เนื้อหาวันที่ : 2011-06-06 09:26:18 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1048 views

ภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 30 พ.ค. - 3 มิ.ย. 2554

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ค. 54 อยู่ที่ร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือน เม.ย. 54 ที่อยู่ที่ร้อยละ 4.0  โดยมีปัจจัยหลักมาจากราคาสินค้าในหมวดเนื้อสัตว์และอาหารสำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งค่ากระแสไฟฟ้าที่สูงขึ้น เนื่องจากการไฟฟ้านครหลวงมีการปรับค่า Ft สูงขึ้น 8.93 สตางค์ต่อหน่วย ตั้งแต่พ.ค.-ส.ค. 54

ในขณะที่ดัชนีราคาผักและผลไม้ ไข่ไก่ ข้าวสารเหนียวและ น้ำมันเชื้อเพลิงมีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้การปรับตัวลดลงของดัชนีราคาผักและผลไม้เป็นผลมาจากสภาพอากาศที่เหมาะสมมากขึ้น ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.5 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 2.1 เนื่องจากราคาสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ค่าของใช้ส่วนบุคคลและสิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด
 
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน พ.ค. 54 ขยายตัวร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.5 โดยหมวดสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ดัชนีในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ขยายตัวร้อยละ 6.3 ซึ่งมาจากเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต เหล็กแผ่นเรียบดำ ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี สำหรับดัชนีในหมวดซีเมนต์ขยายตัวร้อยละ 15.6 ซึ่งสินค้าสำคัญ ได้แก่ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ผสม และดัชนีวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ขยายตัวร้อยละ 6.0 สินค้าสำคัญ ได้แก่ ยางมะตอย อิฐมอญ และ อลูมิเนียมเส้น เนื่องจากต้นทุนราคาวัตถุดิบในการผลิตปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และการก่อสร้างที่อยู่อาศัยขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น

ดัชนีราคาผู้ผลิตรวม (PPI) ในเดือนพ.ค. 54 ขยายตัวร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 6.6 โดยเป็นการปรับลดลงจากดัชนีราคาหมวดผลผลิตเกษตรกรรมเป็นสำคัญที่หดตัวร้อยละ -2.2 โดยมีสาเหตุมาจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับลดลงโดยเฉพาะข้าวเปลือกที่มีสต๊อกเพิ่มขึ้น ประกอบการซื้อขายมีไม่มาก ส่วนดัชนีราคาในหมวดของอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่อยู่ร้อยละ 7.7 เป็นผลมาจากวัตถุดิบในการผลิตปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เมื่อพิจารณาตัวดัชนีเฉลี่ยตั้งแต่เดือน ม.ค.54 – พ.ค. 54 พบว่าดัชนีราคาปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน เม.ย. 54 ขาดดุลเล็กน้อยที่ -165.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ลดลงจากเดือนก่อนที่เกินดุล 1,881 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  โดยดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลเป็นผลหลักจากการขาดดุลการค้า -477.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามการส่งออกที่ชะลอลงจากเทศกาลสงกรานต์ที่มีวันหยุดยาว ในขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอน เกินดุล 311.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากรายได้จากการท่องเที่ยวตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ยังขยายตัวได้ดี

ในวันที่ 1 มิ.ย. 2554 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 3.00 จากแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เร่งขึ้นมาก จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังคงมีอยู่ในระดับสูง ซึ่งได้ส่งผ่านไปยังราคาสินค้าทั่วไป และอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสูงกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ร้อยละ 0.50-3.00)

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง