เนื้อหาวันที่ : 2011-05-31 14:00:36 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3040 views

ราชบุรีโฮลดิ้ง–ปตท–นวนคร จับมือสร้างโรงไฟฟ้า 122 เมกะวัตต์

ราชบุรีโฮลดิ้ง–ปตท–นวนคร ผนึกกำลังร่วมทุนสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 122 เมกะวัตต์ มูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท กำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ปี 59

          ราชบุรีโฮลดิ้ง–ปตท–นวนคร ผนึกกำลังร่วมทุนสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 122 เมกะวัตต์ มูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท กำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ปี 59

          บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (“ราชบุรีโฮลดิ้ง”) บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บรรลุข้อตกลงการร่วมทุนในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก ประเภทโคเจนเนอเรชั่น ขนาดกำลังผลิตพลังงานไฟฟ้า 122 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตไอน้ำ 15 ตันต่อชั่วโมง ซึ่งมีบริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด เป็นผู้พัฒนาโครงการ

โดยทั้งสามฝ่ายได้ลงนามในสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้น เพื่อร่วมลงทุนในบริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ราชบุรีโฮลดิ้ง จะถือหุ้นในสัดส่วน 40% บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นฝ่ายละ 30% โครงการนี้ตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี และมีกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปี 2559

          นายนพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง กล่าวว่า “ความสำเร็จของการลงทุนครั้งนี้ เป็นไปตามเป้าหมายการลงทุนของบริษัท และไม่เพียงทำให้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นจากผลตอบแทนการลงทุนในระดับที่ดีแล้ว แต่ยังสะท้อนถึงความร่วมมือขององค์กรชั้นนำของประเทศในฐานะพันธมิตรทางธุรกิจ

ซึ่งจะผนึกความแข็งแกร่งและผสานความเชี่ยวชาญเข้ามาพัฒนาโครงการนี้ให้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้และเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม เพราะโครงการนี้จะ ช่วยเสริมให้ระบบไฟฟ้าของประเทศมีความมั่นคงมากขึ้นในช่วงที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศสูงสุด อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพราะความร้อนที่เหลือจากการผลิตไฟฟ้าสามารถนำมาผลิตเป็นไอน้ำจำหน่ายแก่ผู้ประกอบการในเขตนิคมอุตสาหกรรมด้วย”

          นายวิชัย พรกีรติวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บมจ. ปตท. กล่าวว่า “โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก ณ นิคมอุตสาหกรรมนวนคร แห่งนี้ เป็นโครงการความร่วมมือที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ สอดรับกับนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการป้องกันผลกระทบต่อแผนกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง และเป็นการขยายประโยชน์การใช้ก๊าซธรรมชาติในลักษณะโคเจนเนอเรชั่น ซึ่งเป็นระบบที่ใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ประเทศประหยัดค่าพลังงานโดยรวมแล้ว ยังจะช่วยประหยัดเงินตราจากการนำเข้าไฟฟ้าและเชื้อเพลิงสิ้นเปลืองจากต่างประเทศอีกด้วย”

          นายนิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บมจ.นวนคร กล่าวว่า “บริษัทมีความภาคภูมิใจอย่างมากที่ได้รับความไว้วางใจจากบริษัทชั้นนำของประเทศทั้ง ราชบุรี และ ปตท. ในการเข้าร่วมทุนในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กครั้งนี้ ในการร่วมลงทุนครั้งนี้บริษัทมองว่าเป็นการเพิ่มศักยภาพในการให้บริการในระบบสาธารณูปโภคให้ภายในเขตอุตสาหกรรมนวนครปทุมธานี ซึ่งเป็นผลดีต่อลูกค้าในเขตอุตสาหกรรมนวนครอย่างมาก นอกเหนือจากเป็นการลงทุนที่ส่งผลตอบแทนที่คุ้มค่าและสม่ำเสมอในระยะยาวแก่บริษัทต่อไป”

          โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก ประเภทโคเจนเนอเรชั่น ของบริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด ได้รับการพิจารณาข้อเสนอการขายไฟฟ้าจาก กฟผ. ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ภายใต้กรอบปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจำนวน 2,000 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2553 โครงการนี้ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระยะเวลา 25 ปี โดยกระแสไฟฟ้าปริมาณ 90 เมกะวัตต์จะจำหน่ายให้แก่ กฟผ. ส่วนไฟฟ้าที่เหลือและไอน้ำจะขายให้กับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร

          สำหรับบริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด มีทุนจดทะเบียน 1,450 ล้านบาทจะเป็นผู้พัฒนา ก่อสร้าง บริหาร เดินเครื่องและบำรุงรักษาโครงการดังกล่าวนี้ซึ่งมีมูลค่าโครงการประมาณ 5,000 ล้านบาท และกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปี 2559