เนื้อหาวันที่ : 2011-06-08 15:44:40 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1452 views

ก้าวสู่จุดเปลี่ยน IPv6 ประเทศไทย

ก.ไอซีที นำหน่วยงานรัฐ-เอกชนไทยร่วมทดสอบ IPv6 พร้อมทั่วโลก เดินหน้านำประเทศเริ่มการเปลี่ยนผ่านสู่ IPv6

          ก.ไอซีที นำหน่วยงานรัฐ-เอกชนไทยร่วมทดสอบ IPv6 พร้อมทั่วโลก เดินหน้านำประเทศเริ่มการเปลี่ยนผ่านสู่ IPv6

          นายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนา “ก้าวสู่จุดเปลี่ยน IPv6 ประเทศไทย” ว่า หลังจากกระทรวงไอซีที ได้ประกาศนำประเทศไทยสู่ IPv6 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2554 โดยมีสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานนำร่อง และมีรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงฯ ได้แก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ร่วมดำเนินการในเรื่องนี้แล้ว กระทรวงฯ ได้เดินหน้านำประเทศไทยเริ่มการเปลี่ยนผ่านไปสู่ IPv6

โดยการร่วมกิจกรรมในวันสำคัญของโลกอินเทอร์เน็ต คือ World IPv6 Day ซึ่งทั่วโลกได้พร้อมใจกันทดสอบการใช้งาน IPv4 และ IPv6 ร่วมกัน ทั้งหน่วยงานจากภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา รวมถึงเว็บไซต์ต่างๆ อาทิ Google, Facebook. Yahoo และผู้ให้บริการอื่นๆ จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้เข้าร่วมการทดสอบใช้งานจริงอย่างเต็มรูปแบบในวันนี้ (8 มิ.ย.54) เพื่อทำการทดสอบและตรวจสอบว่าการใช้งานร่วมกันระหว่าง IPv4 และ IPv6 จะมีผลกระทบหรือมีปัญหาใดบ้าง เมื่อต้องรองรับข้อมูลอินเทอร์เน็ตพร้อมกันทั้งโลก เพื่อจะได้สามารถเตรียมการในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่เทคโนโลยี IPv6 ต่อไปในอนาคต

          “การวางแผนเพื่อเตรียมตัวและดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อการใช้งาน IPv6 ภายในปี 2554 และปี 2555 เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการ เพื่อให้ธุรกิจและบริการสามารถดำเนินต่อไปในอนาคตได้ ซึ่งถือเป็นการ upgrade อินเทอร์เน็ตครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 30 ปี

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเพื่อให้ได้ผลที่ดีนั้น จำเป็นต้องมีการเตรียมการ มีการวางแผนในเรื่องการลงทุนและระยะเวลาที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดการเร่งดำเนินการหรือต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน ซึ่งจะทำให้มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น การวางแผนเพื่อการย้ายและการใช้งาน IPv6 เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญต่อการขยายตัวอย่างมั่นคงของอินเทอร์เน็ต รวมถึงต่อวงการ ICT ซึ่งไม่ใช่เฉพาะกับผู้ใช้งานในสำนักงานหรือระดับองค์กรเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้ใช้งานส่วนบุคคลอีกด้วย” นายธานีรัตน์ กล่าว

          นอกจากการร่วมทดสอบการใช้งาน IPv4 และ IPv6 แล้ว กระทรวงฯ ยังได้ร่วมกับสมาคมไอพีวี 6 ประเทศไทย (IPv6 Forum Thailand) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดการประชุมสัมมนาเรื่อง “ก้าวสู่จุดเปลี่ยน IPv6 ประเทศไทย” ขึ้น เพื่อสร้างความตระหนัก ความรู้ และความเข้าใจในการเตรียมแผนความพร้อมให้แก่ผู้ใช้งานและผู้ประกอบการในประเทศ

ซึ่งงานนี้จะมีการบรรยายและเสวนาเพื่อนำเสนอแผนรับมือและการเตรียมศักยภาพและความพร้อมด้าน IPv6 ของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนของประเทศไทย ตลอดจนมีการนำเสนอนิทรรศการแสดงการเชื่อมต่อเครือข่ายและการใช้งานกับเครือข่าย IPv6 ที่ร่วมทดสอบใน World IPv6 Day ด้วย

          “การสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงของแผนรับมือการเปลี่ยนสู่ IPv6 ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเพื่อร่วมทดสอบและตรวจสอบการใช้งานจริงอย่างเต็มรูปแบบร่วมกันระหว่าง IPv4 และ IPv6 ของประเทศไทย และศึกษาถึงผลกระทบหรือปัญหาที่จะเกิดขึ้นเมื่อต้องรองรับข้อมูลอินเทอร์เน็ตพร้อมกันทั้งโลก

นอกจากนี้ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนต่อการดำเนินนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ ในการขยายโอกาสการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึง ตามเป้าหมายการขยายจำนวนผู้ใช้งานอีกกว่า 40 ล้านคน จากเป้าหมายร้อยละ 85 ของประชากรภายใน 3 ถึง 4 ปีข้างหน้า ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยหมายเลขอินเทอร์เน็ตและการเชื่อมต่อด้วย IPv6 โดยกระทรวงฯ ได้เชิญผู้บริหารระดับสูงและผู้อำนวยการด้านไอทีของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และผู้ประกอบการในภาคธุรกิจด้านไอที นักวิชาการ และสื่อมวลชน จำนวน 250 คน เข้าร่วมการสัมมนาฯ

          การหมดลงของหมายเลข IPv4 ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับภูมิภาคเอเชียเป็นภูมิภาคแรกของโลกในเร็วๆ นี้ จะสร้างปัญหาพอสมควร ต่อการขยายตัวของอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใหม่ จึงทำให้การใช้งาน IPv6 เป็นเรื่องเร่งด่วนขึ้น ซึ่งแม้จะมีการเริ่มใช้งานอินเทอร์เน็ตยุคใหม่ (NGI : Next Generation Internet ) หรือก็คือ IPv6 มากว่า 10 ปีแล้ว แต่ก็ได้รับความสนใจ ในวงจำกัด

โดยก่อนหน้านี้ได้มีความพยายามพัฒนาเทคนิคต่างๆ ในการขยายการใช้งานและยืดอายุ IPv4 แต่ถึงวันนี้โลกกำลังถึงจุดที่หมายเลข IPv4 กำลังจะหมดลงอย่างแท้จริง ดังนั้น จึงไม่มีวิธีการแก้ไขปัญหาอื่นใดที่เหมาะสม นอกจากการเปลี่ยนถ่ายสู่การใช้งาน IPv6 อย่างเดียวเท่านั้น“ นายธานีรัตน์ กล่าว

ที่มา : กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร