู่คือ อาการของไมเกรน และต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา   

          • กลุ่ม Ergots รู้จักกันดีในชื่อ  Ergotamine มีทั้งชนิดเดี่ยวๆ และชนิดที่ผสม Caffeine ยากลุ่มนี้ ต้องเริ่มรับประทานเมื่อเริ่มมีอาการปวด หากยังไม่หายปวดภายใน 30 นาที ให้รับประทานซ้ำอีก 1 เม็ด แต่มีข้อควรระวังคือ ต้องรับประทานไม่เกินวันละ 6 เม็ด และไม่ควรเกินสัปดาห์ละ 10 เม็ด เพราะอาจเกิดพิษต่อร่างกายได้ นอกจากนี้ยังห้ามใช้ในคนที่เป็นโรคหัวใจและโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด อาการข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น ท้องเสีย มึนงง ใจสั่น

          • กลุ่ม Triptans ยากลุ่มนี้เรียกรวมๆ ว่ากลุ่ม  Triptans เพราะยาทุกตัวในกลุ่มจะลงท้ายด้วย triptan ทั้งสิ้น

          เช่น Sumatriptan, Zolmatriptan เป็นต้น จะใช้ก็ต่อเมื่อยากลุ่มด้านบนใช้ไม่ได้ผล ให้เริ่มรับประทานยาเม็ดแรกเมื่อเริ่มมีอาการปวด ยาจะออกฤทธิ์ 1-2 ชม.หลังทานยา เป็นยาที่มีประสิทธิภาพดีแต่ราคาค่อนข้างแพง สำหรับอาการข้างเคียงที่พบได้ เช่น เวียนศีรษะ ร้อนวูบวาบ อ่อนเพลีย แน่นหน้าอก เป็นต้น ยากลุ่มนี้มีข้อห้ามในหญิงตั้งครรภ์ เด็ก และคนที่มีโรคประจำตัวเช่น โรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับหลอดเหลือดส่วนปลาย
อย่าลืมว่า แต่ละคนตอบสนองต่อยาต่างกัน ยาที่ได้ผลกับคนหนึ่ง อาจไม่ได้ผลกับอีกคนก็ได้ ดังนั้นบางครั้งคุณก็อาจต้องลอง เพื่อหายาที่เหมาะสมกับตัวคุณเอง

ป้องกันได้ไหม
          มียาหลายชนิดที่นำมาใช้สำหรับป้องกันไมเกรนกำเริบ แต่ไม่ใช่ว่ากินแล้วอาการจะไม่กำเริบอีก เพียงแต่ ยาจะทำให้จำนวนครั้งของการปวดและความรุนแรงของการปวดลดลง ยาป้องกันจะใช้สำหรับคนที่อาการกำเริบบ่อยมากกว่า 2 ครั้งต่อเดือน หรือคนที่เป็นไม่บ่อยแต่เวลาที่ปวดแต่ละครั้งอาการรุนแรง ใช้ยาแล้วไม่ได้ผลหรือต้องใช้ยาหลายตัวร่วมกันจึงจะระงับอาการได้ ตัวอย่างยาที่มีใช้ เช่น Propanolol, Flunarizine, Amitriptyline เป็นต้น ที่สำคัญคือ ต้องกินยาทุกวัน แม้ว่าวันนั้นจะไม่ปวดก็ตาม และต้องกินอย่างต่อเนื่อง 6-12 เดือน ตามคำสั่งแพทย์

          หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ยังหาวิธีแก้ปัญหาอาการปวดไมเกรนไม่ได้ ลองเริ่มจากการเขียนไดอารี่บันทึกอาการปวดแต่ละครั้ง เช่น ทุกครั้งเมื่อปวด ต้องจดวันที่และเวลาที่เริ่มมีอาการปวด, อาหารที่คุณรับประทานตลอด 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา, เมื่อคืนคุณนอนหลับกี่ชั่วโมง, ตอนที่เริ่มมีอาการคุณกำลังทำอะไรอยู่ หรือกำลังคิดเรื่องอะไรอยู่, ระยะเวลาที่ปวด คุณปวดอยู่นานเท่าไหร่ กี่นาที กี่ชั่วโมง, คุณทำอะไรบ้างเพื่อให้อาการปวดนั้นหายไป

เชื่อเถอะค่ะ ลองจดดูซักระยะ บันทึกจะทำให้คุณรู้แบบแผนอาการปวดไมเกรนของคุณเองว่า อะไรบ้างที่เป็นปัจจัยกระตุ้นอาการปวดของคุณ และเมื่อรู้แล้วก็ต้องพยายามปรับตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านั้น หากมีบ้างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วเกิดอาการขึ้น หนทางแก้คงเป็นการรับประทานยาแล้วหาที่พักผ่อน อาจเป็นห้องมืดๆ เงียบๆ หลับตาลงสักครู่ ...เดี๋ยวมันก็ผ่านไปค่ะ

ฝากไว้สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปฉลองปีใหม่ที่ใดๆ ก็ตาม ขอให้เดินทางโดยปลอดภัย รวมทั้งอย่าลืมจัดชุดยาที่จำเป็นต้องใช้ติดกระเป๋าไปด้วย  แต่ถ้าไม่ทราบว่า ควรจัดยาประเภทใดไปบ้าง แวะเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.yaandyou.net สืบค้นไว อุ่นใจเมื่อใช้ยา

ค้นหาข้อมูลเรื่องยาและสุขภาพได้ที่ www.YaAndYou.net 
          “ยากับคุณ” (www.YaAndYou.net) เป็นเว็บไซต์สำหรับสืบค้นและบริการข้อมูลความรู้ด้านยาและสุขภาพ เพื่อส่งเสริมการใช้ยาและการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้องเหมาะสม ร่วมกันพัฒนาขึ้นโดยมูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ยากับคุณเป็นเว็บไซต์ที่มีฐานข้อมูลด้านยาที่ใหญ่ที่สุดของไทย เปิดให้บริการฟรี 24 ชั่วโมง สืบค้นไว อุ่นใจเมื่อใช้ยา

ขอบคุณบทความดี ๆ จาก Add Free Magazine