เนื้อหาวันที่ : 2011-06-02 09:20:10 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1147 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 1 มิ.ย. 2554

1. ส่งออกเตรียมเจาะตลาดข้าวไนจีเรียใช้เป็นศูนย์กระจายข้าวไทย
-  รองอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก  เปิดเผยว่า ประเทศไทยต้องการที่จะสร้างความสัมพันธ์ทางการค้ากับไนจีเรียอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นและความความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายธุรกิจของทั้ง 2 ฝ่าย เนื่องจากไทยต้องการที่จะเข้าถึงแหล่งทรัพยากรพลังงาน เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ของไนจีเรีย และประเทศไทยเองมีความยินดีที่จะเข้าไปร่วมลงทุนในธุรกิจด้านพลังงานเพื่อการผลิตก๊าซธรรมชาติรวมถึงการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ในไนจีเรีย ในขณะที่ไนจีเรียก็ต้องการข้าว และอาหารของไทย โดยไนจีเรียเป็นคู่ค้าข้าวอันดับ 1 ของไทยในทวีปแอฟริกา

-  สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกของไทยในเดือนเม.ย. 54 ขยายตัวร้อยละ 24.6 โดยเฉพาะสินค้าในหมวดเกษตรกรรมที่ขยายตัวร้อยละ 43.2 ซึ่งมาจากข้าวเป็นสินค้าหลักที่ขยายตัวร้อยละ 37.03 ซึ่งตลาดหลักยังเป็นประเทศแถบทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะประเทศไนจีเรียซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าข้าวอันดับ 1 ของไทยในทวีปแอฟริกา

โดยไทยส่งออกข้าวไปประเทศไนจีเรียช่วง 4 เดือนแรกของปี 54 มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 363.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 67.02 โดยสินค้าส่งออกสำคัญได้แก่ ข้าว เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่าการส่งออกจะกลับมาขยายตัวได้ดีในช่วงครึ่งปีหลังตามที่คาดการณ์อยู่ในช่วงร้อยละ 13.3 – 15.3 (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 54)

2. ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยเดือนเม.ย. 54 ชะลอจาก "สึนามิ"ถล่มญี่ปุ่น
-  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนเม.ย.54 มีการขยายตัวชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่นซึ่งทำให้การผลิตและการส่งออก ของอุตสาหกรรมยานยนต์หดตัวจากเดือนก่อน  และผลกระทบดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงเดือนพ.ค. ก่อนจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ของปี 54 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนเม.ย.หดตัว ร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการลดลงของกลุ่มยานยนต์และ Hard Disk Driveihที่ร้อยละ 27.8 และ 16.8 ตามลำดับ

-  สศค. วิเคราะห์ว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนเม.ย. 254 บ่งชี้ถึงเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้อุปสงค์ภายในประเทศจะมีสัญญาณชะลอตัวลงหลังจากที่เร่งขึ้นมากในช่วงก่อนหน้าประกอบกับข้อจำกัดด้านการผลิตยานยนต์ที่เลื่อนการผลิตออกไปซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์สึนามิและคาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ดีอีกครั้งในช่วงที่เหลือของปี

อย่างไรก็ตาม การผลิตภาคการเกษตรและการบริการยังคงเติบโตได้ดีต่อเนื่อง โดย ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 33.2  และ 35.2 ตามลำดับ ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะปรับประมาณการเศรษฐกิจและแถลงต่อสาธารณะชนในเดือนมิ.ย. 54 ต่อไป

3. มูดี้ส์ขู่ลดเครดิตตราสารหนี้ญี่ปุ่น
-  มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ ประกาศทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ของญี่ปุ่นซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ Aa2  โดยมีแนวโน้มปรับลดอันดับลงจากความกังวลเกี่ยวกับการใช้นโยบายที่อ่อนแอของรัฐบาลญี่ปุ่นในการรับมือกับเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง  รวมถึงมาตรการลดการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาล

-  สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะออกมาตรการต่างๆ ในการฟื้นฟูประเทศภายหลังจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ  แต่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นก็ยังคงเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลง  โดยข้อมูลล่าสุด อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 1 ปี 54 หดตัวลงร้อยละ -1.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน  รวมถึงการใช้จ่ายบริโภคภายในประเทศในเดือน เม.ย.54 หดตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ที่ร้อยละ -3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังประสบปัญหาด้านฐานะการคลัง  โดยข้อมูลในปี 53  มีการขาดดุลงบประมาณร้อยละ -7.7 ต่อ GDP  และหนี้สาธารณะสูงถึงร้อยละ 197.5 ต่อ GDP  ดังนั้น  ฐานะการคลังของรัฐบาลและการใช้จ่ายบริโภคภายในประเทศที่ยังคงหดตัวถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น  ทั้งนี้   สศค. คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปี 54 จะเติบโตได้ร้อยละ 1.3 ต่อปี (คาดการณ์ ณ มี.ค.54)

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง