เนื้อหาวันที่ : 2011-06-01 11:40:43 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1692 views

วิฑูรย์ เข้มดึงโรงงานเข้าระบบจัดการกากอุตฯเต็มพิกัด

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเรียกถกคณะทำงานฯประเมินผลจัดการกากอุตสาหกรรม เดินหน้าดึงโรงงานเป้าหมายเข้าระบบจัดการกากอุตสาหกรรม ขีดเส้น 30 ส.ค. เข้าระบบ 100%

          ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเรียกถกคณะทำงานฯประเมินผลจัดการกากอุตสาหกรรม เดินหน้าดึงโรงงานเป้าหมายเข้าระบบจัดการกากอุตสาหกรรม ขีดเส้น 30 ส.ค. เข้าระบบ 100% เล็งตั้งศูนย์รวบรวมและขนถ่ายกากอุตสาหกรรม หวังลดต้นทุนขนส่ง

          “วิฑูรย์”  เข้มดึงโรงงานเข้าระบบจัดการกากอุตสาหกรรมเต็มพิกัด  ขีดเส้น 30 สิงหาคมทุกโรงงานต้องเข้าสู่ระบบ100%  เผยตัวเลขโรงงาน 15 ประเภท เข้าระบบเพิ่มขึ้น 45%  ขณะที่โรงงานขนาดมากกว่า 100 แรงม้าเข้าระบบเพิ่มขึ้น 20%  เล็งศึกษาแผนจัดตั้ง “ศูนย์รวบรวมและขนถ่ายกากอุตสาหกรรม” ในพื้นที่ไม่มีโรงงานรับกำจัดกากอุตสาหกรรมตั้งอยู่    เน้นรวบรวมของเสียเป็นระบบและช่วยลดต้นทุนการขนส่ง  กากอุตสาหกรรม

          นายวิฑูรย์  สิมะโชคดี  ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม  กล่าวว่า   จากนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม  ที่มุ่งเน้นการดูแลเรื่องการจัดการกากอุตสาหกรรมให้เข้าระบบอย่างเข้มงวด  พร้อมตรวจสอบตัวเลขที่แท้จริงของปริมาณกากอุตสาหกรรมที่ต้องเข้าระบบ  ซึ่งมีเป้าหมายว่าทุกโรงงานจะต้องเข้าสู่ระบบภายในวันที่ 30 สิงหาคมนี้  

          “กระทรวงอุตสาหกรรมยังคงเดินหน้ากำกับดูแลการดำเนินกิจการของโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด   โดยเร่งดึงโรงงานเข้าสู่ระบบการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ   เพื่อเป็นไปตามแนวทางการเป็นโรงงานสีเขียวอย่างเต็มรูปแบบ  ซึ่งที่ผ่านมานับว่าผู้ประกอบการให้ความร่วมมือและมั่นใจว่าทุกโรงงานจะต้องเข้าสู่ระบบ 100% ในอนาคตอันใกล้นี้ ” นายวิฑูรย์  กล่าว

          ทั้งนี้ คณะทำงานฯ ได้รายงานผลการดำเนินงานในการดึงโรงงานเข้าสู่ระบบการจัดการกากอุตสาหกรรม   พบว่าในส่วนของโรงงานเป้าหมาย 15 ประเภท  ที่อยู่ในเขตพื้นที่ทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม   มีโรงงานอุตสาหกรรม (จำพวก 3)  ที่เข้าสู่ระบบมากกว่า 45% คิดเป็นจำนวนที่เข้าสู่ระบบทั้งหมด 1,246 แห่ง   จากจำนวนโรงงานที่มีอยู่ทั้งหมด  2,717 แห่ง

          ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมที่มีขนาดมากกว่า 100 แรงม้า ที่อยู่ในความดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) มีทั้งหมด 41,214 แห่ง   สามารถเข้าสู่ระบบมากกว่า 20%  คิดเป็นจำนวนโรงงาน 8,041 แห่ง 

          อย่างไรก็ตาม  จากการรายงานปริมาณกากของเสียและจำนวนโรงงานที่เข้าสู่ระบบ ณ เดือนพฤษภาคม  พบว่ามีปริมาณกากอุตสาหกรรมที่เข้าสู่ระบบเพิ่มมากขึ้น  โดยตั้งแต่ต้นปี 2554 จนถึงปัจจุบัน   มีโรงงานประมาณ 15,000 แห่งที่เข้าสู่ระบบ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2553 ที่มีโรงงานเข้าสู่ระบบ 13,436 แห่ง      โดยในปี2554 มีปริมาณของเสียอันตรายกว่า 1 ล้านตัน  และปริมาณของเสียที่ไม่อันตราย 11.6 ล้านตัน     ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ลดลงจากปี 2553 เนื่องจากผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ  ตามแนวทาง 3R  โดยการนำของเสียไปใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าให้มากที่สุด

          นอกจากนี้ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น   อาจจะมีการพิจารณาถึงการปรับแก้กฎหมายให้สามารถจัดตั้ง “ศูนย์รวบรวมและขนถ่ายกากอุตสาหกรรม” โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่มีโรงงานรับกำจัดกากอุตสาหกรรมตั้งอยู่  เพื่อให้เกิดการรวบรวมของเสียอย่างเป็นระบบและสามารถลดต้นทุนการขนส่ง  จากปัจจุบันที่มีระบบการขนส่งผ่านกันหลายบริษัท 

          อย่างไรก็ดี  ในส่วนของความคืบหน้าการติดตั้งระบบ GPS กับรถยนต์ขนส่งกากของเสียอุตสาหกรรม  ขณะนี้ได้มีการติดตั้งกับรถยนต์ฯดังกล่าวจำนวน 40 คัน  และติดตั้ง Server อีกจำนวน 1 ชุด  ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม เขตราชเทวี กรุงเทพฯ  เพื่อใช้เป็นเครื่องสำรองหรือเชื่อมโยงกับระบบเดิมที่ศูนย์ชลบุรี เพื่อป้องกันการลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรม  โดยคาดว่าจะมีการขยายการติดตั้งเครื่องมือดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีกภายในปีนี้

          สำหรับ โรงงาน 15ประเภท  ประกอบด้วย 1.โรงงานหมัก ชำแหละ อบ ป่นหรือบด ฟอก ขัดและแต่ง แต่งสำเร็จ อัดให้เป็นลายนูน 2. การทำเยื่อจากไม้ หรือวัสดุอื่น 3. การทำกระดาษ กระดาษแข็ง หรือกระดาษที่ใช้ในการก่อสร้างชนิดที่ทำจากเส้นใย 4. การทำเคมีภัณฑ์ สารเคมี หรือวัสดุเคมี ซึ่งมิใช่ปุ๋ย 5. การทำปุ๋ยหรือสารป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชหรือสัตว์ 6. การเก็บรักษาหรือแบ่งบรรจุปุ๋ย หรือสารป้องกันการกำจัดศัตรูพืชหรือสัตว์ 7. การทำสีสำหรับใช้ทา พ่น หรือเคลือบ

8. การทำน้ำมันชักเงา น้ำมันผสมสีหรือน้ำยาล้างสี 9. การทำเชลแล็ก แล็กเกอร์หรือผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ยาหรืออุด 10. การทำหมึกหรือคาร์บอนดำ 11. การทำผลิตภัณฑ์สำหรับใช้เป็นฉนวนหุ้มหม้อน้ำหรือกันความร้อน 12. โรงงานกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม 13. การชุบเคลือบผิว 14. โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม  15. การนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้วหรือของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบ

ที่มา : กระทรวงอุตสาหกรรม