เนื้อหาวันที่ : 2011-06-03 09:37:52 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1833 views

เงินฟ้อ-ดอกเบี้ยถีบตัวสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปีคาดยังขึ้นได้อีก

อัตราเงินเฟ้อพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 32 เดือนจากราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดเงินเฟ้อสูง และการดูแลเสถียรภาพราคามีอิทธิพลต่อวัฏจักรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ย

          อัตราเงินเฟ้อพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 32 เดือนจากราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดเงินเฟ้อสูง และการดูแลเสถียรภาพราคามีอิทธิพลต่อวัฏจักรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ย

          ระดับราคาสินค้าผู้บริโภคยังคงปรับตัวขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2554 และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของไทย ทั้งในส่วนของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน พุ่งสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 32 เดือน โดยแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าว ยังคงมีน้ำหนักต่อการพิจารณากำหนดจุดยืนเชิงนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

โดยล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงินของธปท. (กนง.) ได้มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน หรืออัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอีกร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.75 มาที่ร้อยละ 3.00 ในการประชุมรอบที่ 4 ของปีนี้ พร้อมกับระบุว่า อัตราดอกเบี้ยของไทยยังเป็นขาขึ้น เพื่อดูแลความเสี่ยงเงินเฟ้อ

          ทั้งนี้ ภาพแรงกดดันเงินเฟ้อที่รออยู่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า “โจทย์เงินเฟ้อสูง และการดูแลเสถียรภาพราคา” จะยังคงเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อวัฏจักรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของไทยในช่วงการประชุมกนง.รอบถัดๆ ไป

          อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2554 สูงสุดในรอบ 32 เดือน
          ราคาสินค้าผู้บริโภคเมื่อย่างเข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 2/2554 มีทิศทางขยับขึ้นเป็นวงกว้าง เนื่องจากเป็นช่วงหลังจากที่การขอความร่วมมือผู้ประกอบการในการตรึงราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์สิ้นสุดลง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในหลายธุรกิจ ต่างก็เริ่มทยอยทำเรื่องขออนุญาตปรับขึ้นราคาสินค้าตามต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นในหลายด้านนับจากต้นปีที่ผ่านมา

          อัตราเงินเฟ้อยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในเดือนพฤษภาคม 2554 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.34 จากเดือนก่อนหน้า (MoM) และร้อยละ 4.19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ซึ่งสูงขึ้นจากร้อยละ 4.04 (YoY) ในเดือนเมษายน ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่นับรวมหมวดอาหารสดและพลังงาน พุ่งขึ้นอีกร้อยละ 0.46 (MoM) และร้อยละ 2.48 (YoY) ในเดือนพฤษภาคม จากร้อยละ 2.07 (YoY) ในเดือนก่อนหน้า จากภาพดังกล่าวทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานล่าสุด อยู่ในระดับที่สูงที่สุดในรอบ 32 เดือนที่ผ่านมา

          ทั้งนี้ ข้อสังเกตสำคัญเกี่ยวกับทิศทางราคาสินค้าในเดือนพฤษภาคม ก็คือ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยับขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามากกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป โดยแม้ว่าสินค้าเกษตรหลายตัว โดยเฉพาะผัก และผลไม้ จะเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูกาลผลิต และราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศจะปรับตัวลงจากเดือนก่อนหน้าตามราคาน้ำมันตลาดโลกที่มีค่าเฉลี่ยลดลงประมาณร้อยละ 7.0-8.0 (MoM)

แต่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในหมวดอื่นๆ ยังคงปรับตัวสูงขึ้นในระหว่างเดือน โดยเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ และอาหารสำเร็จรูป (สัดส่วนประมาณร้อยละ 5.73 และร้อยละ 14.45 ในตะกร้าเงินเฟ้อ) เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2.90 และร้อยละ 1.78 จากเดือนก่อนหน้า ตามลำดับ ขณะที่ การปรับขึ้นค่า FT สำหรับเดือนพฤษภาคม-สิงหาคมอีก 8.93 สตางค์ต่อหน่วย ก็ส่งผลทำให้ค่ากระแสไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 2.60 จากเดือนก่อนหน้าด้วยเช่นกัน

          แนวโน้มเงินเฟ้อ : เงินเฟ้อทั่วไปอาจมีค่าเฉลี่ยเหนือร้อยละ 4 ในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ขณะที่ เงินเฟ้อพื้นฐานมีโอกาสแตะกรอบบนของเป้าหมายธปท.ในช่วงไตรมาส 3

          แนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า ท่ามกลางสถานการณ์ที่ผู้ผลิตยังคงเผชิญกับแรงกดดันด้านต้นทุน ทั้งราคาวัตถุดิบ ต้นทุนพลังงาน-ไฟฟ้า ค่าจ้างแรงงาน ต้นทุนอัตราดอกเบี้ย และต้นทุนค่าขนส่ง ทำให้คาดว่า กลไกการส่งผ่านภาวะต้นทุนแพงดังกล่าวไปที่ราคาสินค้าผู้บริโภค น่าที่จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนข้างหน้า

          ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะขยับขึ้นไปยืนเหนือระดับร้อยละ 4.0 (YoY) ในช่วงไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 ซึ่งสูงกว่าช่วงไตรมาสแรกที่ยังมีมาตรการขอความร่วมมือตรึงราคาสินค้า ที่ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.0 (YoY) ขณะที่ การพุ่งขึ้นค่อนข้างมากของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วงต้นไตรมาสที่ 2/2554 น่าที่จะทำให้โอกาสที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะขยับขึ้นกรอบบนของเป้าหมายเงินเฟ้อ (ที่ร้อยละ 0.5-3.0) ของธนาคารแห่งประเทศไทยเกิดเร็วขึ้น ทั้งนี้ คาดว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจมีค่าเฉลี่ยเข้าใกล้ร้อยละ 3.0 (YoY) ในช่วงไตรมาสที่ 3/2554 โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในบางเดือนในช่วงดังกล่าว อาจมีระดับเกินร้อยละ 3.0

          จุดสูงสุดของแนวโน้มขาขึ้นของเงินเฟ้อในปี 2554 นี้ อยู่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรสิ้นสุดลงในช่วงเดือนกันยายน 2554 และมีการขยับขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานในรอบระหว่างปีอีกครั้ง ก็อาจทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อมีภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานน่าที่จะยืนเหนือระดับร้อยละ 3.0 (YoY) ซึ่งเป็นกรอบบนของเป้าหมายเงินเฟ้อของธปท. ตลอดในช่วงไตรมาสที่ 4/2554 ขณะที่ จุดสูงสุดของแนวโน้มขาขึ้นของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทย จะอยู่ในช่วงปลายปีที่ระดับอัตราเงินเฟ้อมีโอกาสเคลื่อนเข้าใกล้ร้อยละ 5.0 (YoY)

          บทสรุป : แรงกดดันเงินเฟ้อยังน่าจะมีน้ำหนักต่อจุดยืนนโยบายการเงินของธปท.ต่อไป
          ภาพของความเสี่ยงเงินเฟ้อที่น่าจะมีแรงกดดันมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 4/2554 ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีโอกาสเคลื่อนเข้าใกล้ร้อยละ 5.0 (YoY) พร้อมๆ กับการยืนเหนือระดับร้อยละ 3.0 (YoY) ของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งเป็นกรอบบนของเป้าหมายเงินเฟ้อ (ร้อยละ 0.5-3.0) ของธปท.ตลอดทั้งไตรมาสตามประมาณการของศูนย์วิจัยกสิกรไทย น่าที่จะทำให้ “โจทย์เงินเฟ้อสูง และการดูแลเสถียรภาพราคา” เป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดจุดยืนของนโยบายการเงินของธปท.เป็นเชิงคุมเข้มตลอดการประชุมนโยบายการเงิน 4 รอบที่เหลือของปี 2554

          ทั้งนี้ สัญญาณจากถ้อยแถลงของกนง.ที่สะท้อนว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังอยู่ในช่วงขาขึ้นเพื่อดูแลความเสี่ยงเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า ทำให้เครือธนาคากสิกรไทยยังคงคาดการณ์ว่า กนง.น่าที่จะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในรอบการประชุมเดือนกรกฎาคม 2554 อีกร้อยละ 0.25 สู่ระดับร้อยละ 3.25 โดยวัฏจักรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย อาจดำเนินต่อไปอีกในช่วงการประชุมรอบถัดๆ ไปของปี หากโมเมนตัมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การฟื้นกลับคืนมาของการผลิตในอุตสาหกรรมสำคัญของไทย (หลังการหยุดชะงักในช่วงไตรมาส 2/2554 จากเหตุภัยพิบัติญี่ปุ่น) เกิดขึ้นพร้อมๆ กับแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังไม่ผ่านพ้นระดับที่สูงที่สุดของแนวโน้มขาขึ้นรอบนี้