เนื้อหาวันที่ : 2011-06-02 13:25:10 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1840 views

ผวา! 20 ปีราคาอาหารเพิ่ม 2 เท่าเอเชีย-แปซิฟิคกระทบหนัก

อ็อกแฟม ชี้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โลกร้อนและระบบการผลิตอาหารที่ไม่ยั่งยืนอาจทำให้ราคาอาหารเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าใน 20 ปี เอเชียและแปซิฟิคโดนกระทบมากที่สุด

          อ็อกแฟมเผยปัญหาสิ่งแวดล้อม โลกร้อนและระบบการผลิตอาหารที่ไม่ยั่งยืนอาจทำให้ราคาอาหารเพิ่มเป็น 2 เท่าใน 20 ปี เอเชียและแปซิฟิคโดนกระทบมากที่สุด

          องค์กรด้านมนุษยธรรมอ็อกแฟมวันนี้เปิดตัวแคมเปญใหม่ชื่อว่า โกรว์ (GROW) เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการปลูก ผลิต และกระจายอาหาร ไม่เช่นนั้นคนอีกหลายล้านจะเผชิญความอดอยากจากราคาอาหารที่อาจเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในอีก 20 ปีโดยเฉพาะในเอเชียและแปซิฟิคซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีคนอดอยากหิวโหยมากที่สุด เพราะระบบอาหารที่ไม่ยั่งยืน วิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

          “ในจำนวนคนอดอยากทั้งหมด 925 ล้านคนบนโลกนี้ 62 เปอร์เซ็นต์อยู่ในทวีปเอเชียและแปซิฟิค ถ้าภาครัฐไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตภาคเกษตรในเร็ววันเพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาราคาอาหารที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ  แม้ประเทศไทยที่เป็นประเทศผู้ส่งออกอาหาร จะลำบากมากกว่านี้อีกหลายเท่า ดังที่เห็นได้จากวิกฤติราคาอาหารแพงเมื่อ 2 - 3 เดือนก่อนที่ราคาอาหารเพียงไม่กี่ชนิดมีราคาเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความปั่นป่วนขนาดหนัก” เยาวลักษณ์ เธียรเชาว์ ผู้อำนวยการอ็อกแฟมประเทศไทย กล่าว

          ปัญหาเหล่านี้กำลังทำให้งานต่อสู้กับความอดอยากที่ผ่านมากว่าสิบปีกลับอยู่ในสภาพถอยหลังอย่างชัดเจน เห็นได้จากราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นและวิกฤติด้านอาหารขาดแคลนในภูมิภาค อ็อกแฟมกล่าวในรายงานฉบับใหม่ชื่อว่า Growing a Better Future หรือ “สร้างอนาคตที่ดีกว่า”

          เยาวลักษณ์กล่าวว่า “จากการทำงานร่วมกับองค์กรท้องถิ่นมาหลายปี ได้เห็นว่าปริมาณผลผลิตการเกษตรมีความผันผวนมากขึ้นเพราะสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทรัพยากรน้ำที่หายากขึ้น ปัญหาการขาดการกระจายการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตร และคุณภาพดินที่เลวลง ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรจากการการขายผลผลิตลดลงอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ระเกษตรพันธสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และต้นทุนการผลิตที่สูงเนื่องมาจากการอาศัยสารเคมี ยาฆ่าแมลงในการผลิต ที่ต้องเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละรอบการผลิต ทำให้รายได้ลดลงแต่ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงมากขึ้น ทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสิน เกิดภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวแต่คุณภาพชีวิตก็ไม่ได้ดีขึ้นเพราะระบบโครงสร้างภาคเกษตรในปัจจุบันไม่ได้เอื้อต่อเกษตรรายย่อย”

          นอกจากปริมาณผลผลิตที่น้อยลงแล้ว คุณภาพของอาหารที่ได้ก็ลดลงด้วย คนที่จนอยู่แล้วก็ไม่มีเงินซื้ออาหารที่เพียงพอ และมีคุณภาพมาเลี้ยงตนเองและครอบครัว ส่วนคนที่สามารถออกมาจากปัญหาหนี้สินและความยากจนได้คือกลุ่มที่ผันไปทำเกษตรแบบยั่งยืนและผสมผสานเพราะวิธีการนี้แม้จะเห็นผลช้า แต่ช่วยลดต้นทุนการผลิตและเมื่อเห็นผล เกษตรกรจะได้ผลผลิตที่มากกว่าการใช้เกษตรเคมี ทำให้มีเหลือขายทำรายได้เพิ่ม เยาวลักษณ์กล่าวเสริม
          รายงานฉบับนี้ซึ่งเปิดตัวพร้อมกับแคมเปญได้กล่าวถึงระบบอาหารที่ไม่สมบูรณ์โดยเห็นได้จากความอดอยากที่เพิ่มขึ้น ผลผลิตการเกษตรที่เท่าเดิมหรือลดลง การแก่งแย่งที่ดิน สงครามแย่งน้ำ และราคาอาหารที่พุ่งขึ้น โดยสิ่งเหล่านี้คือสัญญาณเตือนว่าเราได้เข้าสู่ยุคที่ทรัพยากรธรรมชาติของโลกอยู่ในภาวะวิกฤติ และผลกระทบจากภาวะโลกร้อนจะทำให้ปัญหาหนักกว่าเดิมและมีคนหิวโหยเพิ่มขึ้น ดังจะเห็นได้จากสถิติเหล่านี้

          ข้าวเป็นอาหารหลักที่สำคัญที่สุดในเอเชีย แต่มีการซื้อขายเพียง 7 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตทั้งหมดทั่วโลกเพราะส่วนใหญ่ใช้บริโภคในประเทศ เมื่อเกิดวิกฤติด้านอาหาร ราคาข้าวจึงพุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์หรือผันผวนดังที่เห็นในปี 2008 และปี 2010 ซึ่งเป็นปีที่เอเชียมีอากาศแปรปรวนและประสบภัยพิบัติธรรมชาติทั่วทั้งทวีป

          ข้าวสาลีเป็นอาหารหลักทางเลือกที่สำคัญรองจากข้าวและเป็นวัตถุดิบหลักของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารสำเร็จรูปหลายชนิดที่คนรายได้น้อยพึ่งพา เอเชียเป็นทวีปที่บริโภคข้าวสาลีมากถึงเกือบครึ่งของปริมาณการบริโภคทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ทั้งราคาข้าวและข้าวสาลียังคงสูงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับ 2-3 ปีก่อนหน้านั้น

          งานวิจัยชิ้นใหม่ทำนายว่าราคาพืชอาหารหลักเช่น ข้าวโพดจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าภายใน 20 ปีข้างหน้าจากราคาที่ตอนนี้สูงเป็นประวัติการณ์อยู่แล้ว โดยสาเหตุคือสภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง กลุ่มคนที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือคนยากจนเพราะ 80 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ของคนกลุ่มนี้หมดไปกับค่าอาหาร

          ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารได้คาดการณ์ไว้ว่าความต้องการอาหารจะเพิ่มขึ้นกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ในปี 2050 แต่ความสามารถในการผลิตทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยขณะนี้ได้ลดลงลงมาอย่างต่อเนื่อง อัตราการเพิ่มผลผลิตของภาคเกษตรทั่วโลกโดยเฉลี่ยได้ลดไปเกือบครึ่งของตัวเลขในปี 1990 และมีแนวโน้มว่าจะลดลงไปอีกในอีก 10 ปีข้างหน้า

          ผลการศึกษาของธนาคารโลกพบว่ามีคนจนกว่า 44 ล้านคนที่กลายเป็นคนยากจนข้นแค้นหลังจากราคาอาหารพุ่งสูงเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และเมื่อต้นเดือนนี้เอง ธนาคารพัฒนาเอเชียประเมินไว้ว่าถ้าปัญหานี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข จะมีคนอีก 64 ล้านคนที่ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน

          นอกจากนี้อ็อกแฟมยังได้วิเคราะห์ความผิดพลาดของนโยบายการบริหารงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรและสังคมและกลุ่มบรรษัทยักษ์ใหญ่ทรงอิทธิพลในวงการผลิตอาหารจำนวน 300 - 500 บริษัท ซึ่งได้รับผลประโยชน์จากนโยบายเหล่านี้และมีการลอบบี้ภาครัฐอย่างหนักเพื่อรักษาผลประโยชน์นี้ไว้ในรายงานงานฉบับนี้ด้วย

          แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นผู้ส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลก นโยบายด้านสังคมโดยฉพาะภาคเกษตรที่ผ่านมาไม่ได้เอื้อต่อเกษตรกรหรือยั่งยืนแต่อย่างใด ตรงกันข้าม ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนกลับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหลังจากวิกฤติการทางการเงินปี 2008 คนจำนวนมากยังคงตกงานและไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้เพราะหนี้ที่ต้องกู้เพิ่มเพื่อเอามาเป็นค่าใช้จ่ายเมื่อตอนถูกเลิกจ้าง

          ในรายงานของอ็อกแฟมกล่าวว่า มีเพียงบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก 4 แห่งเท่านั้นที่เป็นผู้ควบคุมการเคลื่อนย้ายของอาหารหลักที่ซื้อขายกันทั่วโลก ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของตลาดการค้าเมล็ดพืชของโลกอยู่ในมือของบริษัท อาร์เชอร์ ดาเนียลส์ มิดแลนด์ (Archer Daniels Midland) บังกี้ (Bunge) และคาร์กิลล์ (Cargill) โดยสองบริษัทหลังมีสาขาอยู่ในประเทศไทยและอีกหลายประเทศในเอเชียด้วย ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2008 ตอนที่วิกฤตการณ์ราคาอาหารอยู่ในช่วงสูงสุด คาร์กิลล์ได้กำไรเพิ่มถึง 86 เปอร์เซ็นต์จากราคาอาหารที่พุ่งพรวดโดยยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลงแต่อย่างใดเมื่อดูจากสถานการณ์ตลาดอาหารโลกในปัจจุบัน

          เจเรมี่ ฮอบส์ ผู้อำนวยการบริหารของอ็อกแฟมกล่าวว่า “ที่จริงแล้วโลกเราใบนี้สามารถเลี้ยงคนได้ทุกคนบนโลก แต่ในทุกๆ 7 คน จะมีคนหนึ่งคนที่หิวโหยอยู่เสมอ ในยุคข้าวยากหมากแพงแบบนี้ ประกอบกับปัญหาโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นทุกวัน ที่ดินอุดมสมบูรณ์พร้อมน้ำสะอาดที่หากยากขึ้น การแก้ปัญหาความอดอยากเป็นไปได้ยากอย่างยิ่ง และถ้าเราไม่เปลี่ยนระบบการผลิตอาหาร จำนวนคนอดอยากหิวโหยจะเพิ่มขึ้นอีกเป็นล้านอย่างแน่นอน”